ไปทะเลกันดีกว่า! “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” ชวนเที่ยวชะอำ ฟังนิทาน คุยปราชญ์เมืองเพชร ส่องการค้าข้ามคาบสมุทร

เขานางพันธุรัตน์ เขาเจ้าลาย หรือเขานางนอน มีให้เรียกหลายชื่อ โดยตั้งตามนิทานท้องถิ่น ชวนฟินกับเรื่องราวหลากสีสัน สะท้อนสิ่งตกค้างทางความทรงจำเรื่องเศรษฐกิจการค้าในอดีตกาล

มีนาคม แสงแดดแสนสดใสในซัมเมอร์สาดส่องทั่วสยามประเทศ ฤดูกาลหมุนเปลี่ยน เข้าสู่หน้าร้อนที่มากมายไปด้วยสีสัน

(อดีต) สองกุมารสยาม ไม่ตกเทรนด์ เตรียมชักชวนกันไปสัมผัสสายลมเย็นจากท้องทะเล ในรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ประจำเดือนมีนาคม ณ ดินแดนที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรมจากการค้าข้ามคาบสมุทรอย่างเมืองเพชรบุรี โดยมีชื่อตอนสะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์แต่ครั้งอดีตกาล ว่า “เพชรบุรีมีเจ๊กกับแขก การค้าข้ามคาบสมุทรสุดสยาม”

ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เตรียมฝ่าเปลวแดดไปทอดน่องชุมชนชายทะเล 20 มีนาคมนี้ 14.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์”

ถ่ายทอดสดจากโบราณสถานยุคทวารวดีอายุกว่าพันปี นามว่า “ทุ่งเศรษฐี” ที่แม้ในวันนี้จะหลงเหลือเพียงซากฐานอิฐ ทว่า ทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีตที่แสนงดงาม ตั้งตระหง่านท่ามกลางฉากหลังซึ่งเป็นภูเขาเขียวขจีในเขตอำเภอชะอำ

ซากโบราณสถานทุ่งเศรษฐี อำเภอชะอำ สร้างในยุคทวารวดีกว่าพันปีมาแล้ว แสดงความรุ่งโรจน์ของชุมขนชายทะเลในแถบนี้

ย้อนเวลากลับไปเมื่อราว พ.ศ.1000 สองฟากถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทยอย่างถนนเพชรเกษม เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องด้วยเกี่ยวพันกับการค้าโลกระหว่างจีนกับอินเดีย และชนชาติต่างๆ ทางตะวันออกกลางจนถึงยุโรป

Advertisement
ปรางค์ขอมในวัดกำแพงแลง อีกมุมน่าทอดน่องในตัวเมืองเพชร

ชุมชนย่านนี้เป็นจุดแวะพักในการเดินทางของผู้คนทั้งทางบกและทะเล ศาสนสถานจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

คู่เพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเยาว์ กระทั่งเข้าเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากรอย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน จะชวนทอดน่องผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” ไปยังโบราณสถานทุ่งเศรษฐี สถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอดิน ฉาบปูน บันไดทางขึ้นอยู่บริเวณทิศตะวันออกและตะวันตก

ลัดเลาะตามแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วจินตนาการถึงประติมากรรมปูนปั้นที่เคยประดับประดาอย่างอลังการ โดยเฉพาะรูปใบหน้าบุคคลดูแปลกตาซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี โดย “มติชนทีวี” จะโชว์ภาพถ่ายแทรกระหว่าง “ไลฟ์” ให้ชมอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็น คนแคระ มกร สัตว์ในเทพนิยาย ไปจนถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งสะท้อนการยอมรับนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า รูปทรงสัณฐานเมื่อครั้งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์น่าจะเป็นเจดีย์ทรงกรม มีเจดีย์บริวารขนาดเล็กประดับที่มุมทั้ง 4 มีส่วนยอดเป็นปล้องไฉนคล้ายสถูปจำลองที่พบในเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี

“คันฉ่อง” ของนางพันธุรัตน์ เพื่อส่องดูความเรียบร้อยหลังแปลงร่างเป็นมนุษย์ ตามนิทานท้องถิ่นที่สนุกสนานชวนฟัง

กระเถิบออกไปอีกนิดยังฉากหลัง คือ เขานางพันธุรัต หรือเขาเจ้าลาย ที่มากมายด้วยเรื่องเล่าในท้องถิ่น ทั้งนิทานสุดฟินและวรรณคดีที่ถูกนำมาร้อยเรียงกับสถานที่เพื่ออธิบายชื่อบ้านนามเมือง โดยในครั้งนี้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร รับเกียรติร่วมออกเดินทางทอดน่องพร้อมเล่านิทานท้องถิ่นแสนสนุก ปลุกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการค้าสำเภาจีนตั้งแต่หลัง พ.ศ.1500 ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่น มหาเภตรา, ตาม่องล่าย ยายรำพึง หรือท้าวม่องล่าย เจ้ากงจีน และเจ้าลาย ที่แม้ฟังดูคล้ายๆ เป็นนิทานเพื่อความบันเทิง แต่แท้จริงแล้วได้บันทึกความทรงจำบางอย่างแต่ครั้งบรรพชน เล่าสืบต่อกันถึงรุ่นลูกหลาน

ปัจจุบัน กลายเป็นสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติที่อบอวลด้วยประวัติศาสตร์สังคม มีฐานะเป็นวนอุทยาน ประกอบด้วยเทือกเขาหินปูนที่เขียวขจีด้วยป่าเบญจพรรณ

บรรยากาศในตัวเมืองเพชรบุรี สงบ เรียบง่าย เก็บความทรงจำมากมายในวันวานให้ได้สัมผัสอย่างเต็มเปี่ยม

เขยิบเข้าไปในตัวเมืองเพชรบุรี สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่าย สุจิตต์และขรรค์ชัยยังเตรียมเล่าเรื่องราวของศาสนสถานสำคัญอย่าง “วัดมหาธาตุวรวิหาร” อารามเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ตระการตาด้วยพระปรางค์อันงามสง่า แม้เคยชำรุดทรุดโทรม ทว่า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานทรัพย์ให้พระยาสุรินทร์ฤาไชย ซ่อมแซมพระปรางค์ที่หักพัง แต่ไม่สำเร็จถึง 2 ครั้ง กระทั่ง พ.ศ.2479 พระสุวรรณมุนี (โต) ดำเนินการจนแล้วเสร็จ

ภายในวัด ยังมีศิลปกรรมสุดชดช้อยจนไม่อาจละสายตา ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติ อีกทั้งปูนปั้นซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญดังเช่นที่ทราบกันดีว่า สกุลช่างเมืองเพชรนั้นสืบสานฝีไม้ลายมือต่อมาอย่างไม่ขาดสาย

ออกจากเขตสังฆาวาสลอดซุ้มประตูวัด เป็นถนนสายเล็กๆ ขนานกับแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลพาดผ่านตัวเมืองหล่อเลี้ยงผู้คนมาเนิ่นนาน บ้านเรือนข้างทางบ้างก็เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นดูอ่อนหวานด้วยไม้ฉลุหลากลวดลาย บ้างเป็นตึกแถวเก่าแก่ที่ยังเก็บรักษาบรรยากาศในวันวานไว้อย่างแจ่มชัด อาทิ “ห้องภาพเพชรบุรี” ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ในเมืองที่แม้ในวันนี้จะซบเซาลงไป แต่ได้กลายเป็นพื้นที่บันทึกประวัติศาสตร์สังคมอันเปี่ยมด้วยสีสัน ภาพถ่ายทั้งขาวดำและรูปสีที่เริ่มซีดจาง มีชีวิตของชาวบ้านที่ถูกบันทึกไว้ในห้วงวินาทีที่ช่างภาพกดชัตเตอร์ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตา ถูกอัดรูปมาใส่กรอบวางหน้าร้าน

หนังสือพิมพ์และนิตยสารยังมีวางขายเต็มแผงที่ร้านเก่าแก่นามว่า “ศรีไทยพานิช” ชวนให้ 2 นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าและเก๋ารำลึกถึงความหลังครั้งสื่อกระดาษยังรุ่งเรือง

ปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร สืบทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น คงความงดงามไม่เสื่อมคลาย

อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งขรรค์ชัยและสุจิตต์ไม่พลาดในการเก็บภาพมาฝากกัน นั่นคือ “วัดกำแพงแลง” ที่รายล้อมด้วยกำแพงศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในชวนตื่นตาด้วยปราสาทศิลปะขอมถึง 4 องค์ โดย 3 องค์ด้านหน้าเรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ ปราสาททิศใต้ เดิมเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่งามสง่าจนลืมไม่ลง

ปิดท้ายด้วยการย้อนรอย “โคตรญาติย่ายาย” สุนทรภู่ ซึ่งอยู่ในตระกูลพราหมณ์เมืองเพชร ที่วัดเพชรพลี ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าของวัดดังกล่าว ก่อนมีการสร้างเสาชิงช้าใหม่อย่างในปัจจุบัน

“ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” รับชมสดๆ ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” วันอังคารที่ 20 มีนาคมนี้ เวลา 14.00 น. “


วิทยากรร่วมทอดน่อง

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว

ปราชญ์เมืองเพชร เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี มีผลงานมากมายเป็นที่ยอมรับ อาทิ กำสรวลสมุทร เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา, สุนทรภู่ อาลักษณ์เจ้าจักรวาล, เที่ยวปราสาทหิน ยลถิ่นกัมพูชา, สืบสนองสำนวนไทย, เกิดเป็นคนใต้ และบ้าหาเบี้ย เป็นต้น

เกิดที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่เพชรบุรี จบปริญญาตรีจากวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร รับราชการเป็นอาจารย์ กระทั่งเกษียณอายุที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เมื่อปี 2550 ในปีเดียวกันยังได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยก่อนหน้านั้น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ยกย่องเป็น เกตุทัตศาสตราภิชาน

ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากลุ่มคนรักเมืองเพชร

อังคารที่ 20 มีนาคมนี้ เตรียมรับชมเรื่องราวมากมายจากปากกูรูเมืองเพชร โดยเฉพาะนิทานท้องถิ่นหลากเวอร์ชั่นที่ไม่ใช่แค่สนุกสนาน หากแต่สะท้อนเรื่องราวในอดีตกาลที่ตกค้างในความทรงจำของผู้คนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image