รายงานหน้า 2 : นานาทรรศนะพรรคการเมือง เก็บภาษีกับการพัฒนาประเทศ

หมายเหตุ ความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองในเวทีเสวนา “นโยบายภาษีอากรเพื่อการพัฒนาประเทศ” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาภาษีอากร ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์


 

พิสิฐ ลี้อาธรรม
ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศมักดูที่การคลังของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะการขาดดุลและการมีหนี้ หากสองสิ่งนี้สูงเพราะรายได้ต่ำ การลงทุนก็อาจติดลบได้

Advertisement

เราทราบดีว่าทุกวันนี้สังคมต้องการให้รัฐเข้าไปอุ้มชูเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปี โลกต้องไม่มีคนยากจนอีกต่อไป เราต้องดูแลให้ทุกคนมีรายได้ตามสมควร

ทุกพรรคมีโครงการช่วยคนจนมากมาย ประชาธิปัตย์ได้คำนวณรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ กว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการแก้ไขหลายประการ คือ ปรับระบบโครงสร้างการเก็บภาษี พร้อมยกฐานะกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรให้เป็นอิสระในการจ้างบุคคล ปรับระบบโครงสร้างของ 3 กรมนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเสียภาษี เป็นระบบวันสต็อปเซอร์วิส ไม่ใช่ระบบราชการ

ขณะที่ระบบกลไกการแข่งขันบ้านเราพิกลพิการ เรื่องรายจ่ายไปอยู่กับสำนักงบประมาณแผ่นดิน แต่กระทรวงการคลังที่ไม่เก่งเรื่องรายจ่ายก็ไปกู้มาปล่อยให้หน่วยราชการใช้ได้เลย

ก่อนมีการปฏิวัติ นายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทยได้มีการเซ็นหนังสือออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร และก็มีการให้อำนาจนายกฯไปใช้ได้เลยโดยไม่มีการผ่านรัฐสภา

กลไกตรงนี้ต้องแก้ไข เพราะเป็นตัวบั่นทอนกำลังเศรษฐกิจในประเทศ และก่อให้เกิดการรั่วไหลได้ง่าย

ทั้งนี้ กลไกรายจ่ายที่ผ่านมามีการทำงบประมาณแบบขาเดียว คือส่งแต่งบประมาณแผ่นดิน แต่งบรายได้ไม่ส่งสภา ขอเสนอให้มีกลไกการตรวจสอบ ด้านสำนักงบฯต้องมีอำนาจมากขึ้นในการดูรายจ่ายของต่างประเทศ

ต่อมาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ขณะนี้มีโครงสร้างภาษีหลายอย่างที่ล้าสมัย ขณะเดียวกันต่างชาติที่มาซื้อบ้านในประเทศไทยเป็นหมื่นๆ ล้าน เราควรจัดเก็บอากรเขา หากได้สัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้เงินหลักพันล้านแล้ว

สุดท้ายเรื่องของอีคอมเมิร์ซเราเสียเปรียบชาวต่างชาติมาก ต้องดูแลกันต่อไป

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

พรรคประชาชาติคิดว่าเราต้องปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ ควรมีองค์กรอิสระหรือสถาบันต่างๆ ที่เป็นอิสระมาดูเรื่องภาษีอากรและงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่ายที่เป็นอิสระ

คำว่าอิสระในที่นี้จะต้องไม่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจ แต่อาจยึดโยงกับประชาชน โดยทฤษฎีของตนคือ อะไรที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดินต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน โดยที่เงินภาษีอากรต้องเป็นเงินของประชาชน

หากมีองค์กรจัดทำนโยบายเรื่องการจัดเก็บ มองว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนอัตราภาษีอะไรมาก เราก็จะเพิ่มเงินได้เยอะ แค่การสมัคร ส.ส.ก็ขอให้มีการเสียภาษีย้อนหลังไป 3 ปี เพราะผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมากอาจไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีจริงๆ เมื่อไปตรวจสอบพบว่ามีผู้ยืนยันแบบประมาณ 10 ล้านคน แต่เสียจริงๆ เพียงแค่ 3 ล้านคน

ทั้งนี้ คนทั่วไปยังคิดหรือเข้าใจว่าคนชั้นกลางเป็นคนจ่ายภาษี แต่เดิมจริงๆ เป็นคนทั้งประเทศที่ต้องจ่ายภาษี เพราะเรามีการผลักภาษีเป็นทางอ้อม ต้องทำให้คนที่เหลื่อมล้ำมากอยู่ได้ ให้มีข้าวกิน

เรื่องเสียภาษีนั้น จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนจำนวนกว่า 50 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยื่นแบบเสียภาษี เพราะประโยชน์ของการเสียภาษีกลับไปอยู่ที่คนร่ำรวย แทนที่เงินก้อนนี้จะนำไปช่วยเหลือด้านการศึกษา สาธารณสุข ทำให้คนมีความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตต้องมีมาตรการต่อต้านภาษีการทุจริต

แต่วันนี้กรมสรรพสามิตยังมีช่องโหว่ที่ปล่อยปละละเลยอยู่

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เดี๋ยวนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาษีต่ำ เพราะเมื่อภาษีสูงคนก็พยายามจะหนี คนเก็บก็พยายามจะไล่เก็บ ถ้าดูความเจริญจากประเทศต่างๆ ในโลก แต่ละประเทศมีการพัฒนาถนน รถไฟ เช่น อเมริกาเจริญโดยการสร้างรถไฟจากตะวันออกไปยังตะวันตก จีนสร้างรถไฟด่วน มีสะพานยาว 150 กิโลเมตร ข้ามไปยังเกาะต่างๆ มีต้นทุนต่ำ ต้นทุนการขนส่งต่ำ นักธุรกิจเก่งขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพราะขนของได้ถูก ซื้อวัตถุดิบได้ราคาถูก ประชากรมาจากที่ไหนก็สามารถทำงานได้ โครงสร้างพื้นฐานสามารถสร้างได้โดยไม่ต้องจัดเก็บภาษี เพราะได้จากตัวของมันเอง ถ้าทำแล้วไม่คุ้มค่าก็ไม่ต้องทำ ถ้าทำแล้วคุ้มค่าก็ต้องจ่ายเงินได้เอง ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บค่าภาษีในอัตราที่สูง

สิ่งสำคัญในประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งคือท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นหน่วยที่เสียภาษีอยู่ แต่ได้รายได้น้อย ดังนั้น พรรคขอเสนอให้ท้องถิ่นทั้ง 76 จังหวัดบริหารตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อจัดการทุกอย่างในจังหวัด รวมถึงตำรวจ

ด้านเทคนิคหรือวิทยาศาสตร์อาจทำจากส่วนกลางหรือเขต โดยผู้ว่าฯเป็นผู้บริหารสูงสุดของทุกส่วนงานในจังหวัด ส่วนการจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้อย่างไรนั้นนั่นก็คือประเด็นหลัก

ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างคือ หน่วยจัดเก็บภาษีก็เป็นส่วนราชการ ขอเสนอให้มีกระบวนการจัดเก็บภาษีอิสระ ซึ่งไม่ใช่การอิสระกับทุกคน แต่เป็นอิสระในกระทรวงการคลัง ที่ต่างกันคือไม่ได้ใช้เงินเดือนราชการ แต่ใช้ระบบบริหารเหมือนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรายได้ของเขาคือ 0.1-1 เปอร์เซ็นต์ ของภาษีที่เก็บได้ สามารถจดจำง่ายและคนรู้

พิชัย นริพทะพันธุ์
ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ

สิ่งที่พรรคไทยรักษาชาติเห็นคือ 1.ในอนาคตรัฐต้องเล็กและรวย เพราะอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งเทคโนโลยีเอไอ โรโบติก ทำให้คนตกงานจำนวนมาก

ดังนั้น รัฐต้องมีรายได้เยอะเพื่อเลี้ยงคนที่ด้อยโอกาสให้พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ และขนาดของรัฐต้องเล็กลง ทำให้รายจ่ายของราชการลดลง แล้วนำเงินนั้นไปสนับสนุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า

2.การลดภาษีนิติบุคคล และ 3.คิดระบบภาษีล่วงหน้า

ที่ผ่านมา ในประเทศอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มียูนิคอน หรือบริษัทที่มีมูลค่าราวพันล้านเหรียญ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมากภายใน 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่บ้านเรา เมื่อมีการควบคุม ไม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ทางด้านนี้ ทำให้เราไม่มี

ส่วนตัวไม่เชื่อว่าคนไทยฉลาดน้อยกว่าประเทศข้างต้น การเข้าถึงเทคโนโลยีเรามากกว่าเยอะ เพียงแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมาเราเสียโอกาสมีบริษัทยูนิคอนเป็นของตัวเอง

ขณะเดียวกันต้องคิดว่าถ้าเราปล่อยให้ต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจอนาคต โดยที่เราไม่มีธุรกิจของเรารองรับ ย่อมเสี่ยงต่อการสูญเสียภาษีอากร สูญเสียรายได้ต่างๆ ต้องคิดให้ดีๆ ว่าแนวคิดในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ แนวคิดการสร้างรายได้สำหรับพรรคเรามีอยู่มากมาย หนึ่งคือไทยต้องกลับไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สองคือ การเชื่อมต่อกับต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างดิจิทัลอีโคโนมีใหม่ สร้างยูนิคอนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

หลักการทางภาษีที่เข้าใจ และไม่รับรองว่าคนอื่นต้องเข้าใจหรือเชื่อตามคือ หากแยกตามกรมจัดเก็บภาษีสามารถแบ่งได้ 4 กลุ่ม 1.ภาษีสรรพากร มุ่งเน้นจัดเก็บจากรายได้ เช่น รายได้สุทธิ เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.ภาษีศุลกากร ใช้ในการควบคุมการส่งสินค้าออก การนำสินค้าเข้า ในอดีตเคยเป็นแหล่งภาษีที่สำคัญ ปัจจุบันเชื่อว่าอัตราภาษีต่ำลงจะช่วยเรื่องการเจรจา ทำให้เกิดเสรีทางการค้า 3.ภาษีสรรพสามิต มีการกำหนดสินค้าในประเภทฟุ่มเฟือย เช่น ภาษีสุรา ยาสูบ 4.ภาษีท้องถิ่น อาทิ ภาษีล้อเลื่อน ภาษีป้าย

หลักการที่เชื่อคือการขยายภาษีเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออัตราภาษีต่ำ มีความเรียบง่ายในการคำนวณฐานเพื่อจ่ายและเพื่อจัดเก็บ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับเหตุผลของพฤติกรรม ผู้จ่ายมีความร่วมมือและพึงพอใจ

หากอัตราภาษีสูง ความคุ้มค่าต่อการเสี่ยงที่จะเลี่ยงภาษีย่อมเกิดขึ้น แต่เมื่ออัตราต่ำลง ดูไม่คุ้มเท่าไหร่ที่จะประหยัดเรื่องนี้

ด้านความเรียบง่ายนั้น หากพยายามจัดเก็บภาษีนิติบุคคลกับองค์กรอื่นๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจำนวนนักบัญชีที่ทำอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสรรพากรเป็นเรื่องที่ทำไม่ค่อยได้

อีกทั้งเราไม่หากลไกมาเอื้อให้เขาสามารถคำนวณฐานภาษีและมีการจัดเก็บโดยไม่ใช้วิธีการประเมินเพื่อให้เกิดการต่อรอง น่าเสียดายที่ไม่สามารถทำให้ฐานภาษีกว้างได้เท่าที่ควร

ดังนั้น หลักการที่เชื่อคือ เพื่อเป็นแหล่งรายรับ เพื่อกำหนดพฤติกรรม และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามใครๆ ว่าอยากเห็นอะไรเรื่องภาษี ล้วนบอกว่าอยากให้ลดตรงนั้น เลิกตรงนี้ แต่รัฐต้องการรายได้ ตัวอย่างที่เคยทำแล้วได้ผลคือ ช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอยู่ในทีมงานที่ทำให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 และ 20 ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้นการจัดเก็บให้ได้เท่าเดิมต้องขยายฐานภาษีให้เท่ากับ 33 ถึงสามารถจัดเก็บได้ แต่จะพบว่าเมื่ออัตราภาษีต่ำลง พร้อมดำเนินการให้เศรษฐกิจเติบโต ฐานภาษีก็ขยายได้

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายที่มีลักษณะอุดหนุนส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น มีหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่าเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เขาจะนำรายได้นั้นไปจับจ่ายใช้สอย ถ้าผมเป็นอภิมหาเจ้าสัว มีรายได้วันละหนึ่งล้าน อาจไม่ใช้จ่ายเลยเพราะบริโภคพอสมควรแล้ว

โดยโยนเงินที่เหลือฝากไว้ที่สถาบันการเงิน หากเงินหนึ่งล้านนั้นไปตกกับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า โอกาสที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยกับพ่อค้า โอกาสในการหมุนเวียนเป็นทอดๆ มีหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณให้กลายเป็นตัวทวีได้ ซึ่งจำนวนเท่าที่เกิดขึ้น หากตัดความรั่วไหลจากการซื้อสินค้านำเข้า

ท้ายที่สุด เงินจากเจ้าสัวก็เข้าสู่เงินฝาก กระทั่งเงินไปสู่ผู้มีรายได้น้อยเกิดการบริโภคและออมเป็นทอดๆ จนการออมในวิธีหลังเท่ากับการออมวิธีแรก ทำให้เกิดการบริโภคต่างๆ หลายรอบ ซึ่งการบริโภคต่างๆ หลายรอบ คือส่วนที่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ที่มีลักษณะสุทธิ

ศิริกัญญา ตันสกุล
ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่

เราเชื่อในเรื่องของรัฐสวัสดิการ และต้องการปูพื้นฐานสวัสดิการที่มั่นคงให้ประชาชน ซึ่งเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ต้องตีตราว่าใครเป็นคนจน ไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ ป้องกันการตกหล่น การต้องดูแลคนแต่ละช่วงวัย แต่ละอายุทุกชนชั้นต้องใช้งบค่อนข้างสูง โดยแพคเกจรัฐสวัสดิการของเราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สามารถจัดการเกลี่ยลำดับความสำคัญใหม่เพื่อทำรัฐสวัสดิการได้โดยไม่เบียดบังงบส่วนอื่น เราวางไว้ 2 แผนคือ 1.การเกลี่ยงบ 2.นโยบายภาษีอากร

สิ่งที่เราจะทำคือขยายฐานภาษี เราจะเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันประสบความสำเร็จในการออก พ.ร.บ.เก็บภาษีที่เป็นฐานทรัพย์สินได้สำเร็จแล้ว 2 อย่างคือ ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แต่ถ้าดูอัตราจะพบว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะอัตราต่ำมาก หากเราได้รับการเลือกตั้ง เมื่อเข้าไปในสภาแล้วจะเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้อัตราอย่างน้อยเท่ากับในร่างที่ผ่าน ครม.คืออย่างน้อย 2-3 เท่า

นอกจากนี้ การขยายฐานภาษียังรวมถึงภาษีเงินได้ อยากให้ข้อมูลว่าภาษีเงินได้มาจาก 3 รายได้หลัก คือ ภาษีจากค่าจ้างและแรงงาน ภาษีจากการทำธุรกิจ และภาษีจากทรัพย์สินและการลงทุน

ตัวภาษีเงินได้จากค่าจ้างที่เป็นค่าจ้างนอกระบบ หากนำมาแมตช์กับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรพบว่าสรรพากรทำงานเก่งมาก เพราะกวาดทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษีได้แล้ว

ส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้ยื่นแบบคือรายได้ไม่ถึง ดังนั้น ฐานเงินได้ภาษีอื่นๆ ที่ต้องเข้าไปเพิ่มเติมคือภาษีทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน ตลอดจนเงินได้จากการทำธุรกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image