จาก ‘รธน.60‘ ถึง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ปลดแอก 5 ข้อสู่วิถีประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่ “การปฏิรูปกองทัพ” เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงมาโดยตลอด

แม้กระทั่งในช่วงต้นบรรยากาศแห่งการปฏิรูปหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หมาดๆ ก็มีการพูดถึง แต่การปฏิรูปกองทัพไม่เคยถูกจัดให้เป็นหัวข้อหนึ่งสำหรับการปฏิรูปเลย

เช่นเดียวกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ที่ คสช.ตั้งขึ้นมาใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มี แม้แต่ “คณะกรรมาธิการสามัญการทหาร” ที่รัฐสภาปกติที่มาจากการเลือกตั้งจะมีไว้เพื่อตรวจสอบการทำงาน การใช้งบประมาณที่รัฐสภาอนุมัติให้กองทัพไปใช้ว่า เป็นไปโดยภารกิจหรือไม่

ไม่มี สังคมก็เฉยๆ แตกต่างกับข้อการปฏิรูปในประเด็นอื่นๆ

Advertisement

โดยเฉพาะ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ฝ่ายการเมือง” ที่ล้วนได้รับการขานรับ และตอบสนองจากสังคม จนเวลาล่วงเลยกลายมาเป็นบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เรื่อยไปจนถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ด้วย

หรือแม้กระทั่งบรรยากาศแห่งการเลือกตั้งมาถึง

Advertisement

ข้อเสนออันมาจากแนวนโยบายของ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ถูกนำเสนออย่างเป็นระบบจาก “เสธ.โหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ผ่านนโยบาย 9 ข้อสู่ปฏิรูปกองทัพ ปรับลดงบประมาณ ลดกำลังพลจาก 3.3 แสนนาย ให้เหลือ 1.7 แสนนาย ภายใน 5-10 ปี โดยใช้กฎหมายบังคับ หรือยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ เป็นต้น

ประสานกับข้อเสนอจากเพื่อนร่วมเตรียมทหารรุ่น 14 อันเป็นแนวนโยบายจากพรรคเพื่อไทยที่ถูกนำเสนอ โดย “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะที่ปรึกษาพรรคสู่ความเป็น “ทหารอาชีพ”

โดยเฉพาะ การทำกองทัพให้กะทัดรัด ทันสมัย เป็นสากลมีจิตสำนึกประชาธิปไตย

ด้วยการลดภารกิจรอง เช่น การรักษาความมั่นคงภายใน การบรรเทาสาธารณภัย ส่งมอบไปให้ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจและพลเรือนรับไปดำเนินการแทน ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างกองทัพให้เป็นทหารอาชีพที่มีสำนึกประชาธิปไตย จะมีการแก้กฎหมายชุดความมั่นคง 4 ฉบับควบคู่กันไปด้วย

นั่นคือ 1.กฎอัยการศึก 2.พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน 3.พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม และ 4.พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจในการกำกับดูแลอยู่ที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

แน่นอนว่า ทั้งหมด แม้จะเป็นแนวนโยบายที่น่าตื่นเต้น แต่สังคมก็ยังนิ่ง และเงียบหายไปกับสายลมระลอกแล้วระลอกเล่า

แต่พลันที่ “ผู้นำเหล่าทัพ” ไล่ให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” หลังเสนอตัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลงร้อยละ 10 เพื่อมาตั้งกองทุนสร้างเจ้าของธุรกิจหรือ “เถ้าแก่ใหม่” ปรับการเกณฑ์ทหารให้ชายไทยและผู้สนใจมาเข้าค่ายการทำธุรกิจ สร้างตัวเองให้เป็นเจ้าของกิจการ กลับเป็นปฏิกิริยาโต้กลับของสังคม

ยิ่งเมื่อมีการขานรับและสนับสนุนให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” จาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยิ่งได้เห็นปฏิกิริยาโต้กลับของสังคมที่ทวีความรุนแรง

จนกลายเป็น “กระดานหก” ไปสู่ข้อเรียกร้องให้มี “การปฏิรูปกองทัพ” อย่างแข็งขัน

แข็งขันขนาดที่ผู้คนในสังคมออนไลน์ต่างติดแฮชแท็ก #ปฏิรูปกองทัพ จนกระทั่งขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ในทวิตเตอร์

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตลอด 5 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช.งบประมาณของกองทัพที่แม้จะมีเพิ่ม-ลดบ้าง แต่ยอดรวมแล้วก็ถือว่าสูงจนน่าใจหาย ไล่ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 1.92 แสนล้านบาท ปี 2559 จำนวน 2.06 แสนล้านบาท ปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท ปี 2561 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท และปี 2562 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จกองทัพยุค คสช.ได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 9.38 แสนล้านบาท

ตัด 10 เปอร์เซ็นต์ จากงบปี 2562 ตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ระบุจะเป็นเงินสูงถึง 2 หมื่นล้านเลยทีเดียว

ขณะที่ มองในมุมภาระงบผูกพันข้ามปีแต่ละกระทรวงกระทรวงกลาโหมเองก็ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 2 โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นสิ่งที่สังคมแคลงใจไม่ต่าง

โดยเฉพาะ ความคุ้มค่ากับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่า “รถถัง” หรือ “เรือดำน้ำ” ที่กองทัพจัดซื้อมา เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกับโจทย์ความมั่นคงของทศวรรษที่ 21 ทั้งๆ ที่ภัยคุกคามได้แปรเปลี่ยนไปจากยุคสงครามเย็นอย่างมากแล้ว

ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา มีการขยายอำนาจของกองทัพ จนกลายเป็น “รัฐทหาร” ทั้งๆ ที่สังคมไทยไม่เคยเห็นทหารเข้าไปคุมทุกอย่างขนาดนี้นับตั้งแต่คนยุค 14 ตุลาฯ

ฝ่ายบริหาร เรียกได้ว่าเป็น ครม.สีเขียว แม้จะปรับเปลี่ยนแต่ทหารก็ยังมีบทบาทสูงสุด เช่นเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ สนช.ก็สีเขียวยิ่งกว่าในยุค คมช.เสียอีก รวมไปถึงสภาปฏิรูปต่างๆ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็มีทหารคอยประสานงาน นี่ยังไม่นับร่วมรัฐวิสาหกิจต่างๆที่คนกองทัพไปนั่งกินเงินเดือน 2 ขาอยู่ด้วย

ที่สำคัญ ยังมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปรับปรุงในเรื่องความมั่นคงหลายอย่าง จนทำให้ “ผู้สันทัดกรณี” ชี้ว่า แม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว “ปีกประชาธิปไตย” จะชนะ การเมืองแบบปกติที่ทหารกลับเข้ากรมกองก็ยังเป็นไปได้ยากมาก

มากขนาดที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ทางปลดแอกไว้ถึง 5 ข้อ ในเวทีสาธารณะที่ “มติชน” จัดขึ้น ถ้าหากสังคมยังเชื่อและหวังให้เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอนาคตของประเทศ ต้องปลดออกให้ได้

แอกแรก ถึงเวลาที่จะต้องคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ได้

แอกที่สอง กฎหมายลูกต่างๆ ล้วนไม่ตอบสนองในการพาสังคมไทยไปสู่อนาคต ต้องรื้อ

แอกที่สาม ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ออกแบบเพื่อการดำรงอยู่ภายใต้อนาคต ต้องเท

แอกที่สี่ ยกสถานะของ กอ.รมน.ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน จนเป็นหนึ่งกระทรวงซ้อนอยู่ กลายเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” นั้น ต้องทำให้กลับถอยกลับไปอยู่สถานะเดิม

และ แอกที่ห้า สังคมจะเอาอย่างไรกับอนาคตของกองทัพ จะปล่อยให้ผู้นำทหารออกมาพูดจาคุกคามในทางการเมืองต่ออีกหรือไม่

“วันนี้ถึงเวลาที่กองทัพไทยต้องกลับไปสู่ทหารอาชีพ เราไม่ต้องการทหารการเมืองเพื่อการพัฒนาประเทศ เราไม่ต้องการนักการเมืองในเครื่องแบบอีกต่อไป” อ.สุรชาติ ระบุ

ทั้งหมดจึงอยู่ที่พรรคการเมืองปีกประชาธิปไตยต่างๆ แล้วว่า จะใช้เวลาที่เหลืออยู่กว่าจะถึงวันเลือกตั้งแปรเปลี่ยน “กระดานหก” ที่เกิดขึ้นจากกรณี “หนักแผ่นดิน” มาเป็นคะแนนเสียงจากประชาชนได้อย่างไร

24 มีนาคมนี้ คงได้เห็นกัน !

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image