ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 7 ‘ตามรอยโจร’ (ต่อ)

นิทรรศการพิเศษ "เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน" ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เปิดให้ชมแล้ววันนี้ ถึง 5 ธันวาคม 2559

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

ส่วนหนึ่งของเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ
ส่วนหนึ่งของเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ

รายงานการเปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

โดย นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร

วันที่ 6 ตุลาคม 2500 พร้อมด้วยผู้กำกับการตำรวจควบคุมให้เจ้าหน้าที่ร่อนดินและทรายที่ขนขึ้นมาจากกรุ ได้เศษทองคำหนัก 60 บาท พลอยหัวแหวนและทับทิมหนัก 1,800 กรัม แก้วผนึกชนิดต่างๆ หนัก 1,050 กรัม และลูกปัดเงินกับทับทิมปมกันหนัก 250 กรัม เย็นเดินทางกลับกรุงเทพฯ

วันที่ 7 ตุลาคม 2500 ได้มาดูการซ่อมตู้ของกรมศิลปากรที่จะนำไปใส่เครื่องทองคำ ทั้งที่จับได้จากผู้ร้ายและที่กรมศิลปากรเก็บขึ้นได้เอง ณ กรมศิลปากร

Advertisement

วันที่ 8 ตุลาคม 2500 เวลา 11.00 น. นำตู้ที่ซ่อมเสร็จแล้วไปจังหวัดอยุธยา ตู้ไปถึงสถานีตำรวจอยุธยาเวลา 14.00 น. เศษได้ให้ช่างไม้ที่นำไปจากกรุงเทพฯ ด้วย 3 คน ปรับซ่อมลูกกรงเหล็กของสถานีตำรวจซึ่งเดิมเป็นห้องขังผู้ต้องหา เพื่อนำตู้เข้าไปไว้ในลูกกรงเหล็กนั้น และจะได้จัดตั้งของทั้งหมดไว้ที่สถานีตำรวจอยุธยาจนกว่าจะเสร็จคดี ได้ซ่อมลูกกรงอยู่จนถึงเวลา 1.00 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 2500 ก็ยังไม่เสร็จ พักงานชั่วคราว

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2500 ซ่อมลูกกรงเหล็กต่อไปจนถึง 22.00 น. การซ่อมลูกกรงจึงเสร็จ

กฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้เขียนรายงานฉบับนี้
กฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ (ภาพข่าวการพบกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะและสมบัติที่มีผู้ลักลอบขุด จากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย จันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ.2500

ในวันที่ 8 ตุลาคม ตอนบ่าย ขณะไปถึงสถานีตำรวจ พบผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ที่นั่นด้วย ผมจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดล้างดินทราบสิ่งของที่กรมศิลปากรเก็บและขุดได้เอง เพื่อทำบัญชีและชั่งน้ำหนักแล้วส่งมอบกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้สมาชิกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมฝ่ายหญิงของจังหวัดนั้น มีภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า ช่วยกันชำระล้างสิ่งของแล้วจัดทำบัญชีและชั่งน้ำหนักเมื่อเวลา 20.00 น. เสร็จ 22.00 น. แต่ในระหว่างที่กำลังทำบัญชีอยู่นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีกิจธุระจะต้องเก็บของกลางที่จับได้จากผู้ร้ายจากในลูกกรงเหล็กลงหีบเพื่อนำตู้เข้าลูกกรงไม่สามารถอยู่ทำบัญชีตรวจรับมอบในคืนวันนั้นได้ คงให้แต่ภริยาและผู้กำกับการตำรวจเป็นผู้แทนอยู่ และนัดมอบของในวันรุ่งขึ้น

ดังนั้นเมื่อจัดทำบัญชีและชั่งน้ำหนักของเสร็จแล้ว จึงต้องบรรจุลงหีบเหล็กใส่กุญแจตีตรา มอบให้ผู้กำกับการตำรวจเป็นผู้รักษาของไว้ โดยผมรักษากุญแจ ผู้กำกับการตำรวจรักษาหีบของและตรา

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2500 เวลา 9.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดให้วัฒนธรรมจังหวัด เป็นผู้แทนมารับมอบของล่วงหน้าก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะตามมาภายหลัง ผมเห็นว่าการทำบัญชีสิ่งของเมื่อวานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้อยู่ด้วยโดยตลอด คงมีแต่ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดกับกู้กำกับการตำรวจร่วมทำอยู่เท่านั้น ฉะนั้นในตอนที่วัฒนธรรมจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจะมารับมอบของในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ควรจะได้รู้เห็นบัญชีและน้ำหนักสิ่งของอีกครั้ง จึงขอให้วัฒนธรรมจังหวัดไปหาเจ้าของร้านขายทองพร้อมทั้งเครื่องชังมาสอบบัญชีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้เจ้าของร้านทองและเครื่องชั่งมาแล้ว ก็ได้ตรวจสอบบัญชีและชั่งน้ำหนักใหม่อีกหนนึ่งต่อหน้าผู้ว่าฯ ราชการจังหวัดและผู้กำกับการตำรวจ เสร็จแล้วก็ลงนามผมเป็นผู้ส่งของและวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้รับของ ในบัญชียึดถือกันไว้คนละฉบับ สิ่งของที่ทำบัญชีในวันนี้มีเครื่องทองคำ เครื่องเงิน เครื่องถ้วยชามและพระพุทธรูปทั้งหมด คงเหลือแต่พระพิมพ์ทำด้วยชินยังทำบัญชีไม่ทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดรับเอาของที่ทำบัญชีแล้วไปเก็บรักษาไว้ทั้งหมด ส่วนพระชินที่ยังไม่ได้ทำบัญชี ฝากผู้กำกับการตำรวจรักษาไว้ก่อน

ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2500 จึงได้จัดทำบัญชีพระชินมอบให้วัฒนธรรมจังหวัดเซ็นรับเอาไปและในตอนเช้าวันที่ 10 ตุลาคม นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำสิ่งของที่กรมศิลปากรขุดได้เข้าเก็บตั้งไว้ในตู้ภายในลูกกรงเหล็ก เสร็จเวลา 12.00 น. ตอนบ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำของกลางที่จับได้จากผู้ร้ายเข้าตู้อีกครั้งหนึ่ง สิ่งของที่จับได้จากผู้ร้ายนั้นได้จัดทำบัญชีไว้พร้อมแล้ว แต่ทราบจากเจ้าพนักงานสอบสวนปากคำผู้ร้าย ปรากฏว่ายังมีของที่ผู้ร้ายนำไปซุ่มซ่อมหรือจำหน่ายต่อไปแล้ว นอกจากที่มีในบัญชีนั้นอีกมาก คงตามจับได้ของคืนมาประมาณสัก 50-60% ผมเห็นว่าของที่ได้จากผู้ร้ายยังเป็นของกลางที่เกี่ยวข้องกับตำรวจและบ้านเมืองอยู่ จึงมอบให้นายอุ้ย นุตาณัติ หัวหน้าพนักงานศิลปากรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ดูจัดของเข้าตู้แทน แล้วกลับที่พักและเดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 14.00 น.

เฉพาะสิ่งของที่ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเก็บขึ้นได้ รวมทั้งหมด 2,121 ชิ้น เฉพาะของที่ทำด้วยทอง เงิน นาก และเพชรนิลจินดา ชั่งน้ำหนักทั้งหมดได้ 10,918 1/2 กรัม ของเหล่านี้ยังไม่ได้ตีราคา และนอกนั้นเป็นพระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ชิน เครื่องใช้โลหะและหิน เครื่องสังคโลกและเครื่องใช้ดินเผา มิได้รวมชั่งน้ำหนักไว้ในจำนวนนี้ ส่วนสิ่งของที่จับได้จากผู้ร้าย เจ้าของและผู้จัดการร้ายขายทองเบ๊ลี่แซ สะพานหัน พระนครได้ช่วยพิจารณา ตีราคาเฉพาะทองรูปพรรณและค่ากำเหน็จอย่างปานกลางไว้เป็นเงิน 1,185,270 บาท

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ

เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image