ผู้บริหารหอศิลป์กทม. เปิดใจ รัดเข็มขัดท้องกิ่ว หลังวืดงบ 61 เผยปมรัฐพาถอยหลังลงคลอง

ผู้บริหารหอศิลป์กทม. เปิดใจ รัดเข็มขัดท้องกิ่ว หลังวืดงบฯ 61 เผยปมรัฐพาถอยหลังลงคลอง

สืบเนื่องกรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งเครือข่ายศิลปินแถลงต่อสังคมว่าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไม่ได้รับงบประมาณประจำปี 2561 และคาดการณ์ว่า อาจไม่ได้รับงบปี 2562 ด้วย ในขณะที่มีข่าวจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ว่า ทางสำนักฯ ได้รับงบจำนวน 40 ล้านบาทสำหรับหอศิลป์กทม. โดยต้องเบิกจ่ายตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ฯ

ล่าสุด วันนี้ (22 มิ.ย.) นายมานิต ศรีวานิชภูมิ กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า โดยปกติงบประมาณที่หอศิลป์ได้รับ เรียกว่า “งบอุดหนุน” กล่าวคือ เป็นงบที่มอบให้หอศิลป์บริหารจัดการเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ทางสภากทม. ไม่เห็นด้วยที่จะให้งบอุดหนุน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความพยายามในการของบประมาณเพื่อใช้ประโยชน์จึงให้เปลี่ยนวิธีการให้งบไปอยู่ใน “หมวดรายจ่ายอื่น” ซึ่งการจะเบิกงบต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น หอศิลป์จึงไม่สามารถใช้งบดังกล่าวได้

“ผู้ที่กำกับดูแลคือสำนักวัฒนธรรม จะบอกว่าให้งบหอศิลป์ ก็ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือเปล่า เพราะไม่ใช่งบอุดหนุนแล้ว แต่เป็นงบค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ เพราะระเบียบวิธีการเบิกจ่ายต้องเป้นการจัดซื้อจัดจ้าง เท่ากับว่าหอศิลป์ไม่สามารถใช้งบนี้ได้ ดังนั้น กิจกรรมต่างๆของหอศิลป์ไม่สามารถดำเนินต่อได้ภายใต้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักวัฒนธรรม ซึ่งสำนักฯ ก็ไม่สามารถเบิกจ่ายให้เรามาใช้ในกิจการเหล่านี้ได้ โดยอ้างว่าผิดระเบียบ มีวิธีการเปิดประมูล ซึ่งทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า เราได้งบมันก็ไม่ถูก ” นายมานิตกล่าว

Advertisement

นายมานิต ยังระบุว่า ปัญหานี้ เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นของการจัดตั้งหอศิลป์ จนมีการแก้ไขโดยกทม.ในยุคนั้นตั้งมูลนิธิหอศิลป์ขึ้น เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่พอมาถึงยุคนี้ กลับถูกนำระบบเก่าที่มีปัญหามาใช้อีก นับได้ว่า เป็นการถอยหลังลงคลอง

“เราเคยใช้ระบบนี้มาก่อนตอนตั้งหอศิลป์ใหม่ๆ ในช่วงพยายามหาโมเดลที่พยายามจัดการให้เกิดความคล่องตัว เพราะพบปัญหาว่าเป็นไปไม่ได้เลยภายใต้วิธีการทำงานแบบราชการ จึงเกิดงบอุดหนุน ไม่ใช่ว่าไม่เคยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านสำนักวัฒนธรรม เหตุที่เกิดมูลนิธิ ก็เพราะกทม. รุ่นเก่าก็เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหา ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรจะให้เกิดความคล่องตัวในกิจการของหอศิลป์ กทม.จึงจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา แต่ข้าราชการรุ่นใหม่ อาจขาดช่วง ไม่ทราบประวัติ สภากทม. ส่วนหนึ่งไม่เข้าใจความเป็นมา ยื่งชุดที่มาจากการแต่งตั้ง เขาไปดูข้อระเบียบต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการอธิบายกันหมดแล้ว มีการถกเถียงกันจนสรุปมาเป็นมูลนิธิ ข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองไม่ศึกษาประวัติ ทั้งที่เอกสารอยู่กับเขาหมด พอมาถึงกลับไปดูว่า มันเบิกจ่ายตามระเบียบนี้ได้ไหม ประเด็นนี้คือการตีความข้อกฎหมายที่ต่างกัน นี่คือปัญหา บอกให้เงินอุดหนุนไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ให้กันมาเกือบ 10 ปี ทำไมให้กันมาได้”

ส่วนงบประมาณปี 62 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น นายมานิต กล่าวว่า คงมีการประชุมเร็วๆนี้เพราะต้องเข้าสู่การพิจารณาซึ่งจะผูกโยงกับคณะกรรมการที่จัดตั้งมา โดยมีเวลา 90 วัน ตนเชื่อว่าหลุดกรอบการพิจารณาแน่นอน กว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยว่าทำได้ ดังนั้น ผลการตัดสินจะยังไม่ทันถึงกรณีปี 62 นั่นหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือหอศิลป์ไม่มีงบประมาณ

Advertisement

“ตอนนี้กำลังประเมินผลกระทบซึ่งมีแน่นอน กทม.ชุดปัจจุบัน ไม่เข้าใจกิจการศิลปวัฒนธรรมเลย เพราะย้อนกลับไปถึงว่าไม่สามารถให้งบอุดหนุนได้ ผมคิดว่ากทม.ให้งบอุดหนุนหลายๆเรื่อง ซึ่งสามารถให้ได้ ปัจจุบันเข้าใจว่ามีพรบ.ฉบับใหม่ออกมา อนุญาตให้ผู้ว่ากทม.ฯ ให้งบอุดหนุนได้โดยตรงด้วย ดังนั้นจะมาบอกว่าอุดหนุนไม่ได้ ก็แล้วแต่คุณจะให้ หรือไม่ให้เองต่างหาก แน่นอนว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติ คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การจะคิดว่าให้ได้หรือไม่ได้ ต้องดูผลของงาน มูลนิธิทำให้ประชาชนและกทม. ผลงานหอศิลป์ กทม.มีแต่จะได้เครดิต เพียงแต่พอเห็นว่างบนี้คุณจะไม่ได้มีส่วนกำกับดูแลงบโดยตรง ก็ไม่อยากให้เงินไปอยู่ในลักษณะเงินอุดหนุนหรือไม่” นายมานิตกล่าว

สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้บริหารหอศิลป์ท่านนี้กล่าวดังนี้

“แน่นอนต้องลำบาก จะมีเรื่องที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกันคือ คณะกรรมการชุดนี้ที่หมดวาระแล้ว กับเรื่องอายุสัญญาโอนสิทธิ์ที่ให้ใช้พื้นที่จะหมดลงภายใน 3 ปี คือ ปี 2564 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราอยากให้มีการแก้ไขกันก่อน เนื่องจากมีภาคเอกชนต้องมาใช้บริการ ซึ่งย่อมต้องการความมั่นคง ต้องประเมินสถานการณ์ เพราะฉะนั้นผลกระทบจะเป็นลูกโซ่

เรื่องแบบนี้น่าจะให้เอกชนซึ่งผ่านการกลั่นกรอง วินิจฉัยกันมาตั้งแต่ยุคอดีตแล้ว และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ควรได้รับการสนับสนุน แทนที่จะมาตั้งประเด็นให้เป็นปัญหาแล้วมากระทบกับสังคม ผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี กระทบแน่นอน คำถามคือ แล้วท่านจะไม่คิดถึงผู้ที่มาใช้บริการเหล่านี้หรือ? คนเหล่านี้ประกอบด้วยคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดและนักท่องเที่ยว จะเห็นนักเรียนนักศึกษามาใช้ อยากขอร้องให้พิจารณาผลกระทบที่จะตามมาอย่างมาก ตอนนี้กิจกรรมต่างๆ เริ่มสะดุด รวน จากแผนที่วางไว้ เข้าสู่ระบบรัดเข็มขัดท้องกิ่วแล้ว ไม่รู้ว่าจะยังไง การที่เครือข่ายศิลปินออกมาช่วยกันก็เพื่อที่จะทุเลาปัญหาจนกว่าฝ่ายบริหารจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าควรจะดำเนินการอย่างไร โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image