วงเสวนาชูหนังสือ ‘อินเดียโมเดลกับสยามใหม่สมัยร.5’ มองอิทธิพลอินเดียยุคปฏิรูปประเทศ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 เมษายน ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน(มติชนอคาเดมี) นิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดงาน ศิลปวัฒนธรรมเสวนา “อินเดียโมเดลกับสยามใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5″ โดยมีนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ น.ส.กัณฐิกา ศรีอุดม อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้แปลหนังสือ “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย” ซึ่งเขียนโดยนายสัจฉิทานันท สหาย ชาวอินเดีย และนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ดำเนินรายการ ร่วมเสวนา โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากและร้านจำหน่ายหนังสือ

นายชาญวิทย์กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จฯมาเยือนอินเดียทำให้พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรว่าคนอินเดียอยู่กับอังกฤษอย่างไร อังกฤษทำอะไรกับคนอินเดียบ้าง แล้วสยามจะต้องทำอย่างไรที่จะไม่ให้อังกฤษมีอิทธิพลกับประเทศไทยซึ่งการเสด็จประพาสอินเดียไม่เคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน

“ในช่วงท้ายของหนังสือ “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย” การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในรัชกาลที่ 5 มีความเห็นขัดแย้งตามมาด้วยเหตุการณ์วิกฤตการณ์วังหน้า จนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง ส่วนจุดสำคัญของโลกสมัยใหม่คือสิงคโปร์และกัลกัตตาที่สยามไปดูว่าเป็นอย่างไรและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พบว่าความเป็นโลกสมัยใหม่ต้องมีหอสมุด พิพิธภัณฑ์และสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศศิวิไลซ์ ในสมัยนั้นไทยมองอังกฤษในแง่ดี แต่จริงๆ แล้วโหดเหี้ยม ชาวอังกฤษในอินเดียยินดีต้อนรับสยามมากๆ เพราะจะได้ตัดคู่แข่ง ไม่ให้ไปเข้ากับประเทศฝรั่งเศส” นายชาญวิทย์กล่าวเสริม

Advertisement

น.ส.กัณฐิกากล่าวว่าการเดินทาง 92 วันของรัชกาลที่ 5 สิ่งที่น่าสนใจ มีผู้ตามเสด็จที่มีความสำคัญเกือบ 30 คน ในหนังสือ “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย” ระบุว่าคนที่ตามเสด็จเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง สิ่งที่สำคัญ ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1872 คณะเดินทางที่เข้าไปในสโมสรอาเซียติค ซึ่งเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์อินเดีย ทำให้ต่อมาเกิดหอสมุดวชิรญาณ และเป็นโมเดลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในประเทศไทย

น.ส.กัณฐิกา กล่าวต่อว่า ช่วงที่เสด็จกัลกัตต้าได้ดูการผลิตเหรียญกษาปณ์ จึงมีนโยบายสั่งเหรียญจากที่อินเดีย เป็นการเปลี่ยนเงินที่จากที่ตอนนั้นใช้หอยเบี้ย ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาดูงาน ได้ไปดูสวนสัตว์ที่ให้สัตว์อยู่อย่างสบาย นี่คือรูปแบบที่ท่านมาทำเป็นสวนสัตว์ดุสิต และการปรับเปลี่ยนระบบประปาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชนชั้นวรรณะในอินเดีย รวมถึงการเสด็จไปดูเรือนจำ ที่ทางกัลกัตต้าจะให้นักโทษผลิตสินค้าหัตถกรรม ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบของระบบเรือนจำไทยในปัจจุบัน

“หนังสือได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เพราะว่าข้อมูลพวกนี้ไม่มีในประเทศไทย ข้อมูลส่วนใหญ่ของไทยตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมา เราหาหลักฐานจากต่างประเทศมาโดยตลอด “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย” เป็นหนังสือที่ศึกษาโดยคนอินเดีย เนื่องจากอาจารย์สหายท่านเป็นคนที่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดีย โดยสื่อมวลชนในอินเดีย มีทั้งที่เขียนโดยฝรั่งและชาวอินเดียเอง ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี ดังนั้นท่านจึงมีความเข้าใจต่ออินเดียในสมัยนั้นและ การเสด็จพระราชดำเนินของร.5 เป็นเรื่องที่เราน่าจะได้ศึกษาให้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วอินเดียมีความสำคัญกับเรา หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก ถ้าอยากรู้เรื่องสมัยต้นรัชกาลที่ 5 จะต้องอ่าน” น.ส.กัณฐิกากล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image