นักปวศ.เผย ที่แท้ “ฟอลคอน” พูดฝรั่งเศสไม่เป็น แต่ใช้ภาษาโปรตุเกส

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เดิมมีความเชื่อกันว่าเมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้สนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์นั้น ฟอลคอนต้องพูดฝรั่งเศสได้ดี เพราะไม่เช่นนั้น ฟอลคอนจะเจรจาโดยเฉพาะเรื่องสำคัญลับๆ กับฝ่ายฝรั่งเศสได้อย่างไร ทว่า สิ่งที่เป็นจริงคือฟอลคอนพูดอ่านเขียนฝรั่งเศสไม่ได้ แต่ฟอลคอนพูดอ่านเขียนโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี

“บันทึกของเซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสลำดับที่ 2 ต่อจากราชทูตเดอ ลาลูแบร์ ที่เดินทางมาสัมพันธไมตรีเป็นคณะที่สองในปลายสมัยพระนารายณ์ปี 2230 ระบุว่า ลาลูแบร์เป็นผู้ที่ต้องใช้ภาษาโปรตุเกสในการคุยกับฟอลคอน และตอนใดใช้ภาษาฝรั่งเศส บาทหลวงตาชารด์ ชาวฝรั่งเศสสังกัดสำนักเยซูอิต นั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่ล่าม ส่วนราชทูตเซเบเรต์นั้นก็ใช้ภาษาโปรตุเกสได้ดี ในงานเขียนของท่านบางตอนที่ฟอลคอนกับลาลูแบร์สนทนากันก็ถูกบันทึกไว้เป็นภาษาโปรตุเกสด้วย”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศาสตราจารย์ พิเศษ ขจร สุขพานิช นักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาในช่วงสมัยดังกล่าว ก็ระบุไว้ว่า ฟอลคอนพูดฝรั่งเศสไม่ได้ ส่วนนายพลเดฟาชที่คุมกำลังทหารฝรั่งเศสมากับคณะทูตลาลูแบร์นั้นก็พูดภาษาโปรตุเกสไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องใช้บาทหลวงเดอะ แบส ผู้รู้ทั้งสองภาษาที่เดินทางมาในคณะราชทูตนี้ด้วย เป็นล่ามให้กับทั้งสองท่าน

“บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ และบาทหลวงตาชารด์ ที่เดินทางมากับคณะทูตของเชอร์วาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เมื่อปี 2228 ต่างก็ฝึกฝนเรียนภาษาโปรตุเกสจนใช้การได้ดี ทั้งนี้เพราะอยุธยาใช้คนโปรตุเกส ซึ่งเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาปักหลักอาศัยทำมาหากินในอยุธยา และยังมีผู้สืบสัญชาติต่อเนื่องเป็นชุมชนขนาดใหญ่ไปจนถึงกรุงแตกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่เป็นล่ามในการติดต่อกับฝรั่งชาติอื่นๆ ทั้งภาษาโปรตุเกสก็ถือเป็นภาษาการค้าต่างแดนอีกหนึ่งภาษาในบรรดาเมืองท่าหลายแห่งในเอเชีย” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

 

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image