‘สุจิตต์’ เปิดอีก! ข้อสันนิษฐานใหม่ ‘พ่อ’ สุนทรภู่อยู่กองกำลังหลาน ร.1 ไขปมใกล้ชิด ‘วังหลัง’ ย้ำไม่เคยตกยาก

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘สุนทรภู่’ กวีเอก ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโก ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับบิดาของสุนทรภู่ว่าน่าจะเคยอยู่ในกองกำลังของพระยาสุริยอภัยที่บ้านปูน ในจลาจลกรุงธนบุรี พ.ศ.2325 นับเป็นการไขปริศนาความใกล้ชิดระหว่างเครือญาติของสุนทรภู่กับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ครอบครัวของสุนทรภู่ตลอดมา

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ เปิดเผยว่า พระยาสุริยอภัย หรือทองอินซึ่งเป็นหลาน ร.1นั้น เมื่อคราวเกิดจลาจลกรุงธนบุรีได้รวบรวมกำลังลงจากเมืองนครราชสีมา ตั้งกองควบคุมสถานการณ์อยู่บ้านปูนหรือสวนมังคุดเพื่อรอท่าเจ้าพระยาจักรี แต่ถูกล้อมโจมตีโดยกลุ่มพระยาสรรค์ ครั้งนั้นขุนสุระกับนายบุนนาก ร่วมกันยกพรรคพวกสู้รบแก้ไขจับได้พระยาสรรค์ ส่งให้พระยาสุริยอภัย ตนเชื่อว่าบิดาของสุนทรภู่ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี น่าจะอยู่ในกองกำลังป้องกันบ้านปูนของพระยาสุริยอภัย เมื่อได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลัง ฝ่ายบิดากับมารดาของสุนทรภู่จึงอยู่ใกล้ชิดระดับเครือญาติ

บริเวณบ้านปูน ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ซ้าย) ย่านวัดระฆัง (ขวา) ย่านตลาดตรอกวังหลังต่อเนื่องศิริราช (ภาพถ่ายจากเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 จากกรุงเทพ 2498-2538, กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2538)

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตนตั้งข้อสันนิษฐานดังกล่าว สืบเนื่องมาจากหลักฐานด้านความสัมพันธ์ระหว่าง ‘วังหลัง’ กับ ‘ตระกูลพราหมณ์’ ตามบทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ระบุถึงเครือข่ายผู้คนในเพชรบุรีถึงนครศรีธรรมราชจากคำบอกเล่าความเป็นมาตระกูลพระยาสีหราชเดโชชัย ต้นนามสกุล “สุรนันท์”

บทวิเคราะห์ดังกล่าว สะท้อนว่าตระกูลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช และตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรอันเป็นโคตรตระกูลของสุนทรภู่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

Advertisement

“เมื่อรัชกาลที่ 1 ครั้งยังเป็นหลวงยกกระบัตร อยู่เมืองราชบุรี ลุ่มน้ำแม่กลอง แต่งงานกับท่านนาค ธิดาเศรษฐีมอญ เมืองอัมพวา เครือข่ายผู้คนมีอยู่แล้วถึงเมืองเพชรบุรี ลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช เครือข่ายสำคัญมากคือตระกูลพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมี 3 คนพี่น้อง ตั้งแต่ก่อนกรุงแตก 2310 ขึ้นไปเมืองเพชรบุรี แล้วพำนักอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี

หลังกรุงแตก ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ทางเขาพระฉาย เมืองสระบุรี พี่น้องคนหนึ่งแยกไปคุมกำลังอยู่บ้านวังม่วง ริมแควป่าสัก แล้วรับราชการกับพระเจ้าตาก สังกัดเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นที่ขุนสุรสงคราม หรือรู้จักทั่วไปในชื่อ ขุนสุระ ผู้ก่อกบฏร่วมกับนายบุนนาก บ้านแม่ลา ยึดกรุงธนบุรีให้เจ้าพระยาจักรี หลังปราบดาภิเษกได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาสีหราชเดโชชัย”  นายสุจิตต์กล่าว

ล้อม เพ็งแก้ว

สำหรับประเด็นเรื่องบรรพชนสุนทรภู่เป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรีนั้น นายสุจิตต์กล่าวว่าสุนทรภู่เขียนบอกไว้เอง ในนิราศเมืองเพชรบุรี อ. ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชรได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรบุรีและนำเสนอต่อสาธารณชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2529

Advertisement

“อ.ล้อม พบกลอนนิราศที่สุนทรภู่กล่าวถึงบรรพชนว่าโคตรญาติย่ายายทั้งสายพ่อและสายแม่ ล้วนเป็นตระกูลพราหมณ์รามราช ตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ กลางเมืองเพชรบุรี ต่อมากรุงแตกก็แยกย้ายไปคนละทิศละทาง บ้างแก่เฒ่าล้มตายจนลูกหลานไม่รู้ความเป็นเครือญาติกัน แต่สุนทรภู่รู้ว่ามีพี่น้องมากมายอยู่เมืองเพชรบุรี ปู่ย่าตายายของสุนทรภู่ น่าจะโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา (อาจอยู่ที่เกาะมหาพราหมณ์) แล้วรับราชการจนเกี่ยวดองกับตระกูลบ้านใหญ่ (ของ ร.1) บริเวณป้อมเพชร วัดทอง (วัดสุวรรณดาราราม) ร่องรอยนี้สุนทรภู่เขียนบอกไว้ในนิราศพระบาท เมื่อนั่งเรือขึ้นถึงอยุธยา เห็นซากกรุงแตกย่อยยับ แล้วนึกถึงคำปู่ย่าตายายที่เคยอยู่กรุงเก่า เล่าว่าเมื่อบ้านเมืองดีมีความจำเริญ” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์สันนิษฐานต่อไปว่า พ่อแม่ของสุนทรภู่ น่าจะอยู่ใกล้ชิดกับวังหลังตั้งแต่ก่อนกรุงแตก แล้วติดสอยห้อยตามกันมา กระทั่งเป็นเจ้าวังหลัง (ใน ร.1) จึงวางใจให้แม่สุนทรภู่เป็นแม่นมในธิดาวังหลัง ซึ่งเป็นคนเลี้ยงดูลูกเจ้านายโดยให้น้ำนมแทนแม่จริง ต้องเป็นที่วางใจระดับเครือญาติ มีตำราโดยเฉพาะสำหรับคัดเลือกคนเป็นแม่นม ดังนั้นสุนทรภู่จึงเข้าข่าย ‘ผู้ดีบางกอก’ ไม่ใช่ไพร่ไร้เคหาอย่างที่เคยเข้าใจกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image