ชาญศิลป์ ตรีนุชกร แจงแผนฟื้นฟู‘บินไทย’

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร แจงแผนฟื้นฟู‘บินไทย’

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
แจงแผนฟื้นฟู‘บินไทย’

หมายเหตุ – มติชนสัมภาษณ์พิเศษ ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)


การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีข้อดีตรงที่ว่าบริษัทที่ไปต่อไม่ได้ หรือมีหนี้สินล้นตัว การฟื้นฟูจะมีกระบวนการให้บริษัทได้เจรจากับเจ้าหนี้ และมีโอกาสได้เสนอแผนเพื่อนำไปใช้หนี้เก่าที่มีอยู่ พร้อมเสนอแผนในอนาคตว่าเมื่อแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบ การบินไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ซึ่งขั้นตอนในการหารือกับเจ้าหนี้ บริษัทไม่ได้เจรจาเจ้าหนี้ทั้งหมด หรือประมาณ 1.3 หมื่นราย ที่มีมูลหนี้ที่ยื่นมาแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่จะเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สำคัญ และเป็นกลุ่มที่เจรจายาก อาทิ กลุ่มธนาคาร มีมูลหนี้ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งต้องหาผู้ที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยเจรจา พร้อมแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ประกอบด้วย นายบุญทักษ์ หวังเจริญ เป็นหัวหน้าคณะการเจรจากับเจ้าหนี้ นายจักรกฤษณ์ พาราพันธกุล และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันประชุมและชี้ชะตาว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้หรือไม่ หากเจ้าหนี้เสียงข้างมากลงมติเห็นชอบ การฟื้นฟูกิจการก็เดินไปตามแผน หากไม่เห็นชอบ ศาลล้มละลายจะสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูฯ เท่ากับการบินไทยล้มละลาย

Advertisement

ส่วนกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ มีมูลหนี้ประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กลุ่มนี้เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องเข้าไปเจรจาต่อรอง ซึ่งการเจรจาในครั้งแรก คือต้องชี้แจงแผนฟื้นฟูฯ ก่อน เพื่อให้เห็นภาพว่าจะมีรายได้จากตรงไหนเพื่อนำมาใช้หนี้ ซึ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไปในทิศทางที่ดี แต่ต้องมาสะดุดอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้สูญเสียรายได้จากการบินในประเทศ ช่วงเดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 โดยสายการบินไทยสมายล์ ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 100% รวมถึงกระทบต่อการขนส่งผู้โดยสารกลับบ้าน และการขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือคาร์โก้ อีกด้วย อีกทั้งยังส่งผลให้บริษัทไม่สามารถส่งแผนฟื้นฟูต่อศาลได้ทันในรอบแรก หรือเลื่อนจากวันที่ 2 มกราคม เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจึงได้ขอศาลเลื่อนอีกครั้งเป็นวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยื่นได้ทันและเป็นไปตามกรอบที่ศาลกำหนดไว้ว่าสามารถเลื่อนวันยื่นแผนได้ 2 ครั้ง

โดยความยากของการทำแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ คือ ถ้ามีการลดหนี้ หรือแฮร์คัตมากเกินไป เจ้าหนี้ก็จะไม่โหวตให้แผนฟื้นฟูฉบับนี้ผ่าน แต่หากแฮร์คัตหนี้น้อยภาระก็จะยังเหลืออยู่เยอะ ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีแฮร์คัตดอกเบี้ยที่ผ่านมาออกทั้งหมด และยืดหนี้ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทยังเดินหน้าชี้แจงเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เจ้าหนี้จะโหวตให้ผ่าน ตอนนี้มีความมั่นใจเกิน 50% ว่าเจ้าหนี้จะโหวตให้ผ่าน เพราะจากที่ได้ลงไปชี้แจงสร้างความเข้าใจได้รับผลตอบรับที่ดี

นอกจากจะต้องเจรจาเรื่องหนี้แล้ว ยังต้องหารือกับกลุ่มเจ้าหนี้ในเรื่องของการเติมทุนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย เนื่องจากเมื่อการบินไทยกลับมาบินอีกครั้ง ต้องมีเงินสำหรับดูแลเครื่องบินเพื่อให้กลับมาบินใหม่ เพื่อให้เกิดรายได้นำมาใช้จ่าย และหล่อเลี้ยงพนักงาน ซึ่งในส่วนของพนักงานเองก็ได้เข้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร ให้พนักงานสมัครใจเสียสละเข้าร่วมโครงการและลาออกจากบริษัท ซึ่งในส่วนของแผนเอ สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีพนักงานเข้าร่วม 2,200 คน

Advertisement

ปัจจุบันยังเหลืออีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กรแผนบี เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการลาระยะยาว Leave With 20% Pay ที่พนักงานได้รับเงินเดือน 20% เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2564 มีพนักงานเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน และโครงการร่วมใจจากองค์กรแผนซี อยู่ระหว่างดำเนินการ

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดโครงสร้างองค์กรที่เป็นแบบรวมศูนย์สำหรับงานเกี่ยวกับการเงินบัญชี การบริหารงานบุคคล การจัดซื้อ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงานและเป็นการใช้ข้อมูลร่วมกัน ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรมีความกระชับและมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา และแบ่งออกเป็น 8 สายงาน ได้แก่ สายการพาณิชย์ สายปฏิบัติการ สายช่าง สายการเงินและการบัญชี สายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายดิจิทัล ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร และหน่วยธุรกิจการบิน

ทั้งนี้ ภายในหน่วยงานดังกล่าว บริษัทได้เพิ่มหน่วยงานใหม่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร โดยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อน ประสานเชื่อมโยงและรวบรวมความคิดริเริ่มที่มาจากพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร

ขณะนี้มีโครงการริเริ่มแล้วกว่า 500 โครงการ เป็นโครงการที่พนักงานช่วยกันคิดขึ้นมา อาทิ เรื่องการเติมน้ำมันให้เหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันสร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า จะสร้างรายได้เพิ่มประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะปรับโครงสร้างใหม่เสร็จเรียบร้อย ในปี 2565 และคาดว่าจะเหลือคนในบริษัท ประมาณ 1.4-1.5 หมื่นคน จากปี 2562 ที่มีจำนวน 2.9 หมื่นคน

หลังจากปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว การบินไทยจะขอเพิ่มทุนจำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีต้นทุนมาหมุนเวียนในกิจการ ไม่จำเป็นเข้ามาทีเดียวทั้งหมด เดิมคาดว่าในช่วงกลางปี 2564 หรือประมาณในเดือนกรกฎาคมนี้ เงินจะเข้าระบบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือเข้ามาให้สอดคล้องกับรายจ่าย เพื่อใช้ในการดำเนินงาน อาทิ จ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออก และค่าน้ำมันเพื่อให้กลับมาทำการบินได้ เป็นต้น

โดยอาจจะใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน การหาพันธมิตรร่วมทุน และการแปลงหนี้เป็นทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหาเงินทุน คาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาต่อเมื่อแผนฟื้นฟูผ่าน แต่สิ่งที่บริษัททำตอนนี้คือต้องเตรียมการล่วงหน้า เพื่อเอื้อต่อการดำเนินการ และหากสามารถบริหารได้ดีหรือกลับมาทำการบินเป็นปกติแล้ว คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะกลับมามีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้

อย่างไรก็ดี การที่กระทรวงการคลังต้องมีส่วนในการเพิ่มทุน เพราะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ และหุ้นส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 60% นั้น โดยหลักการแล้วมองว่ารัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องเพิ่มทุนเพื่อให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ เรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล แต่จะใช้วิธีการเติมทุนแบบไหน เพราะมีการเพิ่มทุนได้หลายแบบ อาทิ การให้ทุนโดยตรงจากกระทรวงการคลัง หรือมาในรูปแบบกองทุน เป็นเรื่องที่รัฐต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก และคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เรื่องการหาทุนใหม่ได้ระบุลงไปในแผนฟื้นฟู เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้รับทราบแล้ว

ส่วนเรื่องกระแสเงินสด เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากทางบริษัทประเมินตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ว่าบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ได้ถึงเดือนมีนาคม 2564 แต่ในช่วงนั้นการบินไทยได้เปิดโครงการให้พนักงานร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร รวมถึงการคืนพื้นที่เช่า ส่งผลให้กระแสเงินสดที่มีอยู่ได้นานขึ้น

นอกจากนี้ ได้ขอศาลขายทรัพย์สิน 3 รายการ หุ้น 2 ตัว เครื่องยนต์ 5 เครื่อง ซึ่งการขายทรัพย์สินเหล่านี้จะทำให้การบินไทยกลับไปบินได้อีกครั้ง เพราะการขายทรัพย์สินในครั้งนี้ไม่สามารถจะนำมาใช้กับกิจการทั่วไปได้ ต้องนำมาใช้สำหรับการหารายได้จากผู้โดยสาร หรือเพื่อให้กลับมาทำการบินได้เต็มที่เท่านั้น คาดว่าจะช่วยให้การบินไทยมีกระแสเงินสดถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 หากเป็นเช่นนั้นจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ศาลพิจารณาแผนพอดี หมิ่นเหม่มากเพราะไม่สามารถพลาดได้เลย จึงต้องมีแผนสำรองเตรียมไว้ คือ อาจจะขอศาลขายทรัพย์สินที่มีอยู่ในต่างประเทศ พร้อมทั้งปรับรูปแบบการบินของเครื่องบินลำเก่าให้มาทำคาร์โก้เพื่อสร้างรายได้ต่อไป เพราะยังเป็นธุรกิจหลักของการบินไทยอยู่

อีกเรื่องที่สำคัญคือ หลังจากแผนฟื้นฟูผ่าน การบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก 2.เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น 3.การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย เป็นต้น และ 4.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้ หวังว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เรื่องวัคซีน จะเป็นผลดี และหากรัฐบาลยอมให้มีการจับคู่ประเทศที่มีความปลอดภัยด้านโควิด-19 หรือแทรเวลบับเบิล จะยิ่งทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น

ล่าสุดการบินไทยได้ลงนามสัญญาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) แล้ว เป็นการส่งสัญญาณว่าตอนนี้ธุรกิจการบินพร้อมแล้ว แต่ถ้าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปอีก 1 ปี ธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถไปต่อได้

ส่วนแผนการหารายได้เพิ่มเติม นอกจากเรื่องเปิดทำการบินแล้ว การบินไทยยังได้หารายได้จากธุรกิจอื่นๆ อาทิ การเปิดขายปาท่องโก๋ ขายสินค้าที่ระลึกของการบินไทยผ่านช่องทางออนไลน์ ทำทัวร์บนดิน และมีแผนที่จะนำเครื่องบินที่ไม่ใช้แล้วมาแปลงเป็นร้านอาหาร หรือคาเฟ่ แม้รายได้จากธุรกิจเหล่านี้จะไม่มาก

แต่ช่วยให้พนักงานมีงานทำในช่วงที่ไม่ได้ทำการบินได้!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image