วงเสวนาเผย หลากชาติพันธุ์ร่วมสร้าง”กรุงรัตนโกสินทร์” ไม่ใช่แค่คนไทย

เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 25 เมษายน ที่โรงละครวังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถนนราชินี กรุงเทพฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเสวนาหัวข้อ “มหานครแห่งความหลากหลาย :ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาติพันธุ์ในกรุงรัตนโกสินทร์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

นายอภิลักษณ์ เกษมผูลกูล ผอ.ศูนย์สยามทรรศน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้น ที่มีส่วนในการสร้างกรุง แต่มีกลุ่มคนอืนๆร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร จีน แขก และอื่นๆอีกมากกมาย อยู่ร่วมกันตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นที่มาของหัวข้อการเสวนาครั้งนี้

นายองค์ บรรจุน คนไทยเชื้อสายมอญจากสมุทรปราการ เจ้าของรางวัลนายอินทร์อวอร์ดจากเรื่องต้นทางมะละแหม่ง กล่าวในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ,ทวาย และไทใหญ่ ว่า กลุ่มมอญเก่าสุด น่าจะอยู่เขตธนบุรี เช่นชุมชนในย่านวัดจันทาราม วัดอินทาราม วัดราชคฤห์ และวัดประดิษฐาราม คาดว่าอพยพมตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา รองลงมาคือเขตพระนครและบางกอกน้อยตามลำดับ ส่วนมอญเขตบางขุนเทียน เป็นชุมชนมอญสำคัญ ตั้งเป็นเอกเทศ แพร่มาจากสมุทรสาคร มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสูง เช่น ชุมชนมอญบางกระดี่ โดยสรุปแล้วมอฐในรัตนโกสินทร์มีชุมชนมอญ 31 ชุมชน พื้นที่ซึ่งมีความเป็นมอญอย่างเข้มข้นคือ มอญแถบบางขุนเทียน ซึ่งยังพูดภาษามอญกันอยู่ อย่างไรก็ตามในภาษาไทยเอง ก็มีภาษามอญปะปนอยู่เกือบพันคำ

นายองค์กล่าวต่อว่าสำหรับทวาย เป็นชนชาติเก่าแก่ที่อยู่ในเมืองทวายของพม่า มีความใกล้ชิดกับมอญ โดยเป็นที่รู้จักของไทยมานานแล้ว โดยแทรกตัวอยู่ผ่านวัฒนธรรมประเพณี ปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ว่า “นางทวายอายเอียงเสียงแปร่งแปร่ง” นอกจากนี้ยังมีอาหารคือ “ยำทวาย”และการละเล่นกระอั้วแทงเสือ ชุมชนทวายในกรุงเทพ มีอยู่ที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย อพยพมาสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกบ้านทวาย ปัจจุบันเป็น ตรอกทวาย อีกแห่งหนึ่งคือที่เขตยานนาวา ส่วนกลุ่มไทใหญ่ บ้างก็เรียกว่า ฉาน ชาน เงี้ยว มีอยู่ที่เขตยานนาวา และเขตลาดพร้าว รวมถึงเขตบางขุนเทียน ซึ่งที่บางขุนเทียนนี้เป็นชุ่มชนทีเกิดจากแรงงานที่เข้ามาทำงานเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

Advertisement

นายธีรนันท์ ช่วงพิชิต ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ชาวคลองบางหลวง กล่าวว่า ความหลากหลายทางชาติพันธฺุ์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีแค่มอญ แขก จีน งานเสวนาครั้งนี้เลยดูเหมือนฟันหลอ แต่ถ้าจะให้ครบทุกชาติพันธุ์ พูดกันวันเดียวไม่พอ แขกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม กับไม่ใช่อิสลาม ทั้งนี้ ตนอยากขอให้อย่าลบคำว่าแขก มิฉะนั้นเป็นการลบประวัติศาสตร์ 400 ปี เช่น แขกมะหะหมัด สมัยอยุธยา แขกขาว แขกแพ แขกอินเดีย แล้วแต่ว่าจะเรียกด้วยอาชีพ หรืออย่างอื่น เป็นการเรียกด้วยให้ความเกียรติ ชื่อเพลงไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าก็ แขก มีจำนวนมาก เช่น แขกเชิญเจ้า เป็นต้น

“ขอให้ลบคำว่าไทยแท้ออกไป ถามว่าเราเป็นใคร พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเป็นใคร ใครบอกเป็นไทยแท้ ให้ถ่ายรูปไว้ทันที การข้ามวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ผมเป็นแขกเปอร์เชีย คนถามว่าทำไมดำอย่างนี้ นั่นเพราะบรรพบุรุษผมไปผสมกับชาวจาม การแต่งงานเป็นการสร้างเครือข่ายที่เร็วที่สุด เพราะเปลี่ยนทันที” นายธีรนันท์กล่าว

นายปัญญาภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ นักวิชาการอิสระเชื้อสายจีน กล่าวว่ากลุ่มคนจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย เป็นกลุ่มที่มีความสามารถเดินในการเรือ คนไทยในอดีตไม่เชี่ยวชาญการออกทะเล แม้จะผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง แต่หากจะออกทะเล ต้องจ้างแขก จ้างจีน ทั้งนี้ คนจีนโบราณในไทย มาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ คือ ฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง มี 5 กลุ่มภาษา สำหรับตนเป็นแต้จิ๋ว คนจีนกับคนไทยไปด้วยกันได้เพราะนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน

“เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ให้คนจีนซึ่งเดิมอยู่รอบๆพระบรมมหาราชวัง ย้ายไปสร้างบ้านเรือนย่านสำเพ็ง สำหรับคนจีนในอดีตที่รับราชการในไทย ย่อมต้องมีความรู้ หากจะมีความรู้ได้ ก็ต้องพอจะมีฐานะ ส่วนใหญ่เป็นฮกเกี้ยนที่เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ในขณะที่แต้จิ๋ว มาแสวงหาโชค ไม่ค่อยปรากฏว่ารับราชการมากนัก กระทั่งพระเจ้าตากสิน มีบทบาทขึ้นมา”นายปัญญาภัทรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image