วิกฤตไทยรักษาชาติ จับตาพท.เอายังไงกับ 150 เขตที่(อาจ)หายไป

ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

วิกฤต ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จับตาพท.เอายังไงกับ 150 เขตที่(อาจ)หายไป

ยุบพรรคไทยรักษาชาติ – ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ไว้พิจารณาแล้ว

เป็นคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเข้ายื่นหลังกรรมการกกต.ได้พิจารณา เห็นว่า กรณีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เป็นการดำเนินการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง เจ้าหน้าที่ศาล ได้นำสำเนาคำร้องมายังที่พรรคไทยรักษาชาติทันที

โดยศาลได้นัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

Advertisement

ทั้งนี้ ตามกระบวนการพิจารณาคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ในฐานะผู้ถูกร้อง จะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ มิเช่นนั้น จะถือว่า ไม่ติดใจ

แต่ล่าสุด กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นำโดย นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการ ได้ประกาศงดกิจกรรมทางการเมืองและการหาเสียงไว้ชั่วคราวแล้วเพื่อยืนยันจะใช้สิทธิตามกฎหมายสู้เต็มที่

โดยเฉพาะ ในช่วงระหว่าง 7 วันที่ศาลเปิดโอกาสให้ชี้แจง

Advertisement

เบื้องต้นฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติจะยื่นเอกสารชี้แจงตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งเป็นข้อๆทั้งประเด็นข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงควบคู่กันไป

ส่วนจะมีพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมหรือไม่ คงจับตากันต่อไป

แต่ทั้งนี้แน่นอนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติจริงโทษของคดีก็เป็นไปอย่างที่ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แจกแจงไว้

นั่นคือ กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตทันทีตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 98(5) ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคท้ายที่ระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง” และ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

ถือเป็นโทษที่รุนแรงเท่ากับต้องโทษประหารชีวิตทางการเมือง

สำหรับ 14 รายชื่อของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นจำเลยถูกจับ “ขึ้นเขียง” ในฐานะผู้รับผิดชอบจากเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ หลังทำ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” จากชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีล้วนเป็น “คนรุ่นใหม่” ลูกๆหลานๆ หรือคนใกล้ชิดนักการเมืองที่แตกตัวออกมาจากฟากเพื่อไทยทั้งสิ้น

“เสี่ยป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค อดีตส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย บุตรชาย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย กับนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีตส.ว.ขอนแก่น

รองหัวหน้าพรรค 4 คน 1.นายฤภพ ชินวัตร บุตรชาย นายพายับ ชินวัตร น้องชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 3.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ และ 4.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล

นายมิตติ ติยะไพรัช ลูกชายนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เป็นเลขาธิการ

รองเลขาธิการ 3 คน 1.นายต้น ณ ระนอง บุตรชายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา ทีมงานอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์​ และ 3.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ เพื่อนสนิทของ “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร

ขณะที่ นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กับ นายรุ่งเรือง พิทยศิริ (ลาออก) เป็นกรรมการบริหาร นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ เป็นโฆษกพรรคทษช. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกทษช. ภรรยานายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนทษช. บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แน่นอนว่า หากศาลวินิจฉัยยุบพรรค นอกจากกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติทั้ง 14 คนจะถูกประหารชีวิตในทางการเมืองแล้ว “ไทม์ไลน์” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ยังส่งผลอื่นๆในทางการเมืองอีกด้วย

โดยเฉพาะ การนำเอา 24 มีนาคมมาเป็นจุดกึ่งกลาง

ไทม์ไลน์แรก หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคมแล้ว จะไม่ส่งผลต่อคะแนน แต่ทั้งส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน

ไทม์ไลน์ที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม แต่กกต.ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คะแนนของผู้สมัครส.ส.ของพรรคทษช.จะไม่ถูกนับสักคะแนน จะได้คะแนนเป็นศูนย์ทันที

และ ไทม์ไลน์ที่สาม หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผู้ลงสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อทุกคนจะถูกตัดสิทธิ์ ถือว่า ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม อย่างที่รับรู้รับทราบกัน การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักษาชาติ โดยการแตกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทยนั้น เพื่อแก้ปัญหากฎกติกาในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ออกแบบมาเพื่อ “บอนไซ” ทำให้พรรคขนาดใหญ่อ่อนแอ

เพราะ แม้จะได้ส.ส.เขตจำนวนมาก แต่ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์จะหดหายลงไปตาม “สัดส่วน” ที่แต่ละพรรคพึงมี

จึงเชื่อว่า หากลงสมัครกันแบบเดิมๆ พรรคเพื่อไทย จะกลายเป็นพรรคอยู่ในระดับเพียง 180-190 เสียงเท่านั้น ทั้งที่เคยมีศักยภาพที่จะได้ถึงครึ่งสภาล่าง หรือ 250 เสียง

“แยกกันเราอยู่ รวมกันเป็นหมู่เราตาย” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยวางพรรคไทยรักษาชาติไว้เป็นพรรคตัวช่วยเพื่อเป้าหมาย 250 เสียงขึ้นไปตามโมเดลพรรค “ซีกประชาธิปไตย” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นทัพหลวง เพื่อลงมากวาดคะแนนแพ้ในเขตเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะแพ้ไว้มาคิดเป็นส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อแทน

ฉะนั้น หากพรรคไทยรักษาชาติต้องมีอันเป็นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก่อนการประกาศรับรองผลย่อมส่งผลกระทบต่อ “ทัพหลวง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบนี้ นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากยุบไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งจริงๆถือว่า เป้าหมายที่ซีกที่เรียกตัวเองว่า เป็นประชาธิปไตยจะหายไปถึง 50 ที่นั่ง

เพราะเดิมเพื่อไทยตั้งเป้าไว้ที่ 250 ที่นั่งเฉพาะในระบบเขต

แต่ความเป็นไปได้ที่จะได้จากเขตจริงๆคงไม่ถึง

จึงทำให้พรรคไทยรักษาชาติเกิดขึ้นเพื่อมาช่วยเก็บส่วนอื่นๆ

โดยเฉพาะ คะแนนแพ้ในพื้นที่ภาคใต้ไปรวมเสียงชิงส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกทาง

แต่ อ.อรรถสิทธิ์ มองว่า วันนี้ทำอะไรไม่ได้แล้วกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากมองไปข้างหน้าว่า ถ้าไม่มีไทยรักษาชาติ แล้วพรรคอื่นๆที่จับมือกันหลวมๆเป็นเครือข่ายทางการเมืองฝ่ายนี้ อาทิ พรรคเพื่อชาติ หรือ พรรคประชาชาติ เป็นต้น ได้ถูกวางไว้เป็นสำหรับยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน” เช่นเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ แล้วพรรคเครือข่ายเหล่านี้จะมีศักยภาพเช่นเดียวกับที่ไทยรักษาชาติมีหรือไม่

หรือ ต้องจับมือเทเสียงให้กับปีกพรรคประชาธิปไตยอื่น เช่น “อนาคตใหม่” เป็นต้น

ทั้งหมด อ.อรรถสิทธิ์ บอกว่า ยังเป็นคำถามที่ต้องรอดู

แต่สิ่งที่สำคัญยังอยู่ที่กลยุทธ์ใหม่ในการสื่อสารของพรรคซีกประชาธิปไตยฝ่ายนี้ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สิทธิ์เข้าใจว่า เลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกเพื่ออะไร

“หากไทยรักษาชาติถูกยุบจริงๆ ฝ่ายประชาธิปไตยจะสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจว่า ถ้าไม่มีพรรคไทยรักษาชาติแล้ว จะมีพรรคไหนเข้ามาเป็นตัวตายตัวแทนว่า หากประชาชนเลือกแล้วจะมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับเลือกพรรคไทยรักษาชาติ”

โดยเฉพาะกับอะไหล่ที่หายไปใน 150 เขตเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร หากพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบ !

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image