30 วันอันตราย อนค.เบียดแซงโค้ง จับตาหมัดเด็ด พปชร.

นับถอยหลังวันเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม สถานการณ์การเลือกตั้งเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
เหตุการณ์ความพลิกผันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันรับสมัคร ส.ส.และการยื่นรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงมีแรงกระเพื่อม
กระทั่งทำให้พรรคการเมืองในลู่การแข่งขันได้รับผลสะเทือนติดตามมา
พรรคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหนีไม่พ้นพรรคไทยรักษาชาติ เพราะแทนที่จะเปิดฉากเดินหน้าหาเสียงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ หลังจากวันรับสมัคร แต่กลับต้องมาแสวงหาพยานและหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี
คดีที่ กกต.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพราะทำผิดตามมาตรา 92
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทษช.เพิ่งตั้งหลักได้ และส่งหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหา ยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คิดล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเป็นประมุข และเห็นว่า กกต.ยื่นคำร้องฟ้องยุบผิดขั้นตอน
ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติกำลังเซ พรรคที่ได้รับผลกระทบตามติดหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย เพราะการที่ ทษช.ชะงัก ย่อมกระทบต่อยุทธการ “แตกเซลล์”
เพื่อไทยที่ประกาศจุดยืน เป็นขั้วไม่เอา คสช. ได้รับผลกระทบ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐกลับได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ ยิ่งการยื่นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สมควรเป็นนายกฯของพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งทีแรกดูไม่เป็นบวก กลับกลายเป็นบวกขึ้นในคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์นั้น
เท่ากับว่า พปชร. มีทั้งพรรค สมาชิกพรรค ผู้สมัครของพรรค และยังดึงเอานายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมาเป็นแคนดิเดต
หวังเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม
อย่าลืมว่า พปชร.มีจุดยืนสนับสนุน คสช. และประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯมาเนิ่นนาน
เป็นพรรคในขั้วตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ และอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุบบิ๊กตู่
เมื่อพรรคไทยรักษาชาติสะดุด พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบ พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะกอบโกยคะแนนเสียง
ดังนั้น จึงมีความเคลื่อนไหวของ พปชร.ไปทั่วประเทศอย่างคึกคัก
คึกคักถึงขนาดประกาศบนเวทีหาเสียงว่า พปชร.คือพรรคใหญ่
พปชร.คือแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหน้า

อย่างไรก็ตาม ในฟากฝั่งของพรรคที่ไม่เอา คสช. โปรดจับตาพรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ทั้งนี้ เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ได้สะท้อนจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาเช่นกัน
ในช่วงเย็นของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แกนนำพรรคอนาคตใหม่ต่างเปิดแถลงข่าว และประกาศจุดยืนของ อนค. อีกครั้ง
เป็นจุดยืนการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ส่วนบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แม้จะอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมืองก็ไม่สนับสนุน
และหลังจากเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เกิดการพลิกผัน พรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็นพรรคที่ปลดแอกจากข้อครหา
อนค.ไม่ใช่พรรคการเมืองในยุทธการ “แตกเซลล์”
พรรค อนค.กลายเป็นพรรคที่มีอิสระอย่างชัดเจน
ที่สำคัญคือ จุดยืนดังกล่าวถูกใจประชาชน
ถูกใจที่เห็นจุดยืนเช่นนี้จาก อนค.

ต่อมา ได้เกิดปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” ผลักดันให้ธนาธรได้รับความนิยมจากมวลชนอย่างแจ่มชัด จนกระทั่งกลายเป็น “เป้า” ที่เริ่มมีการกล่าวหา
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การกล่าวหาเบี่ยงเบนจากพรรคเพื่อไทยที่เคยถูกถล่มอย่างหนัก และเปลี่ยนจากการโจมตีพรรคไทยรักษาชาติ
กลายมาเป็นการรุมถล่ม “ธนาธร” และพรรคอนาคตใหม่
คลิปที่นายธนาธรเคยปราศรัย หรือเคยบันทึกไว้แพร่กระจายในสังคมออนไลน์อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อกล่าวหาเรื่อง “แดงรุ่นใหม่” ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อกล่าวหาเรื่องผิด พ.ร.บ.คอมพ์
ล่าสุดหยิบยกเรื่องการลงประวัติผิดที่มีเสียงว่า “ผิดถึงขั้นยุบพรรค”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ และนายธนาธร ในระยะนี้ ตอกย้ำข้อสันนิษฐานว่า “กำลังมาแรง”
ดังนั้น แม้ ทษช.จะเพลี่ยงพล้ำ และกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดียุบพรรค แต่คะแนนเสียงจากขั้วไม่เอา คสช. ก็ยังวนเวียนอยู่ในขั้วนี้
พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่ได้รับอานิสงส์
ธนาธรกลายเป็นหนึ่งในตัวเต็ง

Advertisement

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้รับอานิสงส์เช่นนี้ คาดการณ์กันว่าพรรคที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ประกาศตัวเป็นขั้วประชาธิปัตย์
กระทั่งแวดวงการเมือง โดยเฉพาะ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แบ่งขั้วการเลือกตั้งครั้งนี้ออกเป็น 3 ก๊ก
ก๊ก พปชร.และ 250 ส.ว. ก๊กเพื่อไทยและเครือข่าย และก๊กประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่าจะสนับสนุน คสช.หรือว่าไม่
ขณะที่ฐานเสียงประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ใน กทม. และพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่นั้น เริ่มมีแรงกระเพื่อม
ว่ากันว่า เมื่อ อนค.มีความชัดเจน และแสดงความเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทยได้
บางที ปชป.อาจจะมี ส.ส.มากเฉพาะแต่ในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น
ส่วนฐานที่มั่นเดิมอื่นๆ อาจต้องแบ่งไปให้ อนค.

จากสัปดาห์นี้เรื่อยไปถึง 24 มีนาคม เหลือเวลาอีกประมาณ 30 วัน ขณะที่การแข่งขันบนสนามเลือกตั้งเข้มข้นมากขึ้น
เมื่อ กกต.มีความเห็นว่าสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถไปช่วยหาเสียงได้ ตามคำหารือของพรรคภูมิใจไทยที่เคยสอบถาม
ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังสอบถาม กกต. เรื่องบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯ กับการหาเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เพราะแม้การเลือกตั้งจะเข้าสู่การหาเสียงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ พปชร.กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เดินกันไปคนละทาง
นี่เป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
แต่หาก พปชร.เสนอ แล้ว กกต.ตอบรับ เปิดไฟเขียวให้บิ๊กตู่ขึ้นเวทีปราศรัยได้
บางที พปชร.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเวทีตอกย้ำความมั่นใจว่า พปชร.จะต้องชนะเลือกตั้ง
และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พร้อมเป็นนายกฯต่อไป
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองอื่นไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และอื่นๆ ก็จะต้องงัดเอา “หมัดเด็ด” ออกมาแสดงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
นับแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป สนามเลือกตั้งทุกจังหวัด จะดุเดือดร้อนแรง
เพียงหวังเพื่อชัยชนะที่จะมีขึ้นจากแรงศรัทธาของประชาชนผู้มีสิทธิ
หวังชนะการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image