สุจิตต์ วงษ์เทศ : ตระพังกลางเมืองสุโขทัย ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ในตระพังกลางเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2560 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ภาพจาก https://www.facebook.cงานประเพณีลอยกระทง-เผาเทียน-เล่นไฟ-จังหวัดสุโขทัย-ประจำปี-2560)

สระน้ำหรือตระพัง กลางเมืองสุโขทัย ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง แต่ขุดเก็บกักน้ำไว้เพื่อการบริโภคและอุปโภคในหน้าแล้ง ของพระสงฆ์ในวัดหลวงกับเจ้านายในวังหลวงยุคนั้น

เพราะเมืองสุโขทัยตั้งบนที่ดอนแล้งน้ำ

เอนก สีหามาตย์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ. 2556-2557) มีบทความวิชาการเรื่อง “ระบบชลประทาน และการควบคุมน้ำเมืองเก่าสุโขทัย” พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร (ปีที่ 60 ฉบับที่ 5) ก.ย.-ต.ค. 2560 (หน้า 14-27) แต่เพิ่งพิมพ์เสร็จออกเผยแพร่เมื่อมกราคม 2561 นี้เอง (ขอบคุณฝ่ายเผยแพร่ กรมศิลปากร ที่กรุณาส่งให้อ่าน) สรุปอย่างนี้

น้ำในตระพังกลางเมืองสุโขทัย เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคของพระสงฆ์ และพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนขุนนางข้าราชการระดับสูง

Advertisement

เพราะเมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ดอน แล้งน้ำในหน้าแล้ง แต่น้ำหลากรุนแรงในฤดูฝน จึงพัฒนาระบบควบคุมน้ำอย่างดีเยี่ยม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ยามแล้ง

แหล่งน้ำธรรมชาติอยู่บนทิวเขาด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย สร้างคันดินขวางทางน้ำในหุบเขา เพื่อกักเก็บน้ำป่าที่ไหลจากทิวเขา

เจาะช่องทางน้ำไหลเป็นลำคลอง เรียกคลองเสาหอ มีแนวหินก่อเป็นทางน้ำไหล ทำประตูน้ำเปิด-ปิดได้ตามต้องการ

Advertisement

ชักน้ำไหลเข้าคูเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก แล้วกระจายทั่วทุกด้าน มีประตูน้ำชักน้ำไปเข้าตระพังต่างๆ ในเมือง เช่น ตระพังเงิน, ตระพังทอง, ตระพังตะกวน, ตระพังสอ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังกระจายน้ำเข้าบ่อกลมๆ กรุผนังด้วยศิลาแลง เก็บน้ำใช้ให้หมู่ขุนนางในเมือง

ผังเมืองสุโขทัยเพื่อการจัดการน้ำ

ทั้งหมดที่ เอนก สีหามาตย์ บรรยายไว้ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร สอดคล้องกับสิ่งที่ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม ค้นคว้าวิจัยไว้หลายสิบปีมาแล้ว ดังนี้

“ผังเมืองสุโขทัยเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางการจัดการน้ำที่สลับซับซ้อน โดยใช้พื้นที่ลาดนำน้ำจากภูเขา, โซกเขา และซอกเขา เข้ามาใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และการป้องกันน้ำท่วมท้นในเวลาน้ำหลาก”

อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนบอกไว้ในหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 หน้า 124)

สรุป ตระพังกลางเมืองสุโขทัย ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง

ถ้าจะเล่นลอยกระทงในตระพังเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปีของคนยุคนี้ ก็ควรบอกเล่าความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกปีมิได้ขาดให้สาธารณชนเข้าใจทั่วถึงกัน ไม่ควรตีเนียนทำลืมๆ จนส่งผลเสียต่อการศึกษาทั้งระบบ

ปัญหาอยู่ที่ระบบราชการไทยยกตนเป็น “นาย” ของมวลมหาประชาชน ย่อมไม่ทำอะไรเพื่อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image