วธ.ชวนเที่ยว พช.พระนคร ยามค่ำคืน ‘นบพระ ไหว้(เทพ)เจ้า’ รับปีใหม่
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร จัดกิจกรรม “นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า” เนื่องในเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 เวลา 17.00-18.00 น. วันละ 1 รอบ รอบละ 40-50 คน ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมในวันงาน (เวลา 16.30 น.) ณ ศาลาลงสรง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นายพนมบุตรกล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางกิจกรรมนำชมในครั้งนี้ แบ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.เทพเจ้ากับพระพุทธผู้ครองเรือนชะตามนุษย์ และ 2.สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกปักรักษา ดังนี้
1.ผู้ครองเรือนชะตามนุษย์ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ได้แก่ นพเคราะห์ทั้ง 9 (อุปสรรค)
ผู้ให้คุณและโทษแก่ผู้เกิดในวันนั้นๆ โดยมีพระคเณศเป็นเจ้าแห่งอุปสรรคทั้งหลาย นพเคราะห์เหล่านี้เองที่เป็นต้นแบบให้กับ รูปแม่ซื้อ ที่แขวนไว้เหนือเปลเด็กเกิดใหม่ โดยนำภาพสัตว์เทพพาหนะของแต่ละองค์มาแทนศีรษะ แม่ซื้อในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคัดเลือกลักษณะปางหรือมุทราตามที่ปรากฏใน พุทธประวัติของพระบรมศาสดา จำนวน 40 ปาง มาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงปรากฏการสร้างพระพุทธรูปแทนนพเคราะห์ประจำวันเกิด ดังปรากฏในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่อัญเชิญมาให้สักการะในปีใหม่นี้
2.สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกปักรักษา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย พระชัยหลังช้าง ผู้ปกปักรักษากองทัพในการสงคราม พระพุทธรูปแกะสลักจากนอระมาด ของทนสิทธ์ผู้ปกปักรักษาบ้านเรือนให้ร่มเย็น รอดพ้นจากอัคคีภัย สัตตมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของครูโขนละคร ผู้ปัดเสนียดจัญไร พระภูมิเจ้าที่ ผู้ปกปักรักษาบ้านเรือน ไร่นา และยุ้งฉาง และเจ้าพ่อหอแก้ว ศาลพระภูมิประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“เส้นทางนำชมเรียงตามลำดับทักษิณาวรรต ได้แก่ 1.พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ 2.พระชัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระแกะสลักจากนอระมาด ณ พระตำหนักแดง 3.บัตรนพเคราะห์และแม่ซื้อ ณ พระตำหนักแดง 4.พระคเณศและสัตตมงคล ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข 5.พระภูมิเจ้าที่ ณ มุขเด็จ 6.พระชัยเมืองนครราชสีมา ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข 7.เจ้าพ่อหอแก้ว ณ ศาลพระภูมิประจำวังหน้า” นายพนมบุตรกล่าว