ปรุงความคิด : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ปรุงความคิด

“ปรุง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 แปลว่า การประสม หรือประกอบให้เหมาะส่วน ภาษาอังกฤษ คือ Cook การปรุงอาหาร การประกอบอาหารให้เหมาะสม เช่น ทำแกงเผ็ดหมูก็ต้องปรุงด้วยพริก ตะไคร้ ข่า ขิง หมู หอม กระเทียม ต้นหอม ผักชี ผสมอย่างพอดีๆ เหมาะสม ปรุงใส่หมู ต้ม กวน อบเสร็จเป็นแกงเผ็ดหมู เป็นต้น แต่ “ปรุง” หาได้มีความหมายเพียงการประสมอาหารเท่านั้น

“การปรุงความคิด” มีอิทธิพลและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของ “คน” การ “ปรุงความคิด” อาจมีผลกระทบอะไรได้บ้าง เช่น ความแตกแยกครอบครัว ความขัดแย้งทางการเมือง การฆ่าตัวตาย มีให้เห็นในสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์…เป็นต้น
กิเลส ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง เกิดมาจาก “ความคิด” เป็นต้นเหตุทั้งนั้น โดยเฉพาะ “ความโกรธ” เกิดจากเหตุต่างๆ กันเป็นต้นว่าเกิดความ “ไม่ถูกตา ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ” บางทีไม่มีเหตุก็โกรธเอาเฉยๆ ถ้าเป็นไปได้ ความไม่ถูกทั้งสามประการนี้ยังแยกออกไปอีกมากมายหลายอย่าง

ลองแยกความโกรธ คือ

Advertisement

ความโกรธอันเกิดจากการ “ไม่ถูกหู” เป็นประการแรก เมื่อเราได้ยินเสียงคนนั้น คนนี้พูดทีไรใจก็หงุดหงิดทันที เสียงไม่ถูกหูเลย มันแสลงหู ไม่อยากฟัง ถ้าได้ยินเสียงจากวิทยุ หรือทีวี อยากจะปิดดับเครื่องไปเลย หรือโยนเครื่องวิทยุ ทีวีทิ้งไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่ไม่ได้โกรธเคืองด้วยเรื่องอันใด…แต่มันไม่ชอบฟัง เมื่อได้ฟังก็หงุดหงิด ก็กลายเป็นความโกรธก็มี กำลังอารมณ์ดีอยู่ก็อารมณ์เสียเพราะเสียงแตรรถ บางคนได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ก็หัวเสียมาก บางคนได้ยินเพื่อนเปิดวิทยุดังๆ แล้วอยากจะเอาอะไรขว้างเพราะความโกรธ ตรงข้ามบางคนได้ยินคนพูดหยาบๆ มากไปก็หงุดหงิด รำคาญ หมั่นไส้ และโกรธ บางคนได้ยินเสียงเด็กสมัยใหม่พูดคุยด้วยภาษาแสลงสมัยใหม่ ไม่เรียบร้อยก็รำคาญ พาลโกรธเอาได้ ยังมีเสียงไม่ถูกหูอีกหลายประการ เพราะทุกคนยังเป็นปุถุชนจะมีเสียงที่ไม่ถูกหูของตนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และไม่ตรงกันก็มี เช่น เสียงที่ถูกหูคนหนึ่งกลับเป็นเสียงไม่ถูกหูอีกคนหนึ่ง ดังตัวอย่างบางคนได้ยินเสียงเด็กร้องแล้วสนุกก็มี ถึงกับอุตส่าห์ยั่วให้เด็กส่งเสียงร้องจนได้ ขณะบางคนหัวเสียโกรธ บางคนเปิดวิทยุดังลั่นแล้วสบายใจ บางคนได้ยินเสียงวิทยุดังลั่น แล้วเกิดโทสะก็ยังมี

หากพิจารณาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากเสียงเดียวกันเท่านั้น ยังมีความแตกแยกของความคิดความรู้สึก เพราะว่า “ใจ” ของคนไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เสียงเดียวกันมีความหมายตรงกันข้ามได้ตามอำนาจของใจและถ้าพิจารณาต่อไปอีกก็จะเห็นว่า ตามลำพังเรื่องใดก็ตามย่อมไม่เป็นเหตุแห่งความชอบหรือไม่ชอบของผู้ใดถูกหูหรือไม่ถูกหู เกิดจากการที่มี “การปรุงความคิด” ส่งผลให้ใจปรุงความคิดว่า “ดี” ใจก็ปรุงว่าชอบ ใจปรุงคิดว่าไม่ดี ใจก็ปรุงว่า ไม่น่าชอบและก็ไม่ชอบ

“ความชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ที่ใจปรุงคิดนี้แหละ ที่เป็นเหตุอันแท้จริงของความโกรธหรือไม่โกรธ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า “ความปรุงของใจ” เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปรุงของใจเสียก่อน ให้เห็นแน่ชัดเสียก่อนว่า ความโกรธหรือไม่โกรธไม่ได้เกิดจาก “เสียงภายนอก” ที่มากระทบหู ประสาทหู แต่ความโกรธหรือไม่โกรธ ชอบหรือไม่ชอบ เกิดจาก… “ความปรุงคิด” แท้ๆ ความปรุงความคิดของใจเรานี้แหละที่ทำให้เกิดความชอบ หรือไม่ชอบ โกรธหรือไม่โกรธ เกิดได้เพราะปรุงความคิด จึงมิได้เกิดจากบุคคลภายนอกเลย แต่เกิดจาก “ตัวเอง” เท่านั้น ตัวเองนี่แหละเป็นเหตุให้ชอบหรือไม่ชอบ โกรธหรือไม่โกรธ

เวลาเกิดความไม่ชอบหรือความโกรธจึงควรมี “สติ” รู้ว่า “ตนเอง” เป็น “ผู้ทำให้เกิด” ไม่มีผู้อื่นมาทำ เมื่อใจไม่ส่งออกไปโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุ ใจรับว่าตนเองเป็นต้นเหตุ ความโกรธก็จะลดน้อยลงหรือถึงหยุดลงได้ สำคัญต้องมี “สติ” รู้ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นเพราะ “ความปรุงของจิตใจของเราเอง” มิได้เกิดเพราะบุคคลหรือวัตถุภายนอก นี่พูดถึงความโกรธขึ้นและให้ “ดับ” ด้วยการมี “สติ” รู้ความจริงว่าตนเองเป็นผู้ทำ แต่คำพูดถึงการ “ป้องกัน” มิให้ความโกรธเกิดจะ “ต้องฝึก” ฝนให้สติเกิดขึ้นแล้วขึ้นอีก และอาจกล่าวในครั้งก่อนๆ ว่าจะต้องฝึกให้เกิดเหตุผลและปัญญารวมทั้ง “เมตตา กรุณา” ด้วย “การฝึก” ในเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องทำเมื่อความโกรธยังไม่เกิดขึ้นในจิตใจหรือเมื่อเกิดขึ้นแต่ดับแล้ว

“เมตตา กรุณา” เป็นความรู้สึกตรงข้ามกับ “ความโกรธ” ผู้ที่มีความเมตตา กรุณา ในตัวผู้ใดอยู่ ความโกรธในผู้นั้นจะเกิดไม่ได้เพราะ ความเมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้เป็นสุข ความโกรธย่อมเกิดไม่ได้เป็นธรรมดา การเจริญ “เมตตา” จึงเป็นการแก้ความโกรธที่ได้ผล ผู้เจริญเมตตาอยู่เสมอ เป็นผู้ไม่โกรธได้ง่าย ทั้งยังมีจิตใจเยือกเย็นเป็นสุข ด้วยอำนาจของเมตตาอีกด้วย ผู้ที่ได้รับผลความดีก่อนใครทั้งหมดคือ “ตัวผู้ทำเอง” และได้รับผลของความดีมากว่าใครๆ ทั้งหมดก็คือ “ตัวผู้ทำเอง”

ประเด็นที่สองกรณีเกิดจาก “รูปไม่ถูกตา” ซึ่งก็มีการแยกแยะมากมายเหมือนกัน ผู้เขียนเคยได้ยินเพื่อนๆ หรือชาวบ้านบ่นว่า…เห็นหน้าตาท่าทางคนนั้นคนนี้แล้วขัดตา ดูไม่ได้ กวนโทโส เช่น บางคนเห็นเด็กไทยสมัยใหม่ไว้ทรงผม ทนไม่ไหวเกลียดเหลือเกิน กวนโทโสที่พากันไว้ทรงผมอย่างนี้ บางคนตำหนิการแต่งกายของ “เด็กสาว” สมัยใหม่ว่า ไม่น่าดูเห็นแล้วกวนตา กวนหู เป็นลูกหลานอยากตีอยากว่า บางคนดูภาพในหนังสือพิมพ์หรือเดินตามถนนแล้วส่ายหน้า ตำหนิว่าตรงๆ ว่าดูไม่ได้น่ารังเกียจ ซึ่งแต่ละท่านนึกเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองเช่นเดียวกับ “เสียงไม่ถูกหู”

เหตุผลเดียวกันคือ ทุกคนเป็นปุถุชนจะมีรูปไม่ถูกตาของตนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และไม่ตรงกันก็มีเป็นอันมาก ดังตัวอย่างบางคนโดยเฉพาะเด็กหนุ่มๆ สาวๆ เห็นทรงผมสมัยใหม่ของเขาน่าดูที่สุด คนไหนไว้ทรงผมขึ้นได้เหมือนจะภาคภูมิใจที่สุด ขณะบางคน ตัวเองไม่ได้ไว้ด้วยกับเขา ยังเกิดโทสะ เพราะเกลียดมากอย่างไม่มีเหตุผล หรือบางคนเห็นเครื่องแต่งตัวสมัยใหม่ของพวกเขาสวยงามน่าดูอย่างยิ่ง คนไหนไม่ได้แต่งแบบนั้น เห็นจะเป็นคนดูไม่ได้ ไม่สวยงาม ไม่สวยไม่งามเสียเลย ขณะที่ดังกล่าวแล้ว บางคนตรงข้าม ยังทนดูไม่ได้ ว่าเกิดโทโส ตำหนิเอาซึ่งๆ หน้าเลยอย่างรุนแรงว่าน่ารังเกียจ ไม่น่าให้ผ่านสายตา

หากพิจารณาดูกรณี จากไม่ถูก สู่ “ไม่ถูกตา” จะเห็นว่าสาเหตุเดียวกันแต่ก็จะให้เกิดผลไม่เหมือนกัน คนหนึ่งชอบ อีกคนไม่ชอบ สาเหตุแท้จริงอยู่ที่การ “ปรุงของใจ” มิได้อยู่ที่อะไรอื่น จะโลภกันเพราะใจปรุงให้หลง จะโกรธก็เพราะใจปรุงให้โกรธ จะหลงก็เพราะใจปรุงให้หลง หรือจะสุขก็เพราะใจปรุงให้สุข จะทุกข์ก็เพราะใจปรุงให้ทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุด “การปรุงของใจ” ตนเองนี่แหละ

อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะเกิดกับปุถุชน “คน” อย่างพวกเราๆ คือ สุข ทุกข์ เกิดจากใจ คำๆ นี้ พูดร้อยครั้งก็ถูกร้อยครั้ง เพื่อรักษาจิตใจมิให้ได้รับทุกข์ เกิดจากอารมณ์ กิเลส เป็นต้นว่า “โกรธ” จำเป็นต้องระวังการคิดปรุง หรือปรุงคิด ให้ดำเนินไปอย่าง “ถูกต้อง” เพราะการคิดปรุงหรือปรุงคิดนี้เองเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอารมณ์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า โกรธไม่ใช่รูป ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เกิด อารมณ์ กิเลสเหล่านั้น ดังที่มีผู้เข้าใจผิดเป็นอันมาก ทั้งนี้แล้วแต่การปรุงของใจไม่เหมือนกัน ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามไปเสียอย่างไม่สนใจ โทสะหรือความโกรธ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ร้อน การคิดปรุงใจในทางที่ไม่ให้เกิดโทสะ จึงเป็นสิ่งที่ควร “อบรม” ให้เกิดมีขึ้น

หากนอกจากสองกรณีที่กล่าวแล้วคือ เสียงไม่ถูกหู รูปไม่ถูกตา บัดนี้ลองมาดูความโกรธที่เกิดจากเรื่อง “ไม่ถูกใจ” ซึ่งมีมากมายเหมือนกัน เคยมีผู้เล่าเรื่อง “การโกงกัน” ที่นั่นที่นี่อย่างโกรธเคือง ไม่น่าทำกัน ผู้เล่าไม่ชอบใจเลย อเนจอนาถใจมาก คือโกรธมากนั่นเอง มันเป็นความเละเทะ เหลวไหล ของสังคมปัจจัยอย่างน่ารังเกียจชิงชัง คือทุกคนที่เป็นปุถุชนย่อมจะมีเรื่อง “ไม่ถูกใจ” ตนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และไม่ตรงกันเป็นอันมาก ดังตัวอย่างบางพวกไม่พอใจ การโกงกันที่นั่นที่นี่ แต่บางคนพอใจนิยมชมชอบ ซึ่งก็รู้ได้จากการที่มีผู้ปฏิบัติเช่นนั้นเดียวกัน “ปรุง” ให้เห็นดีเห็นงาม ก็ปรุงให้ชอบ ปรุงให้เห็นเป็นไม่ดีไม่งาม ก็ปรุงให้ไม่ชอบ ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น การปรุงให้ชอบ หรือไม่ชอบ ไม่เกิดผลดีแก่จิตใจของตนเองทั้งสองประการ

การปรุงให้ชอบเรื่องโกงกัน ทำให้ชอบยังมีในการกระทำเพื่อการโกงกัน ว่าเป็นผลเสียอย่างยิ่งแก่จิตใจตนเองและเห็นแก่ส่วนรวม การปรุงใจให้ไม่ชอบ เมื่อฟังเรื่องโกง ทำให้เกิด “โทโส” ก็เป็นการทำใจของตนเองร่วมเป็นทุกข์ จึงน่าจะปรุงใจในทางที่จะ “สามารถทำใจ” ให้ไม่ไปนิยมชมชอบด้วยและไม่โกรธ ขึ้นด้วยรักษาใจไว้ให้สงบ เยือกเย็นได้ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตามเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าจะทำใจให้ไม่สนใจ รับรู้เรื่องใดเสียเลย ไม่ปฏิบัติการใดๆ เพื่อให้เหมาะให้ควรต่อเรื่องใดๆ เสียเลย

ทั้งนี้ “การบริหารจิต” คือการฝึกอบรมจิตใจให้ช่วยความสงบ เยือกเย็นเป็นสุข ขณะเดียวกัน รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควรแก้ไข อะไรควรส่งเสริมอย่างไร และเมื่อรู้แล้วก็ควรปฏิบัติเพื่อแก้ไข หรือส่งเสริมให้เหมาะให้ควร คือปฏิบัติเพื่อแก้ไขสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข และส่งเสริมสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม

“การบริหารจิต” มิใช่เพียงแค่อบรมจิตใจให้สงบเยือกเย็นอยู่เป็นสุขอย่างไม่รับรู้เลยว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรแก้ไข อะไรควรส่งเสริม “จิต” ที่ได้รับการฝึกอบรมในทางที่ “ถูก” ต้องเป็นจิตที่สงบเยือกเย็นเป็นสุข และมีทั้งปัญญายิ่งขึ้น และเป็น “ปัญญา” ที่มีความสงบเป็นพื้นฐานนี่แหละ จะทำให้มีความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เห็นในสิ่งที่ควรเห็น เช่น รู้ความ “ผิดถูก” ควรไม่ควร รู้วิธีปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง

“กิเลส” คือ “ความโลภ ความโกรธ ความหลง” เป็นโรคร้ายทางใจที่มิได้ร้ายน้อยไปกว่าโทสะทางกายที่ร้ายที่สุด เมื่อโรคร้ายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะทางกายทางใจจำเป็นต้องรักษาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะกำเริบทำให้ถึงตาย ถ้าเป็นโรคทางกาย หรือถึงทำให้เสียผู้เสียคน ถ้าเป็นโรคทางใจ คนที่เสียแล้ว ก็คือคนที่ตายแล้วในทางชื่อเสียง และคุณงามความดี จะกล่าวว่า โรคร้ายทางใจ มีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าโรคทางกายก็ไม่ผิด เพราะผู้ตายไปจริงๆ ด้วยทางกายนั้น ดีกว่าผู้ที่ตายแล้วในทางชื่อเสียง และคุณงามความดีด้วยโรคทางใจ กิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มิได้รับการขัดเกลา อบรม ตั้งสติ สมาธิ ใช้ปัญญาที่ไม่ได้รับการขัดเกลา จะทำให้เป็นผู้เสียคน หรือตายทั้งเป็นได้จริง ผู้ที่ไม่ประสงค์จะได้ชื่อว่าเป็น “คนตายทั้งเป็น” คือเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ คุณงามความดี จึงจำเป็นต้องตั้งสติ ตั้งใจ ให้เกิดสมาธิ ศึกษา อบรม และปฏิบัติขัดเกลาแก้ไข “กิเลส” ที่มีอยู่ในใจของสามัญชนทุกคน

ผู้เขียนเองขอเชิญชวนแฟนมติชนได้ให้ความสำคัญกับ “การบริหารจิต” ตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่น วัยเรียน ไม่ต้องรอเป็น “ผู้ใหญ่” ไม่แก่เกินดัดด้วยการฝึกอบรมปฏิบัติ ขัดเกลา แก้ไข ควบคุม ป้องกัน โรคมะเร็งร้ายด้วยการรับรู้ทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันต้นเหตุที่แท้จริงของโทสะ มิใช่อยู่ที่รูป มิใช่อยู่ที่ตา มิใช่อยู่ที่เสียง มิใช่อยู่ที่หู ถูกใจไม่ถูกใจ มิใช่อยู่ที่การรู้เรื่อง แต่อยู่ที่ “ความคิดปรุง หรือปรุงคิด” ดังนั้น การเฝ้าระวัง ควบคุม “ความคิดที่ถูกต้อง” มิให้เป็นเหตุทำให้เกิดโทสะ จึงเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ที่ได้ผลอย่างแท้จริง ยังนำผลทำให้เกิดความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่นั่นแหละ จะมีความสงบสุขทั้งตัวเองและผู้เกี่ยวข้องในครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติไทยของเราอย่างไรเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image