ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 12 ‘อ.ศิลป์ปวดใจ ปรางค์ทองถูกคนชั่วทำลาย’

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

Advertisement

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวการลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะในนสพ.สารเสรี เมื่อพ.ศ. 2499
ข่าวเจ้าหน้าที่ระดมกำลังขุดอุโมงค์ลงไปในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะใน นสพ.สารเสรี เมื่อพ.ศ. 2499

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

Advertisement

การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ศิลปวัตถุประเภทเครื่องประดับตกแต่ง

บรรดาของใช้ส่วนตัว ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องเงิน และเพชรพลอย รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดเล็กๆที่ทำด้วยทอง ด้วยเงิน ด้วยสำริด และด้วยแก้วผลึก พระพิมพ์ พลอยมณีสีต่างๆ ตลอดจนพระธาตุ ที่ได้พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ด้วย

สิ่งของเหล่านี้จำนวนมากได้ถูกคนร้ายลักไปแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจับคนร้ายได้ของกลางคืนมา

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ศิลปะประเภทเครื่องประดับของไทยในสมัยอยุธยานั้น มีความสวยงามอย่างหาตัวจับยาก ของที่ได้มาใหม่นี้เป็นการยืนยันทฤษฎีเก่านั้นได้เป็นอย่างดี ในการร่วมทางไปตรวจดูสิ่งของ พร้อมกับท่านอธิบดีและข้าราชการในกรมศิลปากรอีกหลายท่าน ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง ศึกษาศิลปวัตถุต่างๆเหล่านี้ ช่างเป็นชั่วโมงแห่งความชื่นชมโสมนัสทีได้เห็นของอันวิจิตรงดงามอะไรเช่นนั้น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นชั่วโมงที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวในหัวใจอย่างมหันต์ ที่ได้ทราบว่าศิลปวัตถุบางชิ้นถูกทำลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยโดยน้ำมือของคนชั่วร้ายจนเสียหายอย่างไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้ ศิลปวัตถุชิ้นที่เสียหายที่ข้าพเจ้าเจาะจงพูดถึงนี้ คือพระปรางค์ทองคำซึ่งได้พิจารณาจากเศษที่เหลืออยู่ จะต้องเป็นองค์พระปรางค์ที่มีความสูงถึง 80 ซม. หรือกว่านั้น เป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่า เป็นแบบจำลองของปรางค์ใหญ่องค์จริงที่สร้างด้วยศิลาแลงนั้น

ฝีมือช่างและความสวยงามทางศิลปะของพระปรางค์ทองคำจำลองนี้ ต้องนับว่าเป็นชิ้นเยี่ยมอย่างหาเปรียบยาก เนื่องจากเป็นของขนาดใหญ่ คนร้ายไม่อาจ (ซ่อนเร้น) นำเอาไปได้ จึงฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขยี้ยับอย่างไม่ปรานี โธ่เอ๋ย ไม่มีอาชญากรรมสำหรับลงโทษเนื่องในการกระทำอันชั่วร้ายเช่นนี้ให้สาสมได้เจียวหรือ

ปรางค์ทองคำจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
ปรางค์ทองคำจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

เจ้าหน้าที่ตำรวจแม้จะปฏิบัติหน้าที่อย่างทันท่วงทีก็จริง ก็คงได้สิ่งของคืนมาเพียงสักส่วนหนึ่งเท่านั้น องค์พระปรางค์ทองคำนั้นคงจะได้คืนมาสักหนึ่งในสาม
นอกนั้นคงถูกหลอมเอาทองไปเสียแล้ว นับว่าเป็นโชคร้ายต่อมรดกทางศิลปะของเราเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเสียทองท่วมหัวก็ไม่อาจทำให้ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมนี้คืนรูปเดิมมาได้อีก

ตัวนาคที่ตกแต่งหน้าบันก็ดี ลวดลายอย่างละเอียดของเสา (เหลืออยู่เพียงเสาเดียว) ก็ดี ฯลฯ ตลอดจนฝีมือทำพระปรางค์แบบจำลองอันมีค่านั้นก็ดี ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้ว่าจะทำให้ดีวิเศษไปกว่านี้อีกหาได้ไม่ ประสิทธิภาพของสีต่างๆ อันเกิดการจาการนำเอาพลอยมีค่ามาฝังประดับไว้ด้วยนั้น ช่างประสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดียิ่ง และทั้งนี้มิใช่อื่นไกล เพราะคนไทยสมัยก่อนมีความชำนาญพิเศษในเรื่องจัดสีให้ประสานกัน

ด้ามและฝักดาบทองคำซึ่งประดับด้วยลวดลายแบบไทยโบราณลุฝังเพชรพลอยอย่างวิจิตรบรรจงเต็มไปหมด ก็เป็นศิลปกรรมชิ้นหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเสียจริงๆ รูปช้างหมอบก็มีคุณค่าทางศิลปะอย่างสูงเช่นกัน พระเต้าน้ำทองคำซี่งมีจุกเป็นรูปพรหมสี่หน้านั้น เข้าใจว่าใช้ใส่น้ำมนต์สำหรับพิธีทางศาสนา ตรงกระพุ้งประดับด้วยแผ่นทองรูปกลีบบัวสองข้าง ข้างหนึ่งสลักเป็นรูปเทวดา (นั่ง) องค์หนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปนาค (3 เศียร) นับเป็นชิ้นศิลปะที่สวยงามและมีฝีมือเป็นเยี่ยมอย่างหาที่ติมิได้ชิ้นหนึ่งของไทย

พระแสงขรรค์ชัยศรี และเครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง
พระแสงขรรค์ชัยศรี และเครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง
ช้างหมอบ ทำด้วยทองคำสลักลวดลาย ฝังพลอยมณีสลับสี ตรงคอมีรอบต่อถอดออกจากกันได้ ภายในกลวง อาจใช้บรรจุสิ่งของได้
ช้างหมอบ ทำด้วยทองคำสลักลวดลาย ฝังพลอยมณีสลับสี ตรงคอมีรอบต่อถอดออกจากกันได้ ภายในกลวง อาจใช้บรรจุสิ่งของได้

ด้วยความรู้สึกสนใจอย่างแรงกล้าเช่นนี้ เราอาจชื่นชมศิลปวัตถุที่พบใหม่เหล่านี้เกือบทุกชิ้น และกล่าวขวัญถึงคุณค่าที่มีอยู่ดดยไม่หยุดหย่อน เพราการที่ได้เห็นศิลปวัตถุแต่ละชิ้นนั้น ทำให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจในความงามเป็นยิ่งนัก

กล่าวโดยสรุป การค้นพบใหม่ครั้งนี้ ได้ให้ความแจ่มกระจ่างแก่เรา ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ภาพจิตรกรรมของไทย ซึ่งมีองคืประกอบเป็นภาพพุทธประวัติและเรื่องชาดกในพุทธศาสนานั้น ได้มีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15) เหตุนี้อายุของภาพจิตรกรรมไทยประเภทนี้จึงถอยหลังไปจากเวลาที่กำหนดไว้เดิมถึง 130 ปี
2. อิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่มีต่องานประติมากรรมของอยุธยา ซึ่งสมัยนั้นมีลักษณะเป็นแบบอู่ทอง ได้เริ่มมาบ้างแล้วตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ.1893-1913 (ค.ศ.1350-1370) อันเป็นเวลาก่อนกำหนดที่ตั้งไว้เดิมประมาณ 150 ปี
3. งานศิลปะประเภทเครื่องประดับตกแต่งที่มีลักษณะเฉพาะของอยุธยา ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นของสมัยหลังต่อมามากนั้น เมื่อได้พิจารณาจากศิลปวัตถุเหล่านั้นถอยหลังไปกว่าเดิมอีกประมาณ 200 ปี

ความแตกต่างกันในแบบศิลปะเครื่องประดับบางชิ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นพิเศษ บ่งว่าเป็นของรุ่นหลังนั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าเป็นของที่นำเข้าไปบรรจุไว้ในกรุในระยะหลังจากการสร้างพระปรางค์ แต่ความคิดเห็นนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ค้นพบสิ่งของในกรุไม่ลงความเห็นด้วย นอกจากนี้แล้ว ได้รับคำชี้แจงอย่างถูกต้องว่า การที่ใครๆจะนำเอาสมบัติและพระอัฐิของพระมหากษัตริย์พระแงค์หนึ่งไปบรรจุไว้ในสถานอันเป็นที่เคารพสักการะของอีกพระองคืหนึ่งนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีของไทย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังเหลืออยู่ที่ว่า การค้นพบครั้งใหม่นี้ได้ลบล้างและเปลี่ยนแปลงข้อมูลฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยสมัยอยุธยาไปหลายประการ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image