‘สุรพศ’ชี้ ‘โต’ไม่เข้าใจโลกจากมุมมองคนอื่น เผยรูปเคารพเป็น’สัญลักษณ์’สื่อสิ่งที่เคารพ

จากกรณี นายวีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ “โต” อดีตนักร้องนำวง “ซิลลี่ฟูล” ได้จัดรายการกับพิธีกรคู่หู โดยพูดคุยกันในประเด็นที่ว่า “ทำไมอิสลามถึงไม่มีรูปปั้น เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ” ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ตนไม่คิดว่าคำพูดของโตซิลลี่ฟูลเป็นคำพูดเชิงลบหลู่ แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่สามารถเข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น

“ผมไม่คิดว่าคำพูดของคุณโต ซิลลี่ฟูล เป็นคำพูด “เชิงลบหลู่” (ถ้าเขาจะวิจารณ์ชาวพุทธก็ย่อมมีเสรีภาพวิจารณ์ได้) แต่คำพูดของเขาเป็นคำพูดของ “คนที่ไม่สามารถเข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น” ซึ่งเป็นกันมากในบรรดาบุคคลทางศาสนาต่างๆ คุณเอาความเชื่อของชาวมุสลิมเรื่อง “ห้ามบูชารูปปั้น” มาตัดสินคนอื่น และใช้ตรรกะผิดๆ ว่า

“ทำไมอิสลามถึงไม่มีรูปปั้น เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ… ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นเนี่ยผลักก็ตกแตกละ มันต่ำกว่าผมแล้ว มันไม่มีชีวิต จะไหว้ทำไมสิ่งไม่มีชีวิต รูปร่างอัปลักษณ์กว่าผม ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้”

Advertisement

ที่ว่าเป็นตรรกะผิดๆ เพราะคนที่เขาเคารพรูปปั้น เขาเคารพเพราะถือว่ารูปปั้นเป็น “สัญลักษณ์” สื่อถึงบางสิ่ง เวลาเขากราบรูปปั้น เขาไม่ได้คิดว่ากำลังกราบหินกราบปูน แต่คิดว่ากำลังกราบสิ่งที่รูปปั้นสื่อถึงนั่นคือสิ่งที่เขาเคารพ

เช่นเดียวกันเวลาคุณทำอะไรในห้องละหมาด คุณคงไม่คิดว่ากำลังพูดกับห้องนั้น กับอากาศหรืออะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์บางอย่างในห้องนั้น แต่คุณคิดว่าตนเองกำลังสื่อสารกับสิ่งที่คุณเคารพตามความเชื่อของคุณ

โลกนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ธงชาติไม่ได้เป็นเพียงแค่ผ้าผืนหนึ่ง ศาสนา ความเชื่อต่างๆ ล้วนมีสัญลักษณ์ของตนเอง ไม่งั้นชาวมุสลิมจะมีเครื่องแบบที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นมุสลิมของตนเองไปทำไม

Advertisement

สัญลักษณ์ทางศาสนา/ความเชื่อของพวกคุณสำคัญใช่ไหม? แน่นอน สัญลักษณ์ตามความเชื่อของศาสนาอื่นๆ ก็ย่อมสำคัญสำหรับคนที่เชื่อเช่นกัน

ในโลกสมัยใหม่นั้นเวลาพูดถึง “คนดี” คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่จำเป็นของคนดีคือ “ความสามารถเข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น” ถ้าศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีจริง ทุกศาสนาก็น่าจะสอนให้ศาสนิกมีคุณสมบัติของคนดีในโลกสมัยใหม่ได้ด้วย”

โดยต่อมาได้โพสต์อธิบายเพิ่มเติมว่า

“รูปเคารพทางศาสนาและความเชื่ออื่นๆ เป็น สัญลักษณ์ อย่างหนึ่ง คำว่า “สัญลักษณ์” หมายถึง เครื่องมือสื่อความหมายบางอย่าง มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธสัญลักษณ์ได้ เพราะถ้าไม่ใช้สัญลักษณ์มนุษย์ย่อมไม่สามารถสื่อความหมายหรือสื่อสารกันได้

เช่น ภาษาก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง คำว่า “น้ำ” ไม่ใช่ “ตัวน้ำจริงๆ” คำว่า God ก็ไม่ใช่ตัว God จริงๆ ไม่มีใครเชิญ God จริงๆ มาปรากฏตัวให้คนทั้งหลายเห็นได้ เขาจึงใช้คำว่า “God” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางภาษาเพื่อสื่อความหมายถึง God ตามความเชื่อของเขา

ในทางประวัติศาสตร์ ศาสนาที่นับถือ God องค์เดียวเกิดขึ้นบนความไม่พอใจการนับถือ gods หลายองค์ที่มีการสร้างรูปเคารพมากมาย การเกิดขึ้นของศาสนา God องค์เดียวจึงมี “ความเป็นการเมือง” ในตัวเอง เพราะเป็นการต่อสู้กับศาสนาที่เชื่อในเทพหลายองค์

การปฏิเสธรูปเคารพแบบศาสนาเทพหลายองค์ก็คือการปฏิเสธการใช้รูปเคารพเทพหลายองค์เป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อ และการรวมผู้คนเข้าด้วยกันของชนเผ่าและนครรัฐต่างๆ แล้วเสนอความเชื่อเรื่อง God องค์เดียวเป็นสัญลักษณ์รวมชาติพันธุ์และความเป็นหนึ่งเดียวในทางสังคมการเมืองขึ้นมาแทน

แต่ศาสนาที่เชื่อ God องค์เดียว ต่างก็ใช้ God เป็นสัญลักษณ์แบ่งแยก เพราะต่างก็อ้างว่า God ตามความเชื่อของพวกตนคือ “God องค์ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว” ประวัติศาสตร์ได้บอกเราชัดเจนแล้วว่า God ถูกใช้เป็น “สัญลักษณ์” แห่งการแบ่งแยก การกดขี่เสรีภาพ และสงคราม

Cr. ข้อความข้างล่างจากหนังสือ “ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์” ของ Richard Holloway หน้า 77″

ภาพจากเฟซบุ๊ก สุรพศ ทวีศักดิ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image