ส่งท้ายสงกรานต์ ด้วย 3 ตำนานไอดอล ‘เสื้อลายดอก’

กำลังจะผ่านไปแล้วสำหรับเทศกาลสงกรานต์ในยามแล้ง พุทธศักราช 2559 ซึ่งไม่ว่าจะร้อนและแล้งเพียงใด ความสดใสชุ่มฉ่ำที่นอกเหนือจากน้ำ ก็คือ มหกรรมพร้อมใจสวมใส่ ‘เสื้อลายดอก’ ที่กลายเป็นหนึ่งในคอสตูมอันแสดงถึง ‘ความเป็นไทย’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนปิดฉากเทศกาลแห่งการสาดน้ำในปีนี้ ต้องขอนำเสนอ 3 ไอดอลแห่งวงการเสื้อลายดอกที่ประชาชนคนไทยรู้จักกันดี

‘เอลวิส’ ฮาวาย หรือลายดอก ?

คนแรก ได้แก่ ‘เอลวิส เพรสลี่ย์’ !
ใช่แล้ว นักร้องดังที่ไม่ได้มีสายเลือดไทย ก็สวมใส่ลายดอก ที่สำคัญ ใส่มาที่ประชาชนคนสยามจะฮิตด้วยซ้ำไป นั่นเพราะประวัติความเป็นมาของเสื้อลายดอกที่คนไทยรู้จักนั้น มีพัฒนาการอันสับสนปนเปกับ ‘เสื้อฮาวาย’ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อลายดอกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานแน่ชัด
เรื่องมีอยู่ว่า เสื้อลายดอกที่เรียกกัน สมัยก่อนคือ ‘เสื้อคอกลม ลายดอก’ ซึ่งคอกลมนี้ คือ เสื้อแบบวัฒนธรรมจีนหรืออินเดีย ส่สวนลายดอกนั้น คือดอกไม้ทั่วไป บางครั้งไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็นลายลักษณะดอกดวง ก็เรียก เสื้อลายดอก

ในขณะที่ เสื้อฮาวายแบบที่เอลวิส เพรสลี่ย์ สวมใส่นั้น เป็น ‘เสื้อคอปก’ เดิมใช้ผ้ากิโมโนของญี่ปุ่นซึ่งมีลวดลายต่างๆ ตัดเป็นเสื้อ ต่อมาใช้ผ้าชนิดอื่นๆ พร้อมทั้งกำเนิดลายต่างๆที่หลากหลาย รวมถึง ลายดอกชบา ที่ให้บรรยากาศของหมู่เกาะที่มีอากาศอบอุ่น นิยมใส่ระหว่างท่องเที่ยวพักผ่อน แล้วแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า มาพร้อมกระแสเอลวิส เพรสลีนั่นเอง จริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ เสื้อฮาวาย ได้เข้ามาปะปนกับเสื้อคอกลมลายดอกที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

เอลวิส เพรสลี ภาพจาก http://www.nostalgia-music.co.uk
เอลวิส เพรสลี ภาพจาก http://www.nostalgia-music.co.uk

‘เจนภพ’ เจ้าพ่อเสื้อลายดอก

เสื้อลายดอกแบบคอกลม ที่มีในไทยมาก่อนเสื้อฮาวายนั้น แต่เดิมก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย กระทั่งถูกสวมใส่โดยกลุ่มศิลปินแนวลูกทุ่ง ลูกกรุง รวมถึงนักเขียน และกูรูเพลงลูกทุ่งนาม เจนภพ จบกระบวนวรรณ หรือชื่อจริงว่า สันติภพ จบกระบวนหัด ซึ่งโด่งดังจากการจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งที่รุ่งโรจน์อย่างมากในช่วง พ.ศ. 2529-2530 โดยมีเอกลักษณ์ที่คนจดจำคือการแต่งกายด้วย ‘เสื้อลายดอก’ โดยนอกจากตนเองแล้ว ภรรยาและลูกๆ ก็สวมใส่เสื้อลายดอกด้วยเช่นกัน จนมีผู้กล่าวขานว่าเป็น ‘ครอบครัวเสื้อลายดอก’ ส่วนเจนภพได้รับฉายา “เจ้าพ่อเสื้อลายดอก” ไปโดยปริยาย
ปัจจุบัน เจนภพ ยังคงสวมใส่เสื้อลายดอก รวมถึงทำธุรกิจจำหน่ายเสื้อลายดอก โดยมี “ลายดอกเจนภพ” เป็นสินค้าซิกเนเจอร์ คือ แบบคอพวงมาลัย กระดุมทอง 3 เม็ด กระเป๋าแปะ 2 ใบใหญ่ วงแขนตะเข็บเข้าถ้ำ เส้นเย็บตะเข็บคู่ ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลแต่งกายดีเด่นด้านการอนุรักษ์ความเป็นไทย จากสมาคมช่างตัดเสื้อไทย เมื่อ พ.ศ. 2544
ยิ่งเน้นย้ำความเข้าใจที่ว่า เสื้อลายดอก บ่งบอกถึงความเป็นไทยมากขึ้นไปอีก

Advertisement
ซ้าย เจนภพ จบกระบวนวรรณ ในปัจจุบันยังคงสวมใส่เสื้อลายดอก ขวา เจนภพ สมัยยังหนุ่ม สวมใส่เสื้อคอกลมมีลวดลาย ซึ่งเรียกรวมว่า เสื้อลายดอก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นดอกไม้
ซ้าย เจนภพ จบกระบวนวรรณ ในปัจจุบันยังคงสวมใส่เสื้อลายดอก (ภาพจากเฟซบุ๊ก ‘เจนภพ จบกระบวนวรรณ’ ขวา เจนภพ สมัยยังหนุ่ม สวมใส่เสื้อคอกลมมีลวดลาย ซึ่งเรียกรวมว่า เสื้อลายดอก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นดอกไม้

‘สุจิตต์’ ถอดเสื้อลายดอก วิพากษ์ ‘ความเป็นไทย’

อีกหนึ่ง ไอดอลด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม คอลัมนิสต์ประจำเครือ “มติชน” ที่ออกมาวิพากษ์ประเด็นเสื้อลายดอกอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ว่าเดิมไม่เคยมีในวัฒนธรรมไทย
“สงกรานต์ สมัยก่อนพวกไพร่แต่งตัวตามมีตามเกิด หรือที่คิดว่างามของยุคนั้นๆ มีร่องรอยอยู่ในนิราศเดือน ของเสมียนมี กวีสมัย ร.3 สะท้อนรสนิยมเล่นสงกรานต์ของคนในยุคต้นกรุงเทพฯ ว่าแต่งตัวตามสะดวกสบาย และตามลักษณะชนชั้น ชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอกที่ทางการกำหนดให้ต้องแต่งในสงกรานต์ แบบแผนนี้ไม่เคยพบอยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา แต่เพิ่งมีขึ้นสมัยหลังเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวร่วมกัน” สุจิตต์กล่าว พร้อมให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า

เสื้อคอกลม ไม่ใช่ประเพณีพื้นเมืองอุษาคเนย์ และไม่ใช่ไทย แต่รับจากที่อื่น เช่น อินเดีย, จีน
ลายดอก ที่แพร่หลายทุกวันนี้ มีต้นแบบจากประเพณีตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ เช่น เสื้อฮาวายจากสหรัฐ ฯลฯ

ลูกทุ่ง ลูกกรุง ลำตัด และการแสดงทางวัฒนธรรมที่นำเสื้อลายดอกมาสวมใส่ ทำให้เสื้อลายดอก พัฒนาสู่การเป็นตัวแทนของความเป็นไทย
ลูกทุ่ง ลูกกรุง ลำตัด และการแสดงทางวัฒนธรรมที่นำเสื้อลายดอกมาสวมใส่ ทำให้เสื้อลายดอก พัฒนาสู่การเป็นตัวแทนของความเป็นไทย (ภาพจากวีดีโอของ Worry Arrester)

สุจิตต์บอกอีกว่า ไม่ได้ต่อต้านเสื้อลายดอก หรือตำหนิผู้สวมใส่ “ใครอยากใส่ ก็ใส่ไป เพียงแต่อย่าไปบังคับกะเกณฑ์ผู้อื่น อย่ากล่าวหาคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ทำตามว่าไม่รักชาติ ไม่รักความเป็นไทยก็พอแล้ว”
วิพากษ์หนักหน่วงขนาดนี้ ใครจะรู้ว่า สมัยยังหนุ่ม สุจิตต์ สวมใส่เสื้อคอกลมลายดอกแทบทุกวัน โดยสวมใส่มาก่อนเจนภพ จบกระบวนวรรณ เจ้าพ่อเสื้อสายดอกเสียอีก ต่อมา เมื่อเสื้อลายดอก ถูกมองว่าบ่งบอกถึงความเป็นไทย จึงเลิกใส่ ไม่ใช่ต่อต้านความเป็นไทย แต่ไม่ต้องการมีสไตล์แฟชั่นส่วนตัว (ฮา)

Advertisement
สุจิตต์ วงษ์เทศ ครั้งยังสวมใส่ 'เสื้อคอกลม ลายดอก' เมื่อหลายสิบปีก่อน
สุจิตต์ วงษ์เทศ ครั้งยังสวมใส่ ‘เสื้อคอกลม ลายดอก’ เมื่อหลายสิบปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ชาวเน็ตผู้ติดตามประเด็นศิลปวัฒนธรรมต่างแซวว่า คอลัมนิสต์รายนี้ก็ยังมีสไตล์ส่วนตัวอยู่ดี คือ เสื้อเชิ้ต (ปลดกระดุมบน) กางเกงยีนส์ สะพายกระเป๋า ถือร่ม 1 คัน เป็นอันรู้กันว่าเป็น ‘สุจิตต์สไตล์’

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเสื้อลายดอก ที่ส่งมาปิดท้ายสงกรานต์ประจำปี 2559

สุจิตต์ สวมใส่เสื้อคอกลมลายดอกด้านใน ก่อนสวมเสื้อเชิ้ตทับ ย้ำ เสื้อลายดอก เดิมไม่มีในวัฒนธรรมไทย
สุจิตต์ สวมใส่เสื้อคอกลมลายดอกด้านใน ก่อนสวมเสื้อเชิ้ตทับ ย้ำ เสื้อลายดอก เดิมไม่มีในวัฒนธรรมไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image