ถกสนั่น ตุ๊เจ้าโพสต์คลิปยิงพลุใส่ ‘กู่คำ’ เวียงกุมกาม อ้างบูชาพระธาตุ จี้กรมศิลป์แอ๊กชั่น

ถกสนั่น ตุ๊เจ้าโพสต์คลิปยิงพลุใส่ ‘กู่คำ’ เวียงกุมกาม อ้างบูชาพระธาตุ จี้กรมศิลป์แอ๊กชั่น

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีภิกษุรูปหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอสั้นผ่านช่องทางเฟซบุ๊กโดยเป็นภาพการจุดพลุไฟยิงตรงไปยังเจดีย์โบราณภายในวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือวัดกู่คำ เวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่ามีจุดประสงค์เพื่อบูชาพระธาตุ โดยในช่วงแรกมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าไปพิมพ์ข้อความร่วมอนุโมทนาบุญ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา มีผู้เข้าไปตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เนื่องจากสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายอย่างมาก พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา ภิกษุรูปเดียวกัน โพสต์ข้อความชี้แจงว่า ขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น มี เป็นกรณีศึกษาเรื่องบอกไฟพุกับพระธาตุ บอกไฟพุนั้นไม่ได้จุดบนพระธาตุแต่จุดด้านหลังพระธาตุคนละที่กันไม่มีอะไรเสียหาย ช่างติดบอกไฟนั้นทำด้วยความระมัดระวัง เสียงที่ดังนั้นคือบอกไฟพลุที่ดังมาจากด้านหลังพระธาตุไม่ใช่บนพระธาตุ ขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็นที่เป็นห่วงหลากหลายมุมมอง เคารพทุกๆ ความคิดเห็น สาธุ

คลิกชมคลิป

Advertisement

ทั้งนี้ โบราณสถานดังกล่าว ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 41 วันที่ 14 มีนาคม 2523 (วัดเจดีย์เหลี่ยม) ข้อมูลจาก ‘ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย’ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ระบุว่า วัดเจดีย์เหลี่ยม มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดกู่คำ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่พญามังรายสถาปนาเมืองเวียงกุมกาม เมื่อ พ.ศ.1831 ภายหลังในสมัยช่วงรัชกาลที่ 5 มีการบูรณะครั้งใหญ่โดยหลวงโยนการวิจิตร ซึ่งเป็นคหบดีชาวมอญ สัญชาติพม่า ที่มาทำการค้าขายในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบศิลปกรรมบนเจดีย์มีลักษณะเป็นแบบศิลปะพม่า

กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและเสริมความมั่นคงให้กับเจดีย์ประธาน รวมถึงการขุดค้นศึกษาชั้นดินทางโบราณคดี ในปี พ.ศ.2539-2540

Advertisement

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “…เจ้ามังรายจึงหื้อไปเอาดินหนองต่างมาก่อเจดีย์กู่คำวันนั้นแล…”
2.ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ บันทึกว่า “…ต่อจากได้ชัยชนะพระเจ้าญีบาแล้ว พระเจ้ามังรายได้สร้างนครกุมกาม แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์กู่คำขึ้นในนครนั้น เรียงรายไปด้วยพระพุทธรูป 60 องค์…”
3.พงศาวดารโยนก บันทึกว่า “…ลุจุลศักราช 650 (พ.ศ.1831) ปีชวด สัมฤทธิศก เจ้าเมงรายให้เอาดินที่ขุดต่างหนองมาต่างมาทำอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม…”
4.โคลงนิราศหริภุญชัย ปรากฏในบทที่ 45 ระบุถึงพญามังรายทรงสร้างกู่คำเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์

นอกจากนี้ จารึกวัดศรีอุโมงค์คำ จ.ศ.885 (พ.ศ.2066) ยังระบุว่ากู่คำเป็นที่บรรจุพระธาตุ

ทั้งนี้ เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูน เฉพาะส่วนฐานมีการก่อเสริมด้วยศิลา ซึ่งเป็นรูปทรงที่ถ่ายแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จ.ลำพูน

ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วยกเก็จ ตอนกลางเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสต่อขึ้นไปเป็นชั้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น

เรือนธาตุแต่ละด้านประดับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 องค์ ดังนั้นเรือนธาตุชั้นหนึ่งจะมีพระพุทธรูป 12 องค์ รวม 5 ชั้นมีพระพุทธรูปทั้งหมด 60 องค์ ตกแต่งซุ้มจระนำด้วยลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ทั้งนี้ ซุ้มจระนำในชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ตกแต่งกรอบซุ้มด้วยพญานาคเคียวกัน ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายบัวกลุ่มซ้อนกัน 2 ชั้น รองรับปลียอดและฉัตร

บริเวณมุมเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยเจดีย์จำลองประจำมุม สำหรับมุมของฐานเขียงตอนล่างประดับด้วยสิงห์ปูนปั้นทั้ง 4 มุม และในตอนกลางแต่ละด้านเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งในปางต่างๆ

ซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง และทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

รอบองค์เจดีย์มีลานประทักษิณ และกำแพงแก้วที่มีทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ลักษณะสิงห์ประจำมุมและพระพุทธรูปที่เจดีย์เหลี่ยมนี้ เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 25 อันเป็นงานบูรณะในสมัยหลวงโยนการวิจิตร

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นศึกษาชั้นดินทางโบราณคดีบริเวณฐานเจดีย์ประธาน ได้แก่ หม้อบรรจุกระดูก ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาศรีสัชนาลัย ภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนเขียนรูปทิวทัศน์ รูปบุคคล เขียนสีแดงเคลือบ และโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ตะปูจีน ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบพระพักตร์พระพุทธรูปแบบศิลปะหริภุญชัย และลวดลายปูนปั้นแบบล้านนา ซึ่งคงเป็นงานประดับซุ้มจระนำเดิมก่อนการบูรณะ กำหนดอายุลวดลายปูนปั้นราวพุทธศตวรรษที่ 21

โบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ เศษจารึกหินทราย ซึ่งพบบริเวณลานประทักษิณ (เป็นรูปบบอักษรไทยแบบแรกที่พบในล้านนา) สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุระหว่าง พ.ศ.1835-1900

ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่า วัดเจดีย์เหลี่ยมสร้างโดยพญามังรายเมื่อ พ.ศ.1831 (ราวพุทธศตวรรษที่ 19) และได้รับการบูรณะเรื่อยมา แม้ปัจจุบันศิลปกรรมที่ประดับเจดีย์เหลี่ยมจะเป็นแบบศิลปะพม่าทั้งหมด เนื่องจากการบูรณะในสมัยหลวงโยนการวิจิตร แต่โครงสร้างหลักของเจดีย์ก็ยังเป็นรูปแบบศิลปะหริภุญไชยแบบวัดกู่กุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image