วธ.จัดกิจกรรมตามรอย ‘บุพเพสันนิวาส’ ผู้จัดปลื้มละครเปรี้ยง-นักเขียนเผยเล็งต่อภาค2 (ชมคลิป)

เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 15 มีนาคม ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ ย้อนรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส ” ต่อยอดกระเเสละครดัง บุพเพสันนิวาส โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดและทีมสร้างละครบุพเพสันนิวาส ร่วมเสวนา อาทิ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการ และอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด นายคเณษ นพณัฐเมทินี ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและอาหารไทย ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา น.ส.จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ รอมแพง ผู้แต่งนวนิยาย บุพเพสันนิวาส เป็นวิทยากร

นายวีระ เปิดเผยว่า การจัดงานวันนี้สืบเนื่องจากกระเเสที่คนส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องบุพเพสันนิวาส มีคำถามว่ากระทรวงวัฒนธรรมทำอะไรอยู่ รู้กระเเสเรื่องนี้หรือไม่

“เราก็ลองมอนิเตอร์ดูและพบว่า เรื่องนี้มันเป็นกระเเสและกระทรวงวัฒนธรรมเราดูแลเรื่องนี้อยู่ เรามีคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ เลยมามองว่าควรจะมีกิจกรรมอะไร ต่อยอดเรื่องบุพเพสันนิวาสอย่างไร และปรากฎว่าเรื่องนี้ก็ไปสอดคล้องกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดมานานแล้วว่าอยากจะให้สร้างภาพยนตร์ที่สงเสริมการเรียนรู้และอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเรามีโครงการที่จะสนับสนุนให้เอกชนที่มีคุณภาพมาขอรับการสนับสนุนไปสร้าง ภาพยนตร์ ละครทีวี รายการทีวี ตลอดจนสื่อสิ่งพิมพ์ ปีนี้เราเพิ่งจะเริ่มต้น โดย กสทช.สนับสนุนงบให้ 400 กว่าล้านบาท และ วธ.ยังได้ส่งเสริมต่อยอดให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการทัศนศึกษาเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ และมีการส่งเสริมให้มีการใส่ผ้าไทย ตลอดจนส่งเสริมให้ท้องถิ่นชุมชนเปิดเช่าชุดไทยในราคาไม่แพง เพื่อให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชน” นายวีระ กล่าว

Advertisement

นายอนันต์ กล่าวว่า พูดตรงๆ ว่าไม่เคยดูเรื่องนี้ในโทรทัศน์ จนเมื่อต้นเดือนได้รับรายงานว่าวัดไชยวัฒนารามเกิดกระเเสคนเข้าชม ขยับขึ้นไปกว่าเท่าตัว จากเดิมวันธรรมดาประมาณ 1,000 คน เสาร์อาทิตย์ เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย กลายเป็นเสาร์อาทิตย์มีผู้เข้าชมเกือบหมื่นคน

“ผมเองไม่ได้ตามกระเเสนี้แต่คิดว่าจะต้องมาเเน่ เลยนึกถึงเมื่อปีที่แล้วที่พนมรุ้งมีคนเข้าไปมากจากกระเเสนาคี แต่ก็คิดว่าคงจะเเป๊บเดียว แต่กลับไม่ใช่กระเเสเรื่องนี้กลับเพิ่มขึ้น คนในกระทรวงติดละครเรื่องนี้หมด แล้วล่าสุดเกิดปรากฎการณ์รถติดที่วัดไชยวัฒนาราม เกิดปรากฎการณ์ ชาวบ้านเปิดบ้านรับฝากรถ ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็มีเเนวคิดแต่งชุดไทยเข้าชมวัดไชยวัฒนาราม ตอนแรกมีรางวัลว่า 200 คนแรก แจกของที่ระลึก คนก็แห่เข้าไปจนตอนหลังกลายเป็นกระเเสเเต่งชุดไทยเข้าวัดโดยไม่ได้หวังจะได้ของที่ระลึกแล้ว ในฐานะกรมศิลป์ฯ ที่ดูแลโบราณสถาน ก็มีการสั่งการดูแลให้ด้านต่างๆ แต่สิ่งที่อยากให้เกิดคือ นอกจากแต่งกายเข้ามา ควรจะให้ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้วย ดูแล้วเที่ยวแล้วอยากให้กลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ให้ลึกลงไป เพราะจริงๆ แล้วอยุธยามีข้อมูลประวัติศาสตร์มากมาย” นายอนันต์ กล่าว

Advertisement

นายบุญเตือน กล่าวว่า ส่วนตัวแต่ไหนแต่ไรมาไม่ชอบดูละคร ซึ่งละครเรื่องนี้ออกอากาศเด็กๆในที่ทำงานบอกต้องดู ก็ไปดูเเล้วขอชื้นชมว่าทำละครออกมาได้ดีทีเดียว ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอเป็นมิติของละคร บางอย่างก็อาจจะมีข้อจำกัดต่างจากระยะเวลาจริง เช่น เรื่องฉากเราไม่สามารถหาออกมาได้เหมือนกับของจริง แต่ชื่นชมที่พยายามให้ข้อมูลหลายอย่าง เช่น เรื่องภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา ในอดีตมีสะพานอิฐ 15 แห่ง และสะพานไม้ 15 แห่ง เป็นต้น อีกเรื่องคือ ไดอาล็อก หรือ บทสนทนาต่างๆ ในฐานะที่ทำงานด้านวรรณคดีมา ก็มีหลายท่านระบุว่าคำภาษาที่ใช้และสำเนียงภาษาที่ใช้ในสมัยอยุธยา น่าจะมีสำเนียงไปทางสุพรรณ แต่บางท่านก็บอกว่าน่าจะมีสำเนียงคล้ายนครศรีธรรมราช ไม่ใช่สำเนียงที่ใช้ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ คนดูละครเข้าใจว่าสิ่งที่แต่งทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ก็อยากให้เข้าใจว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ต้องเข้าใจว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นและเเทรกเข้ามา เพราะบางอย่างไม่สามารถทำให้เหมือนจริงได้” นายบุญเตือน กล่าว พร้อมระบุว่า ขณะนี้กำลังพิมพ์หนังสือ จินดามณี ซึ่งจะเเล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมนี้

นางอรุโณชา กล่าวว่า ตนเเละทีมงานรู้สึกดีใจมาก บุพเพสันนิวาสเป็นนวนิยายที่ได้รับการกล่าวขวัญถึง และละครเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นครั้งแรกที่ย้อนไปอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนที่ได้นวนิยายมาก็มีการปรึกษาหลายท่าน สำหรับเรื่องนี้มีความเป็นประวัติศาสตร์ ที่มีความร่วมสมัยในเรื่อง คือมีตัวละครปัจจุบันเข้าไปอยู่ในอดีต ทำให้คนรุ่นใหม่ดูแล้วเข้าใจง่าย

“สำหรับการเขียนบทเรื่องนี้ต้องทำการบ้านเยอะทั้งตัวนวนิยายและบทละคร ต้องอ่านพงศาวดารและจดหมายเหตุ ใช้เวลาเขียนบทละครนานถึง 2 ปีเพราะยากมากในการหาข้อมูลกว่าจะเขียนได้ มาถึงโปรดักชั่น ทางเราเเละผู้กำกับก็ค่อนขัางเกร็ง เพราะยังไม่เคยมีใครทำละครยุคนี้ เเละมีฉากสำคัญ เราต้องพยายามนำภาพวาดเหตุการณ์จริงที่มีในกระวัติศาสตร์มาวางเทียบเพื่อให้ออกมาสมบูรณ์และใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่สุด บางฉากอย่างฉากตลาดเราทำทั้งวันเพื่อออกมาเพียง 2 นาที ยังมีเสื้อผ้าเเละรายละเอียดที่เราพยายามอย่างมากเพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด” นางอรุโณชา กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนคนทำงานสื่อก็อยากทราบเสียงสะท้อนของคนดูและภาครัฐคิดกับเราอย่างไรในผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งในการทำงาน ตนก็พยายามเตือนเพื่อนร่วมงานในสถานีว่าขณะนี้เราอยู่ในอาการตื่นตระหนก เมื่อสื่อใหม่เข้ามา และมันไปฆ่าสื่อใกล้เคียงกับเรา เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เลยกลัวว่าวันหนึ่งจะถูกฆ่าไปด้วย เเล้วมันมีตัวเลขหลายอย่างออกชี้ไปในทิศทางว่าสื่อหลักจะเเย่

“ผมอยากจะบอกว่า อย่าไปกลัว อย่าไปเอาทุกเรื่องมาพูดรวมกันเป็นเรื่องเดียวกัน ผมยืนยันว่าว่าสื่อรองหรือสื่อโซเชียลช่วยเราได้มาก เห็นได้ในกรณีนี้ว่าเป็นสื่อที่ช่วยเรา กระเเสต่างๆ ของละครเรื่องนี้เกิดจากโซเชียลทั้งสิ้น ครั้งนี้เราแทบไม่ต้องจ้างครีเอททีฟเลย แล้วสื่อตัวนี้เองทำให้คนดูเรามากขึ้น เมื่อก่อนถ้าจะไปธุระข้างนอก ไม่มีทีวีเราจะไม่ได้ดู แต่สื่อใหม่เป็นการเพิ่มคนดูให้เราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นยืนยันว่าคนดูเยอะขึ้น เพียงแต่ว่าบริษัทสำรวจยังสำรวจไปไม่ถึง นอกจากนี้ยังมีการดูย้อนหลัง ซึ่งเราถือว่าเป็นโบนัสให้อีกต่อ” นายประวิทย์ กล่าวและว่า ต้องชื่นชมผู้จัดที่กล้าจะทำเรื่องนี้ในภาวะที่การแข่งขันสูง ทุกคนพยายามหาเรตติ้ง พยายามเรียกความสนใจ ส่วนใหญ่ไม่เป็นลักษณะที่ส่งเสริมและสร้างสรรค์

น.ส.จันทร์ยวีร์ หรือ รอมแพง กล่าวว่า เริ่มเขียนนวนิยายเมื่อปี 2549 ก็คิดว่าอยากจะเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย เลยอยากให้ออกมาสนุก เข้าถึงง่าย เพราะประวัติศาสตร์คนจะมองเป็นเรื่องเครียด เลยเขียนออกมาเป็นนวนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปีเศษในการเก็บข้อมูลในนิยาย คือต้องอ่าน ต้องย่อยข้อมูลจนวางออกมาเป็นกองๆ และวางไทม์ไลน์ของเรื่องได้ การเขียนเหมือนต่อจิ๊กซอว่าจะวางยังไง สอดแทรกยังไง แต่ใช้เวลาเขียนนิยายจริงๆประมาณ 1 เดือน

“ก็จะพยายามวางตัวละครให้กลมๆ เป็นมนุษย์มากที่สุด พยายามหาเหตุผลเพื่อให้รู้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ จะพยายามมองย้อนไปว่าเขาเจออะไรบ้าง พยายามสอดแทรกความคิดของเราที่เราคิดว่าเราไม่สามารถตัดสินคนในอดีตได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเคยเจออะไรมาบ้าง เราจะเอาประสบการณ์ที่เราเจอในปัจจุบันไปตัดสินคนในอดีตไม่ได้” น.ส.จันทร์ยวีร์ กล่าว

น.ส.จันทร์ยวีร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมเขียนนวนิยายบุพเพสันนิวาสภาค 2 ตอนนี้มีวางพล็อตไว้แล้ว เป็นแนวโรแมนติกคอมมาดี้ สอดแทรกประวัติศาสตร์ ในปลายอยุธยา สมัยพระเพทราชา ต่อถึงพระเจ้าเสือ โดยวางไว้ในนิยายจะจบประมาณยุคพระเพทราชา ส่วนแนวทางการเขียนก็เป็นลักษณะเดิมแต่อาจจะมีเซอร์ไพร์ด้วยการเอาตำนานและความเชื่อเข้ามาใส่ด้วย

นายคเณษ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ชมละครตอนเเรก แต่ได้ยินจากลูกศิษย์ ลูกค้าและเครือญาติ ว่าแม่การะเกด นางเอกของเรื่องเปิดตัวอย่างอล่างฉ่าง หรือปัจจุบันเรียกว่าเปิดตัวแรง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมและอากัปกิริยา สิ่งที่ต้องยอมรับคือการเลือกตัวละคร ทั้งรูปลักษณ์ ลักษณะ อากัปกริยาและการแต่งกายที่ค่อนข้างเหมาะสม อาจจะมีขัดบ้างแต่ก็เข้าใจว่าเป็นบริบทของละคร สมัยสมเด็จพระนารายณ์การติดต่อเรื่องเสื้อผ้าและเเพรพรรณจะมีมาจากภาคใต้และกลุ่มชาติพันธ์จากภาคใต้ค่อนข้างมากซึ่งในละครยังมีน้อยอยู่ แต่ที่ต้องยอมรับคือทำให้มีกระเเสคนแต่งกายด้วยชุดไทยมากขึ้น มีคนไทยหลงยุคไปเที่ยวอยุธยาเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชน นักเรียน และนักศึกษา เข้าร่วมฟังเสวนาจำนวนมาก โดยมีจำนวนมากสวมใส่ชุดไทยมาจับจองพื้นที่ก่อนเริ่มงานเสวนา ทั้งนี้ภายในงานมีจุดจำหน่ายชุดไทย และจุดถ่ายภาพซึ่งมีชุดไทยให้สวมใส่เพื่อถ่ายภาพซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ภายในงานยังมีการแสดงเพลงเรือ ชุด “เพลงเรือ กรุงเก่า เล่าขาน สานต่อความเป็นไทย” ตอนบุพเพสันนิวาส โดยคณะเเม่บัวผัน สุพรรณยศ พร้อมกิจกรรมออกร้านอาหาร โดยให้ผู้ร่วมงานได้ใช้เงินพดด้วงแลกซื้ออาหารยอดนิยม เช่น มะม่วงน้ำปลาหวานและขนมไทย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image