ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 11 ‘ค้นพบจิตรกรรม’ (ต่อ)

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

ขุนเดช
ขุนเดช

การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

สิ่งที่สะดุดใจเราเป็นที่สุดนั้น คือรูปคนหลายคน ดูช่างละม้ายคล้ายคลึงกับรูปคนที่เขียนฝาผนังถ้ำอชันตะ (ในประเทศอินเดีย) ทำให้สงสัยว่า ศิลปินอยุธยาได้ภาพจำลองขนาดเล็กของภาพจิตรกรรมชั้นเยี่ยมของอินเดียเหล่านั้นมาเป็นแบบอย่างหรือไฉน

Advertisement

อีกอย่างหนึ่ง ภาพหมู่เทวดา 4 องค์นั่งประนมมือ ก็มีลักษณะโดยเฉพาะเป็นศิลปะแบบอินเดียอยู่มาก รูปหมู่เทวดานี้อาจจูงใจให้เรานึกไปถึงภาพจำหลักลายเส้นบางภาพบนแผ่นหินที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย สมัยพุทธศตวรรษที่ 19 (คริสต์ศตวรรษที่ 13) อีกด้วย และสงสัยว่าศิลปินสุโขทัยและศิลปินอยุธยาได้รับความบันดาลใจมาจากศิลปะอินเดียแหล่งเดียวกันกระมัง ที่ดูแตกต่างไปจากแบบฉบับของอินเดีย ก็มีเพียงลักษณะเดียวเท่านั้น คือ แบบรูปนัยน์ตาของภาพดูกระเดียดมาทางบบจีนมากกว่าจะเป็นแบบอินเดียหรือไทย

จิตรกรรมวัดราชบูรณะ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ภาพรูปคนนั้นมีขนาดแตกต่างกัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ภาพที่ใหญ่ๆ บางภาพเป็นฝีมือของศิลปินชั้นอาจารย์ ส่วนบางภาพ เช่น รูปนายฉันน์กำลังวิปโยคกับม้ากัณฐกะกำลังหมอบนั้น ดูเป็นฝีมือชั้นลูกศิษย์ รูปพระพุทธรูปลีลานั้น มีลักษณะของอู่ทองแท้ทีเดียว เว้นแต่ลีลาท่าทางและพระเกตุมาลาขนาดย่อมๆเหนือพระเศียร แทนที่จะมียอดเป็นบัวตูมแบบอู่ทอง กลับแสดงอิทธิพลเป็นแบบสุโขทัย

แต่อิทธิพลสุโขทัยที่มีอยู่ในภาพจิตรกรรมเหล่านี้ ก็อาจสังเกตได้เฉพาะในพระพุทธรูปลีลาเท่านั้น งานประติมากรรมที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า มีอิทธิพลขงงานประติมากรรมแบบคลาสสิก สมัยสุโขทัยเข้ามาเจริญรุ่งเรืองอยู่พร้อมแล้ว

บรรดารูปสัตว์ต่างๆ อาทิ เช่น ช้าง ปลา กุ้ง และโดยเฉพาะภาพม้านั้น ได้เขียนกันตามแบบรูปของสัตว์จริงด้วยเส้นพู่กันที่มั่นคงแน่นอน
หัวข้อเรื่องและรูปคนหลายอย่างต่างชนิดที่ไม่เป็นไปตามแบบศิลปะซึ่งมีบัญญัตินิยมก็ดี และโดยเฉพาะวิธีการวาดซึ่งแทรกจิตใจและความรู้สึกอ่อนไหว (ของศิลปิน) ก็ดี (เหล่านี้) กระทำให้การเปิดกรุครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่องานศิลปะทางจิตรกรรมของไทย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
จิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
วัดราชบูรณะในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังพะระปรางค์เพื่อเยี่ยมชมกรุมหาสมบัติอย่างไม่ขาดสาย
วัดราชบูรณะในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังพะระปรางค์เพื่อเยี่ยมชมกรุมหาสมบัติอย่างไม่ขาดสาย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image