‘กรมศิลป์’ ประกาศยกย่อง ‘มหาชาติคำหลวง’ เป็นวรรณคดีแห่งชาติ

‘กรมศิลป์’ ประกาศยกย่อง ‘มหาชาติคำหลวง’ เป็นวรรณคดีแห่งชาติ

 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ห้องดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวการประกาศยกย่องวรรณคดีเรื่อง มหาชาติคำหลวง เป็นวรรณคดีแห่งชาติ และการสัมมนาทางวิชาการเรื่องวรรณกรรมเรื่องมหาชาติในวัฒนธรรมไทย” ว่า คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือวรรณคดีที่มีคุณค่าโดดเด่น ทั้งความงดงามทางวรรณศิลป์ รวมถึงแนวคิดด้านสังคม จริยธรรม จารีตประเพณีและวัฒนธรรม อันทรงอิทธิพลต่อสังคมไทย เพื่อประกาศยกย่องให้เป็นวรรณคดีแห่งชาติซึ่งพุทธศักราช 2553 ได้ประกาศยกย่องวรรณคดีเรื่องไตรภูมิกถาให้เป็นยอดของวรรณคดีสมัยสุโขทัย พุทธศักราช 2558  ประกาศยกย่องพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นวรรณคดีแห่งชาติ และพุทธศักราช 2565  นี้ คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ประกาศยกย่องวรรณคดีเรื่องมหาชาติคำหลวงเป็นวรรณคดีแห่งชาติ

นายกิตติพันธ์  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มหาชาติคำหลว  เป็นวรรณคดีที่เล่าเรื่องราวของพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญบารมีครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตร่วมกันแปลแต่งขึ้นจากเรื่องเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นภาษาบาลีในพระไตรปิฎกเป็นคำประพันธ์ภาษาไทยเมื่อพุทธศักราช 2025  แบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 กัณฑ์ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่าย โคลง ฉันท์ และกาพย์อันไพเราะงดงามยิ่ง มหาชาติคำหลวงเป็นต้นแบบการแปลแต่งวรรณคดีพระพุทธศาสนาเรื่องอื่น และเป็นต้นแบบการแต่งคำประพันธ์ในสมัยหลัง จึงเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญที่ทรงคุณค่าในด้านวรรณศิลป์ ทั้งยังให้ความรู้เกี่ยวกับสังคมและประเพณีวัฒนธรรมไทย รวมถึงคติความเชื่อโดยเฉพาะเรื่องการให้ทาน 

ด้วยคุณค่าความสำคัญของวรรณคดีเรื่องมหาชาติ กรมศิลปากร ในนามคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ได้กำหนดจัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วรรณกรรมเรื่องมหาชาติในวัฒนธรรมไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องมหาชาติคำหลวงและวรรณคดีเรื่องมหาชาติสำนวนต่าง ๆ ที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ตลอดจนคุณค่าด้านวัฒนธรรม ประเพณี และคติความเชื่อ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.30 – 17.00 . ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ รับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง facebook fanpage กรมศิลปากร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ทางอีเมล [email protected] หรือโทร. 0 2164 2501 ต่อ 6076

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image