‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ร.9

“ราชรถ ราชยาน” หนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ แสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ การใช้ราชรถ ราชยานในราชสำนัก มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชรถขึ้นใหม่ 7 องค์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เมื่อปี 2339 ประกอบด้วย พระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ ราชรถน้อยทั้ง 3 องค์ และราชรถเชิญเครื่องหอม 2 องค์ ราชรถเหล่านี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีมาจนถึงปัจจุบัน

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ต้องใช้ราชรถ ราชยาน ประกอบในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เคลื่อนไปยังพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธี โดยเริ่มจากอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดลออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางประตูมุขด้านตะวันตก ประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามคำคานที่หน้าประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก เคลื่อนออกทางประตูศรีสุนทร และประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจำขบวนพระบรมราชอิสริยยศบนถนนมหาราช เคลื่อนไปยังถนนสนามไชย อัญเชิญพระบรมโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นเกรินบันไดนาคประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนออกจากถนนสนามไชย สมเด็จพระราชาคณะนั่งบนราชรถน้อยนำหน้าพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนเคลื่อนสู่พระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

จากนั้นอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถด้วยเกรินบันไดนาคประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน เวียนอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารกลับสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย 3 องค์ และราชรถปืนใหญ่ ส่วนราชยานที่ใช้ในพระราชพิธี ประกอบด้วย พระที่นั่งราเชนทรยาน

Advertisement

“พระมหาพิชัยราชรถ” เลขรหัสประจำราชรถ 9780 กว้าง 4.88 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.7 ตัน จำนวนพลฉุดชัก 216 นาย แบ่งเป็น ด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย ผู้ควบคุม 5 นาย มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้เพื่อการอัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อปี 2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์ และพระโกศ พระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

“ราชรถน้อย 3 องค์” เลขรหัสประจำราชรถ 9782 กว้าง 3.64 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.30 เมตร น้ำหนัก 3.85 ตัน จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย ด้านหน้า 65 นาย ด้านหลัง 18 นาย ผู้ควบคุม 5 นาย, ราชรถน้อย เลขรหัสประจำราชรถ 9783 กว้าง 3.66 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.30 เมตร น้ำหนัก 3.65 ตัน จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย ด้านหน้า 56 นาย ด้านหลัง 18 นาย ผู้ควบคุม 5 นาย และราชรถน้อย เลขรหัสประจำราชรถ 9784 กว้าง 3.86 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.85 เมตร น้ำหนัก 3.65 ตัน จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย ด้านหน้า 65 นาย ด้านหลัง 18 นาย ผู้ควบคุม 5 นาย

ราชรถน้อยทั้ง 3 องค์ มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ขนาดเล็กกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในอดีตทำหน้าหน้าที่เป็นรถพระนำ อ่านพระอภิธรรมนำขบวน เรียกอย่างย่อว่า “รถสวด” ทำหน้าที่โปรยข้าวตอก เรียกอย่างย่อว่า “รถโปรย” และสำหรับโยงภูษาโยง จากพระบรมโกศ เรียกอย่างย่อว่า “รถโยง”

“ราชรถปืนใหญ่” จัดสร้างขึ้นใหม่โดยกรมสรรพาวุธ ทหารบก เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการจัดสร้างใหม่ กรมสรรพาวุธได้ศึกษารูปแบบตามงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 โดยโครงสร้างราชรถปืนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง และราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า มีคานบังคับสั้น เชือกชุดชัก 2 เส้น ซึ่ง “ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง” จัดสร้างโดยใช้โครงสร้างของ ป.ภูเขา แบบ 51 เป็นโครงสร้างหลัก ส่วน “ราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า” มีลักษณะใกล้เคียงกับราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งที่ผ่านมา

ส่วนงานศิลปกรรมประดับโครงราชรถในส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง แบ่งเป็น ส่วนฐานจะใช้ลวดลายบัวปากฐาน และขาสิงห์ และส่วนแคร่ งอนด้านหน้าจะแกะเป็นหัวพญานาค 6 องค์ และหางที่ด้านหลัง ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ทั้งนี้ ในส่วนของขาสิงห์จะปิดทองทึบ แสดงถึงความสูงส่งในฐานานุศักดิ์ เช่นเดียวกับฐานสิงห์ใช้ระดับพระมหากษัตริย์ ส่วนการใช้บัวมารองรับ จะปรากฏในความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ ซึ่งเปรียบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโพธิสัตว์ ขณะที่การแกะแคร่เป็นหัวพญานาค เป็นความเชื่อตามคติพราหมณ์ และคติพุทธ ซึ่งเปรียบพระมหากษัตริย์เสมือนสมมุติเทพ ในการเคลื่อนราชรถอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ จะมีนาครองรับ และเคลื่อนเหมือนพระองค์ผ่านสู่ความเป็นมนุษย์กลับขึ้นสู่สรรค์ที่พระเมรุมาศ

“พระยานมาศสามลำคาน” เลขรหัสประจำราชยาน นช.541 ยาว 7.73 เมตร พร้อมคานหาม สูง 1.78 เมตร น้ำหนัก 700 กิโลกรัม จำนวนพลแบกหาม 120 นาย 2 ผลัด ผลัดละ 60 นาย ผู้ควบคุม 1 นาย สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งจอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกบริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระยานมาศสามลำคาน เลขรหัสประจำราชยาน 9789 ยาว 8.24 เมตรพร้อมคานหาม สูง 1.10 เมตร น้ำหนัก 550 กิโลกรัม จำนวนพลแบกหาม 120 นาย 2 ผลัด ผลัดละ 60 นาย ผู้ควบคุม 1 นาย พระราชยานใช้เพื่อการอัญเชิญพระบรมโกศจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง

พระราชยานองค์นี้ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นครั้งแรก

“พระที่นั่งราเชนทรยาน” กว้าง 1.03 เมตร ยาว 5.48 เมตร พร้อมคานหาม สูง 4.23 เมตร จำนวนพลแบกหาม 56 นาย ผู้ควบคุม 1 นาย มีลักษณะเป็นทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจก สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ใช้ในเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ ที่เรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราสี่สาย” นอกจากนี้ ยังใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ หรือพระโกศพระอัฐิ ของพระบรมวงศานุวงศ์จากพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

“พระราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่” กว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 548 เซนติเมตร รวมคานหามสูง 414 เซนติเมตร มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ สำนักช่างสิบหมู่ได้รับมอบหมายให้จัดสร้างพระราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นพระที่นั่งราชยานทรงบุษบก สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์

“เกรินบันไดนาค” เลขรหัสประจำเกริน 9787 ขนาดเกรินกว้าง 1.525 เมตร ยาว 2.365 เมตร สูง 4.40 เมตร ฐานกว้าง 1.786 เมตร ยาว 3.06 เมตร จำนวนพล 20 นาย ใช้เพื่อการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถ หรือเวชยันตราชรถ ณ ท้องสนามหลวง

“พระเสลี่ยงกลีบบัว” เป็นพระราชยานที่ใช้กำลังพลหาม 16 คน เป็นพระราชยานสำหรับสมเด็จพระสังฆราช หรือพระราชาคณะ นั่งอ่านพระอภิธรรมนำพระโกศพระบรมศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังพระมหาพิชัยราชรถที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และนำขบวนพระราชอิสริยยศ เมื่อเชิญพระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศ สร้างด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม 2 คาน กว้าง 0.82 เมตร ยาวรวมคาน 4.20 เมตร สูง 1.10 เมตร ลำคานเป็นไม้กลมกลึงทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ มีรูปทรงกลม หรือเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไป หัวเม็ดเสาเกย ปิดทองประดับกระจก ลำคานทำด้วยไม้กลึงกลมทาสีแดงเรียบ ปลายคานประดับหัวเม็ดปิดทองประดับกระจก

ส่วน “แท่นพระเสลี่ยง” มีลักษณะเป็นฐานสิงห์บัวลูกแก้ว หน้ากระดานล่างปิดทองเรียบ เหนือเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อย ปิดทองประดับกระจก บัวอกไก่แกะสลักลายรักร้อย ปิดทองประดับกระจก ขอบลูกแก้วประดับกระจังฟันปลา ปิดทองทั้งด้านบน และด้านล่าง ท้องไม้ทาสีแดงเรียบ ลวดลายบัวประดับกระจังฟันปลาปิดทอง บัวหงายแกะสลักลายบัวรวนปิดทองประดับกระจกซ้อนเส้นลวดเดินเส้นทอง หน้ากระดานบนประดับลายประจำยามก้ามปู ประดับเส้นลวดเดินเส้นทอง เหนือหน้ากระดานบนประดับกระจังตาอ้อยซ้อนลายกลีบบัว ปิดทองประดับกระจก 3 ด้าน ขอบบนเหนือลายกลีบบัวทำเป็นราวพนักพิงกลม ติดซี่ลูกกรงโปร่งปิดทองเรียบ ประดับกระจังปฏิญาณใหญ่รูปกลีบบัว ด้านนอกปิดทองประดับกระจก ส่วนด้านในปิดทองเรียบ 3 ด้าน พนักพิงหลังซึ่งซ้อนอยู่ในกระจังปฏิญาณ ด้านหน้าปิดทองเรียบ ด้านหลังแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก

“พระเสลี่ยงแว่นฟ้า” เป็นพระราชยานขนาดเล็ก ใช้กำลังพลหาม 8 นาย สำหรับอัญเชิญพระลองในพระบรมศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังเกยเทียบพระยานมาศสามลำคานที่นอกกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นฐานแท่นไม้สี่เหลี่ยมสลักลาย ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ ตัวแท่นฐานเป็นฐานสิงห์ปากบัว หน้ากระดานล่างลงรักปิดทอง ประดับกระจกลายดอกประจำยาม ฐานสิงห์ปิดทองประดับกระจก บัวหลังสิงห์ปิดทองประดับกระจก เส้นลวดเดินเส้นทองซ้อนประดับด้วยลายเม็ดประคำ พื้นพระเสลี่ยงลาดด้วยพรมสีแดง ทั้ง 4 มุมติดห่วงเหล็กทาสีแดง คานหามทั้ง 2 คานทาสีแดงเรียบ ปลายคานเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองเรียบ

“เกยลา” แท่นฐานยกสูงย่อมุม มีรางเลื่อน ใช้สาหรับอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบน พระยานมาศ ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

นอกจากนี้ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ยังได้จัดทำผ้าม่านพระมหาพิชัยราชรถใหม่ทั้งหมด 4 ผืน โดยใช้ลวดลายเทพนม เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุด ขอบผ้าม่านใช้ลายฟักก้ามปู สำหรับผ้าม่านพระมหาพิชัยราชรถถือว่ามีขนาดใหญ่ ทุกผืนมีความยาวประมาณ 3 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ปิดทองประดับกระจก ปิดทองคำเปลว 100% ทั้งผืน และประดับกระจกด้านหลัง จากนั้นเย็บผ้าโดยใช้ไหมโลหะปักเพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้นเมื่ออยู่กับสีทอง

ส่วนผ้าม่านประดับบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน พระราเชนทรยานน้อย และราชรถน้อย องค์ละ 4 ผืน รวม 12 ผืน กว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 1.30 เมตร ความโดดเด่นของผ้าม่านราชรถดังกล่าวเป็นผ้าตาดทองแท้ ทอด้วยเส้นไหมสีเหลืองย้อมจากเปลือกลูกทับทิมกับเส้นเงินแล่งเส้นเล็กๆ ทำให้เกิดแสงระยิบระยับ ทอเป็นลายโคมผ้า หรือลายตาตั๊กแตน นับเป็นการฟื้นฟูการทำผ้าตาดทองงดงามดั่งสมัยโบราณ

ทั้งนี้ เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image