วธ.จัดนิทรรศการ ‘โขน’ เฉลิมพระเกียรติ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)  ร่วมกับ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “โขน”ฟื้นศาสตร์ ฟื้นศิลป์ สืบสาน ไว้ในแผ่นดิน ด้วยพระบารมี ที่  หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งมุ่งเผยแพร่คุณค่าและความสำคัญของโขนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงทำนุบำรุงโขน ทรงฟื้นฟู สืบศาสตร์ศิลป์แผ่นดินหลายแขนง ที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงโขน ซึ่งไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฎศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้นศาสตร์และศิลป์ งานฝีมือ ช่างหัตถศิลป์ไทยหลายสาขา รวมถึงฝีมืออันประณีตของงานช่างทุกแขนง เพื่อเชิดชููศิลปะการแสดงชั้นสูงแขนงนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผน

รัฐมนตรีว่าการวธ. กล่าวต่อว่า  สำหรับการจัดนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1  ด้านหน้าทางเข้าต้อนรับด้วยฉาก หนุมานอมพลับพลา ฉากสำคัญของการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน สะกดทัพ ซึ่งการแสดงโขนในทุกตอนได้รับการตอบรับและชื่นชมเป็นอย่างมาก จากพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงฟื้นฟูและ ทำนุบำรุงโขนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเนื้อหานิทรรศได้นำเสนอเรื่องราวกว่าจะเป็นโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และการจัดแสดงทั้งหมด 9 ตอน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ 2  เป็นการจำลองห้องโถงให้เสมือนฉากการแสดงโขนบนเวที ตอน ยกรบ เป็นการปะทะทัพ ระหว่างฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง  นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ โขน ไม่ใช่เพียงการแสดงเท่านั้น แต่คือแหล่งสร้างช่างฝีมือทางศิลปะ ได้แก่ สร้างศิลปิน สร้างช่างฝีมือ ด้านเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หัวโขน การจัดการบนเวทีการแสดง การพากษ์เจรจา การออกแบบ ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก แสง สี เสียง ที่สำคัญ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังได้สร้างแรงบันดาลใจต่อเด็กและเยาวชน ให้เป็นส่วนสำคัญในการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป

“ ส่วนที่ 3 การสาธิตงานช่าง และงานฝีมือของศิลปะทุกแขนง อาทิ สาธิตการจัดทำเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ งานปัก งานทอ รวมทั้ง สาธิตการจัดทำหัวโขน จัดแสดงงานจิตรกรรมและประติมากรรม ส่วนที่ 4 เป็นการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในตอนสำคัญ เช่น ตอนนางลอย ตอนหนุมาน รบอังกาศตะไล ตอนทศกัณฐ์ลงสวน ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา โดยนักแสดงจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และเยาวชนที่ได้แรงบัลดาลใจจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ผ่านการฝึกหัดจนได้มาเป็นนักแสดงบนเวทีโขน และ ทุกวันจะเปิดให้เข้าชมบันทึกการแสดงโขนตอนต่างๆ ที่ได้จัดแสดงตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ในเวลา 19.00-20.00 น.”นายอิทธิพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image