สศร.เปิดหอศิลป์ร่วมสมัย โชว์ผลงานศิลปินทุกแขนง

สศร.เปิดหอศิลป์ร่วมสมัยโชว์ผลงานศิลปินทุกแขนง รุกเผยแพร่องค์ความรู้ผ้าบาติกแดนใต้
นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  เปิดเผยว่า  ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ได้มีนโยบาย เปิดพื้นที่หอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน เพื่อใช้การจัดแสดงนิทรรศการ การสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน รวมถึงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ  เต็ม 100% เพื่อเผยแพร่ผลงาน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างรอบด้าน โดยจะมีนิทรรศการ ที่น่าสนใจ อาทิ  “ศิลปะเพื่อสายน้ำ” ผลงานสร้างสรรค์จากการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตริมน้ำ ในกิจกรรมล่องเรือสำรวจคลองย่านคลองฝั่งธน เช่น คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) บางกอกน้อย คลองชักพระ คลองด่าน คลองบางขุนเทียน คลองมอญ และแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนวัดและชุมชน ต่าง ๆ เช่น ชุมชนกุฎีขาว มัสยิดบางหลวง วัดอินทารามวรวิหาร วัดจันทารามวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร ฯลฯ โดย กลุ่มศิลปินกลุ่มจิตรกรไทย จำนวน 40 คน ซึ่งได้สืบสานเจตนารมณ์ของโครงการ “ศิลปะเพื่อสายน้ำ” เพื่อให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าความงามของวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมไทย และตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่โลกกำลังเผชิญดังเช่น แนวทางที่ท่านศ.เกียรติคุณ วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับ และโครงการ ตาวิเศษ ได้ริเริ่มไว้   กำหนดจัดระหว่างวันที่ 3 – 27 ก.ค.  เวลา 10.00 น.-19.00น.
นายโกวิท กล่าวอีกว่า ส่วนอีกงานเป็นนิทรรศการเดี่ยว “SPIRITUAL ETERNITY” โดย นายฐากร ถาวรโชติวงศ์ ภาควิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นการแสดงผลงานสร้างสรรค์จากการดำเนิน โครงการพัฒนามรดก ภูมิปัญญาผ้าบาติกแดนใต้ สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายร่วมสมัย  จัดขึ้น  ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 16 ก.ค.   ซึ่งเป็น การแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผ้าบาติก  มรดกภูมิปัญญาแดนใต้  โดยเผยแพร่การทำงานวิจัยเรื่องกระบวนผลิต หรือเทคนิคการทำผ้าบาติก โดยการประยุกต์ใช้วัสดุที่มีอยู่รอบๆ ตัวมาผลิต  เน้นการเรียนรู้กระบวนการผลิต เพื่อนำไปต่อยอดเรื่องการใช้สี และการพัฒนาลวดลายผ้าได้อย่างงดงาม
นายฐากร กล่าวว่า ผลงานวิจัย และงานด้านสิ่งทอที่มีอยู่ทั้งหมด ได้นำมาจัดแสดง  มีทั้งผลงานที่ไปพัฒนาให้ผู้ประกอบการ ผลงานเชิงทดลอง โมเดลที่ทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน และต่อยอดวัสดุ รวมกว่า 40 ชิ้น ซึ่งผู้ประกอบการผ้าบาติกภาคใต้ในประเทศไทย สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาต่อยอดได้อย่างครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิต  อย่างที่เราทราบกันดีว่า การทำผ้าบาติกอาศัยการวาดเทียนเป็นหลัก และในยุคปัจจุบันมีเรื่องของ Sustainable นิเวศวิทยาและความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ผู้ประกอบการอยู่กับหม้อต้มเทียนนานๆ ก็จะเป็นห่วงเรื่องของสุขภาพ และในช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นสูง ก็จะไม่สามารถเขียนลวดลายที่มีความละเอียดได้มากนัก เพราะเทียนจะเย็นตัวเร็วกว่าปกติ ตนจึงหาเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ประกอบการพึ่งพาเทียนน้อยลง แต่ยังคงทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากการเพ้นท์และการย้อม ตัวอย่างเช่น เทคนิคการเพ้นท์ไล่สี โดยการเพ้นท์สีให้ทั่วทั้งผืนผ้าเสียก่อน แล้วนำน้ำแข็งไปวางในบางจุดของผ้า เมื่อน้ำแข็งละลายก็จะเหมือนการ (Osmosis) ให้น้ำเป็นตัวทำละลายสีผ่านใยผ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคการโรยสีย้อมลงบนผ้าแห้ง แล้วฉีด Foggy ลงบนผ้าที่โรยสี ซึ่งสามารถควบคุมความชื้นของผ้าในแต่ละจุดได้ พอเราได้จุดสีที่สวยแล้วก็หยุด เราก็จะได้ พื้นผิว (Texture) ที่เหมือนคลื่นน้ำ
ส่วนเทคนิคที่ได้รับความสนใจ คือ การวาดเส้นเทียนน้อยลงแต่เน้น Texture สีมากขึ้น โดยการวาดเส้นเทียนใหญ่ๆ ลักษณะเป็นเส้นตรงกราฟิกธรรมดา แต่ใช้เทคนิคโรยผงสีและเพ้นท์น้ำแข็งลงไปในช่องเทียน และเทคนิคยอดนิยมได้แก่ การปั๊มแม่พิมพ์ทองแดงลงบนผ้าบาติก ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละแห่งจะมีแม่พิมพ์แบบนี้อยู่เยอะมาก ตามออเดอร์  จึงคัดเลือกลวดลายที่ร่วมสมัย นำมาจัดวางเรียงแบบลวดลายโดยเน้นเรื่องของการะสะท้อนหน้าหลัง เกิดเป็นองค์ประกอบของลวดลายร่วมสมัย ใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ได้นำเสนอความสำคัญ 2 ประการหลักได้แก่ ประการที่หนึ่ง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานจากการวิจัยเพื่อพัฒนามรดกผ้าบาติกแดนใต้ของประเทศไทย ด้านกระบวนการผลิต และประการที่สอง การผลิตชิ้นงานแบบส่วนตัว ที่ได้เกิดจากการกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ และนำมาจัดแสดงให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่มีความสนใจเรื่องสิ่งทอและแฟชั่นได้ชม เพื่อเป็นความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอด ทั้งทางด้านการศึกษาและการพัฒนาไปสู่อาชีพที่ยั่งยืน
“ทั้งนี้เนื่องสถานการณ์ต่างๆ เริ่มจะคลี่คลาย จึงอยากเชิญชวนให้นักศึกษาและผู้ประกอบการที่สนใจมาเยี่ยมชมนิทรรศการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาต่อไป เพราะยังมีผู้ประกอบการอีกหลายๆ ศาสตร์ที่ต้องพึ่งพานักออกแบบยุคใหม่ๆ ที่สำเร็จการศึกษาและสนใจการทำงานด้านสิ่งทอและผ้าบาติก มาช่วยกันสร้างสรรค์กระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตอบโจทย์ความต้องการด้านการตลาดในอนาคต” นายฐากร กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image