มจร จัดประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ ครั้งใหญ่ (ร่าง) แผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ระยะที่ 13

มจร จัดประชาพิจารณ์ครั้งใหญ่ทั้งปท. (ร่าง) แผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ระยะที่ 13

พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯระยะที่ 13 เผยว่า ในวันที่ 7-10 มีนาคมนี้ คณะทำงานยกร่างแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กำหนดจัดประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ระยะที่ 13 ทั่วประเทศผ่านระบบ ซูม ออนไลน์ โดยกำหนดดังนี้

7 มี.ค. มจร โซนภาคใต้

8 มี.ค. มจร โซนภาคเหนือ

9 มี.ค. มจร โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Advertisement

10 มี.ค.มจร โซนภาคกลาง

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการ จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ระยะที่ 13 ตามพันธกิจ ยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งก็เป็นไปตามการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า คณะทำงาน  ได้ดำเนินการระดมความคิดภายใต้หลักการ  engaged Buddhist university  ประกอบด้วย 1. บริการวิชาการทุกรูปแบบ สร้างหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว เหมาะแก่การเรียนรู้แต่ละวัยจากประชาคม 2. สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจิตใจและสังคม 3. สร้างสาธารณประโยชน์ อยู่ดีมีสุขรับผิดชอบต่อสังคม และรวมทั้งแนวคิด 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทยเป็นองค์ประกอบในการจัดทำแผนในครั้งนี้

Advertisement

ในการประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการระดมความคิดเห็น จาก ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

ครั้งที่ 1 ส่วนงานภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2564 ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีส่วนงานที่เข้าร่วมจำนวน 9 ส่วนงาน ได้แก่ วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาเขตแพร่ วิทยาเขตพะเยา วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน  วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย วิทยาลัยสงฆ์ลำปาง วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง

ครั้งที่ 2 ส่วนงาน ส่วนกลาง ภาคกลาง ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม และวันที่ 1 เมษายน 2564  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีส่วนงานที่เข้าร่วมจำนวน 15 ส่วนงาน ได้แก่ ส่วนกลาง วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตนครสวรรค์ วิทยาลัยสงฆ์พุทธโสธร วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี  วิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี วิทยาลัยสงฆ์สุราษฏร์ธานี วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ วิทยาลัยสงฆ์ระยอง วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร วิทยาลัยสงฆ์เพชรบุรี วิทยาลัยสงฆ์ชลบุรี

ครั้งที่ 3 ส่วนงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วิทยาเขตขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2564 โดยมีส่วนงานที่เข้าร่วมจำนวน 12 ส่วนงาน ได้แก่ วิทยาเขตหนองคาย วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตนครราชสีมา วิทยาเขตอุบลราชธานี วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาลัยสงฆ์เลย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ วิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิ วิทยาลัยร้อยเอ็ด และวิทยาลัยสงฆ์มหาสารคาม

หลังจากนั้นคณะทำงานฯ ได้ประชุมเพื่อทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง เมื่อได้ร่างแผนพัฒนาแล้ว ได้นำเสนอผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และกลยุทธ์  เพื่อให้สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้  จำนวนทั้งสิ้น 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 17 เป้าประสงค์ 32 ตัวชี้วัด 29 กลยุทธ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

วิสัยทัศน์

“มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่สร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม”

Buddhist university with Buddhist innovation for mental and social development

ประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ประเด็น

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพและคุณธรรม ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ 16 ตัวชี้วัด 11 กลยุทธ์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนางานวิจัยหรือสร้างพุทธนวัตกรรมให้มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย 4เป้าประสงค์ 9 ตัวชี้วัด 7 กลยุทธ์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและปรัชญาเพื่อสร้างชุมชนและสังคมสันติสุข ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 4 ตัวชี้วัด 4 กลยุทธ์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 อนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมและพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 2 ตัวชี้วัด 2 กลยุทธ์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรเชิงพุทธบูรณาการ  ประกอบด้วย 2  เป้าประสงค์ 5 ตัวชี้วัด 5 กลยุทธ์

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวในตอนท้ายว่า การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เป็นการประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนพัฒนาระยะที่ 23 เพื่อให้เกิดความรอบคอบ สมบูรณ์และให้ทุกองคาพยพมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติและบรรลุผลได้อย่างแท้จริง และแผนพัฒนามหาวิทยาลัยนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมทำ เข้าใจและตรงกับบริบทที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เขียนไว้สวยงาม เลิศหรูแต่ยากต่อการปฎิบัติ ไม่บรรลุผล จากนี้ไปก็จะนำแผนพัฒนาฯดังกล่าวเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อขออนุมัติและประกาศใช้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image