สสวท.เปิด’หลักสูตรชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ’รับยุคไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้บริหารสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการเรียนการสอน “มิติใหม่หลักสูตรไทย ชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ” ของโรงเรียนหนองเสือวิทยาคม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี หลักสูตรใหม่ที่สสวท.เป็นผู้พัฒนาก่อนส่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อนำไปบรรจุหลักสูตรให้นักเรียนทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า สสวท.ดำเนินการงานพัฒนาหลักสูตร หนังสือเรียน สื่อ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้นักเรียนพัฒนาตามศักยภาพอย่างยั่งยืน โดยสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เพิ่มสาระเทคโนโลยีเป็นสาระที่ประกอบด้วย วิชาการออกแบบและเทคโนโลยี และวิชาวิทยาการคำนวณ ซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิมจากสอนให้เป็นผู้ใช้ (user)คอมพิวเตอร์ สู่การเป็นผู้ที่มีทักษะกระบวนการคิดอย่างมีระบบ สามารถใช้ความรู้พัฒนาการทำงาน สร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชีวิต และอนาคตได้

ผู้อำนวยการสสวท.กล่าวต่อว่า การเรียนรู้วิทยาการคำนวณ หรือ Computing science) นักเรียนจะไม่ได้เรียนแค่โปรแกรมพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่จะได้กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ในสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่ทำให้นักเรียนสามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้หรือมีคำถามปลายเปิด เมื่อต้องนำแต่ละวิชามาปรับใช้ด้วยกันทั้งในชั้นเรียนหรือการทำงานในอนาคต เพราะวิชาการคำนวณเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบเขตการเรียนการสอนของวิชาวิทยาการคำนวณ ประกอบด้วยการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งเป็นวิธีการคิดและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน สามารถวิเคราะห์ มองเห็นภาพรวมและรูปแบบของปัญหา ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลการสอนให้รู้จักเทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นด้านระบบอัตโนมัติในชีวิตประจำวัน พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร เป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

“หลักสูตรใหม่และการเรียนรู้ของเด็กไทยในวันนี้จึงต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทันสังคมโลกที่เปลี่ยนไป โดยเน้นที่การสร้างคนให้มีทักษะการคิด วิเคราะห์ จัดลำดับ แก้ปัญหา และเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ความรู้เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิต การทำงาน การสร้างอาชีพที่แข่งขันได้ในโลกไร้พรมแดน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากคนเป็นผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี “ ผอ.สสวท.กล่าว

ด้านดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสสวท. กล่าวว่า ชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ เป็นการสอนเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดให้สามารถคิดวิเคราะห์กำหนดรายละเอียดของปัญหา วางแผน ดำเนินการ และตรวจสอบประเมินแก้ปัญหาต่างๆได้ จากเดิมที่เรียนแบบท่องจำ ขณะที่ปัจจุบันมีปัญหาหลายรูปแบบเข้ามาในยุคที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที ซึ่งบางเรื่องหากใช้แต่วิธีท่องจำจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าหากสอนเด็กให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและให้นักเรียนกล้าคิด เชื่อว่าจะทำให้เด็กมีคุณภาพ มีความฉลาดทางความคิด สามารถตัดสินใจและวิเคราะห์แก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ด้วยตนเอง
?ด้านนางอัญชลี เกตุบำรุง ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองเสือวิทยาคม กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมานักเรียนไม่กล้าแสดงออกและมีปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อมีการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณทำให้นักเรียนได้รู้จักการวางแผน คิดวิเคราะห์ อีกทั้งนักเรียนเกิดการมีส่วนร่วมและรู้สึกสนุกสนาน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการวางแผนในชีวิตและการเรียน มีทักษะชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการคิดที่เห็นชัดเจน เมื่อก่อนนักเรียนจะใช้วิธีการท่องจำ ครูถ่ายทอดความรู้จะจด ท่อง และนำไปสอบ แต่ปัจจุบันนักเรียนลงมือปฏิบัติมากขึ้นทำให้เด็กจำได้ดีขึ้น ที่สำคัญคิดวิเคราะห์เก่งและกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย

สำหรับผู้สอนที่โรงเรียนหนองเสือวิทยาจะให้ครูคอมพิวเตอร์ซึ่งส่วนใหญ่จบทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นผู้สอน และมีความสามารถในการถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้เริ่มนำวิชาดังกล่าวสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
อาจารย์เรวัตร งะบุรงค์ อาจารย์โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม จ.ปทุมธานี อาจารย์ผู้สอนกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาจากการทำงานหรือชีวิตประจำวัน แต่ละคนมีขั้นตอนและใช้เวลาในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ ซึ่งในชั้นเรียนวิทยาการคำนวณนี้ เราจะปลูกฝังวิธีการคิดแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ ถูกต้องและรวดเร็ว สำหรับชั่วโมงนี้ได้นำกระบวนการจัดการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Unplugged สอนลำดับการคิดที่เรียกว่าขั้นตอนวิธี หรืออัลกอริทึม ให้กับนักเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหา โดยใช้โจทย์ปัญหาที่เป็นสถานการณ์ที่นักเรียนพบเจอในชีวิตประจำวัน ฝึกวิธีคิดให้เป็นลำดับขั้นตอน เช่นหากนักเรียนต้องการใส่เสื้อเชิ้ต ลำดับขั้นตอนวิธีในการใส่เสื้อเชิ้ต ที่ต้องเริ่มต้นจากการหยิบเสื้อ สวมเสื้อแขนขวา สวมเสื้อแขนซ้าย และติดกระดุม การทำงานเป็นลำดับดังกล่าว เชื่อว่า ชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ ที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยให้นักเรียนได้มีกระบวนการคิดแก้ปัญหาและสามารถคิดเชิงวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป

Advertisement

ด้านด.ญ.จนิญญา เกสรธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 กล่าวว่า จากที่ได้เรียนวิชาวิทยาการคำนวณนั้น ทำให้ทราบถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆในการดำเนินชีวิต จากเดิมที่วุ่นวายและแก้ไขอย่างไม่เป็นขั้นตอน เช่น ลืมรีดชุดนักเรียน ลืมจัดตารางสอน จัดตารางสอนผิดวัน เป็นต้น ปัจจุบันสามารถนำความรู้ไปแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นตอนและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ประยุกต์กับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image