‘สุรพศ’ชี้คำสั่งเถระฯเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนะ’แยกศาสนาออกจากรัฐ’

สืบเนื่องกรณีเจ้าคณะปกครองสงฆ์ทำหนังสือถึงเจ้าคณะในปกครองเพื่อแจ้งวัดทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ห้ามจำหน่ายพระบูชา วัตถุมงคล เทวรูปต่างๆ ห้ามปลุกเสกพระเครื่อง ห้ามแสดงพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตนเอง ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ปลุกปั่นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ห้ามเล่นเฟซบุ๊ก รวมถึงสั่งปลดป้ายงานพุทธาภิเษก (ปลุกเสก) หากพระภิกษุสามเณรผู้ใดไม่เคร่งครัด และละเมิดพระธรรมวินัย ให้ลงโทษตามพระธรรมวินัย และกฎหมายคณะสงฆ์โดยเคร่งครัด หากพระสังฆาธิการย่อหย่อนในการตรวจสอบ ควมคุมพฤติกรรม หรือลงโทษ จะต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการนั้น

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า คงเป็นคำสั่งที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง เพราะคำสั่งในลักษณะเกินความเป็นจริง กรณีโครงการหมู่บ้านศีล 5 ที่มีคำสั่งให้แต่ละวัดนำคนเข้าวัดจำนวนหนึ่ง ถ้าไม่ครบจะมีมาตรการลงโทษ อำนาจของคณะสงฆ์เป็นลักษณะรวมศูนย์ เวลาตัดสินใจสั่งการต่างๆ จะสั่งการในลักษณะคล้ายๆ คสช.ใช้มาตรา 44 คือมักสั่งโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน ทางปฏิบัติคือไม่สามารถเด็ดขาดได้เช่นนั้นจริง คงมีพระเล่นเฟซบุ๊ก หรือมีการขึ้นป้ายโฆษณาต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมาต่อไป

“การงดจำหน่ายพระบูชาหรือวัตถุมงคลต่างๆ ภายในหรือใกล้เคียงพระอุโบสถนั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เวลามีกระแส มีเรื่องที่สังคมติเตียน มักมีการออกคำสั่งลักษณะนี้ออกมา แต่จริงๆ มันไม่ได้แก้ เป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งเหยียบน้ำแข็งบนปลายภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาระบบคณะสงฆ์มีความซับซ้อนมาก การใช้กฎหมายมาควบคุมคงแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ได้คงมีแต่เรื่องต้องจัดต้องเปลี่ยนแปลงระบบคิด การศึกษาต่างๆ ของสงฆ์ หรือปฏิรูประบบการศึกษาของสงฆ์ขนานใหญ่” นายสุรพศกล่าว

นายสุรพศกล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องการขายวัตถุมงคลไม่ใช่เรื่องของรัฐ แต่เป็นเรื่องของคนนับถือศาสนากลุ่มต่างๆ ว่าจะเชื่อ จะทำหรือไม่ทำ สมมุติสำนักสายนี้เขาไม่ชอบวัตถุมงคล เขาปฏิเสธ ก็ไม่มีเลย เน้นการปฏิบัติไป มีเสรีภาพของเขา แต่บางสำนัก บางกลุ่มยังเชื่อเรื่องนี้ เขาก็ทำของเขาไป มันไม่ใช่เรื่องของรัฐ พอคณะสงฆ์มาออกคำสั่งแบบนี้มันกลายเป็นคำสั่งของรัฐ ใช้อำนาจทางกฎหมาย สาเหตุมาจากการที่ศาสนาไม่ได้แยกออกจากรัฐ สมมุติแยกศาสนาออกจากรัฐแล้ว เรื่องการสอนผิด สอนถูก ปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิด ก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐเช่นกัน เป็นเรื่องของประชาชน เรื่องของสังคมที่เขาจะตัดสินกันเอง

Advertisement

“ศาสนาก็เอากฎที่รัฐ อันหมายถึงพระผู้ใหญ่ที่มีอำนาจทางกฎหมายเห็นว่าอย่างนี้มันผิดก็สั่งออกไป ก็จะไปตามข้อวินิจฉัยของผู้มีอำนาจ แต่ถ้าศาสนาแยกจากรัฐก็เป็นเรื่องของวัดหรือสำนักต่างๆ ที่ประชาชนศรัทธาในกลุ่มนั้นๆ สายนั้นๆ ตัดสินกันเอง เช่น ธรรมกาย ก็เป็นเรื่องที่สายธรรมกายจะตรวจสอบกันเองว่าสอนแบบนี้ถูกหรือผิด น่าศรัทธาหรือไม่น่าศรัทธา ยกเว้นเรื่องผิดกฎหมายเท่านั้นที่รัฐถึงจะเข้าไปจัดการ ปัญหาเรื่องความเชื่อจริงๆ เป็นเรื่องของเสรีภาพ ใครจะเชื่อตามแนวคำสอนที่มันบริสุทธิ์ ถูกต้อง ไม่มีเรื่องวัตถุมงคล เรื่องไสยศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่เขาจะเชื่อ ส่วนใครจะเชื่อเรื่องวัตถุมงคลก็แล้วแต่เสรีภาพที่จะเชื่อในเรื่องพวกนี้เหมือนกัน ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของรัฐ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอาอำนาจรัฐเข้าไปจัดการ” นายสุรพศกล่าว

นายสุรพศกล่าวเพิ่มเติมว่า คงมีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่อาจด้วยเจตนาดี อยากเห็นศาสนาบริสุทธิ์ เขาก็คิดว่าอำนาจรัฐต้องเข้ามาจัดการ อำนาจรัฐในความเห็นของเขาคืออำนาจรัฐบาลกับอำนาจคณะสงฆ์ อย่างกรณีก่อนหน้านี้ที่ตำรวจมีสำเนาหนังสือออกมาเผยแพร่ให้ตรวจสอบเรื่องพระรับเงิน เนื่องจากมีคนร้องเรียนไปว่าการที่พระรับเงินคือการอาบัติ ให้ตำรวจดำเนินการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ ผิดอย่างไร ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องมาตรวจสอบ แต่เรื่องวินัยสงฆ์เป็นเรื่องที่สงฆ์ต้องจัดการกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image