ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 13 ‘สภาพวัดราชบูรณะ’

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

วัดราชบูรณะ

Advertisement

สภาพปัจจุบันของวัดราชบูรณะ (พ.ศ.2500)

ของนายมานิต วัลลิโภดม
หัวหน้ากองโบราณคดี

วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านตะวันออกจดถนนมหาราช ด้านใต้จดถนนตลาดเจ้าพรหม ด้านตะวันตกจดถนนกลาโหม และด้านเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับวัดพลับพลาไชย บริเวณพุทธาวาส มีกำแพงอิฐล้อมรอบยาว 208.50 เมตร กว้าง 152.00 เมตร ที่กำแพงด้านตะวันออกและตะวันตกอันเป็นด้านหน้าด้านหลังของวัดนั้น มีประตูซุ้มข้างละ 1 ประตู เพื่อความสะดวกแก่การอธิบายแผนผังขอแบ่งกล่าวเป็น 3 ตอน  คือ

ตอนกลาง กำหนดแต่ประตูซุ้มด้านหน้าเข้ามา มีวิหารหลวงขนาดยาว 63.00 เมตร กว้าง 20.00 เมตร มุขหน้าวิหารหลวงมีบันได 3 ทาง อยู่ข้างหน้า 1 บันได ซ้ายขวาข้างละ 1 บันไดประตูใหญ่ด้านหน้ามี 2 ประตู ใกล้ชุกชีพระประธานมีพระประธานมีประตูข้างตรงออกไปสู่บันไดที่เฉลียงข้างละ 1 ประตู ด้านหลังชุกชีพระประธานมีประตูใหญ่ออกไปสู่มุขท้าย 2 ประตู มุขท้ายวิหารหลวงที่ยื่นติดต่อเข้าไปในกำแพงแก้วรอบพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ มีขนาดกว้างยาวด้านละ 82.00 เมตร

พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 48.00 เมตร บันไดขึ้นสู่คูหาพระปรางค์เป็นบันไดแคบๆ อยู่ด้านตะวันออก ที่ฐานพระปรางค์มีเจดีย์ทิศก่อด้วยอิฐทั้ง 4 มุมและมีเจดีย์รายรอบปรางค์ 12 องค์ทางขึ้นลงอยู่ทางทิศเหนือและใต้ พระปรางค์วัดนี้ยังทรงรูปสมบูรณ์ดีกว่าวัดอื่นๆ อันมีอยู่ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ช่องคูหาของพระปรางค์ด้านเหนือด้านใต้และด้านตะวันตก เป็นผนังอุดมีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ ที่ยอดปรางค์ชั้นล่างประดับด้วยครุฑและยักษ์ปูนปั้นเหนือๆ ขึ้นไปจนถึงขั้นสุดยอด เฉพาะที่ตรงกับทิศทั้ง 4 มีพระพุทธรูปนั่งในเรือนแก้วและเรียงรายไปด้วยกลีบขนุนทำด้วยศิลาทุกชั้นตลอดยอด ต่อจากกำแพงแก้วรอบพระปรางค์ออกไปเบื้องหลังทางทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ ขนาดยาว 47.50 เมตร กว้าง 17.50 เมตร มีซากพระประธานก่ออิฐโบกปูนขนาดใหญ่ประดิษฐานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกข้างหลังชุกชีพระประธานมีประตูและบันไดขึ้นลงทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าพระอุโบสถมีประตู 3 บาทและบันไดคู่หนึ่ง

พระปรางค์วัดราชบูรณะ

ตอนปีกขวา คือซีกข้างใต้ ห่างวิหารหลวงออกไปเล็กน้อย มีวิหารน้อย 1 หลัง กับหมู่เจดีย์ 5 องค์ ถัดนั้นออกไปมีวิหารขนาดกลางอีก 1 หลัง ตั้งขนานกับวิหารน้อย ข้างหลังวิหารขนาดกลางนี้มีเจดีย์ใหญ่น้อย 8 องค์ เรียงเป็นแถวไปถึงวิหารขนาดกลาง ซึ่งอยู่สุดทางด้านตะวันตก ระหว่างวิหารนี้กับพระอุโบสถมีเจดีย์ 1 องค์ วิหารย่อมๆ 1 หลัง

ตอนปีกซ้าย คือซีกข้างเหนือ ห่างวิหารหลวงออกไปเล็กน้อย มีวิหารน้อย 1 หลัง เช่นเดียวกับตอนปีกขวา แต่มีเจดีย์หมู่อยู่เพียง 3 องค์ องค์เล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับหลังวิหารน้อย ภายในคูหามีภาพเขียนสีฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น นายเฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรแห่งกรมศิลปากร ได้คัดลอกภาพเขียนสีน้ำเก็บรักษาไว้ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอธิบายถึงลักษณะภาพนี้เขียนเป็น

“พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเรียงเป็นแถวๆ ประดิษฐ์เป็นเรือนไม้ ข้างหลังอยู่ในวงเข้าทำนองรัศมี ลักษณะหนักๆ แบบขอมยังปรากฏอยู่แต่เป็นหน่วยก้านศิลปะไทยในกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ.1900 เศษ เขียนใช้สีดำระบายเกลี่ยอ่อนแก่เกิดปริมาตร ลงเส้นสีแดงเป็นที่สำคัญ เส้นนั้นบางละเอียดแต่คม หวนให้ระลึกถึงการจากรึกขุดเป็นลวดลายลงบนศิลาเป็นที่ประจักษ์ถึงจิตรกรรมเบื้องต้นการปิดทองตัดเส้นก็ใช้จำเพราะที่สำคัญ…พระพุทธรูปบนผนัง (คูหา) ที่ปิดทอง แต่ผนังด้านพระพุทธรูปอันดับ (คือนั่งเรียงแถว) นั้นหาได้ปิดทองไม่…”

เจดีย์องค์มีภาพเขียนสีในคูหาที่กล่าวนี้ได้ทรุดพังเสียแล้วเมื่อ 3-4 ปีล่วงมา คงเหลือแต่ภาพที่คัดลอกไว้เป็นหลักฐานการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น ต่อจากวิหารน้อยออกไปมีวิหารขนาดกลาง 1 ห้อง แล้วมีเจดีย์ใหญ่น้อย 5 องค์ เรียงเป็นแถวไปจนสุดทางตะวันตก เช่นทำนองตอนปีกขวาเหมือนกัน เจดีย์ใหญ่น้อยในบริเวณวัดดังกล่าวมาเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของเจ้านายในราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา ด้วยเคยพบซากโกศทำด้วยศิลาบ้าง ดินเผาบ้าง ถูกขุดทำลายทิ้งไว้ใกล้ๆ เจดีย์เหล่านั้น

วัดราชบูรณะ

เปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ

เพื่อได้ทราบเรื่องราวการพบกรุภายในองค์พระมหาธาตุหรือพระปรางค์ ซึ่งบรรจุศิลปวัตถุมีค่าทั้งทางวัตถุและทั้งทางฝีมือช่างเป็นจำนวนมากมาย จึงขอลำดับเหตุการณ์ในการค้นพบไว้เป็นหลักฐานสืบไป
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 15.20 น. นายพันตำรวจตรี วุฒิ สมุทรประภูติ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้ามาพบ นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร ณ กรมศิลปากร แจ้งว่าได้มีผู้ร้ายหลายคนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บางคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลอบลักขุดเข้าไปภายในกรุในองค์พระปรางค์ใหญ่ ในวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เก็บเอาทรัพย์สมบัติเป็นทองและของมีค่าไปมากมาย เวลานี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนร้ายและได้ของกลางไว้บ้างแล้ว ขอให้รีบไปดำเนินการโดยด่วน รองอธิบดีกรมศิลปากร จึงได้รีบนำเรื่องเสนออธิบดีกรมศิลปากรทราบ และอธิบดีกรมศิลปากรก็ได้สั่งการและมอบหมายให้รองอธิบดีรีบเดินทางออกไปดำเนินการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยด่วนในเย็นวันนั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

 

หมายเหตุ ภาพประกอบถ่ายใน พ.ศ. 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image