ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 16 “เครื่องราชูปโภค” (ภาพชุด)

ช้างหมอบ ทำด้วยทองคำสลักลวดลายและฝังพลอยมณีสลับสี ตรงคอมีรอยต่อถอดออกจากกันได้ ภายในกลวงอาจใช้บรรจุสิ่งของได้

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์ จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

เครื่องราชูปโภค

บรรดาศิลปวัตถุที่พบในกรุภายในองค์พระปรางค์ วัดราชบูรณะ นั้น มีเครื่องราชูปโภคเป็นจำนวนมาก ที่ทำด้วยทองสลักลวดลาย และบางชิ้นก็ฝังพลอยมณีสลับสี ด้วยฝีมือช่างงดงาม บางชิ้นก็พอรู้กันได้ว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่บางชิ้นก็ยังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นอะไร และใช้ในโอกาสไหนจึงเป็นของที่จะต้องได้รับการพิจารณากันต่อไป แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นแต่เพียงบางชิ้น เท่าที่พอจะรู้จักกัน

 

Advertisement
พระแสงขรรค์ชัยศรี และเครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง
พระแสงขรรค์ชัยศรี และเครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง ทำด้วยทองคำล้วน ขนาดเล็ก อาจสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ได้มาแต่แส้ (จามรี) กับวาลวิชนี และฉลองพระบาท (ได้มาเพียงขอนเดียว) อีกอันหนึ่งคงเป็นพัดโบก

 

(ซ้าย) พระทวย ด้ามถือเขียนเติมขึ้นใหม่โดยสันนิษฐาน เพื่อให้เห็นลักษณะและวิธีใช้ ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายพระทวยไว้ว่า "วัตถุอย่างหนึ่งเป็นคันสำหรับรองส่งเครื่องราชูปโภค เช่น ขันใส่เงินทรงโปรย หรือพระสุพรรณศรี ถวายพระมหากษัตริย์จากเบื้องต่ำสู่ที่ประทับ" (ขวา) พระแสงดาบสวมฝัก ตัวจริงยาว 1.15 เมตร
(ซ้าย) พระทวย ด้ามถือเขียนเติมขึ้นใหม่โดยสันนิษฐาน เพื่อให้เห็นลักษณะและวิธีใช้ ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายพระทวยไว้ว่า “วัตถุอย่างหนึ่งเป็นคันสำหรับรองส่งเครื่องราชูปโภค เช่น ขันใส่เงินทรงโปรย หรือพระสุพรรณศรี ถวายพระมหากษัตริย์จากเบื้องต่ำสู่ที่ประทับ” (ขวา) พระแสงดาบสวมฝัก ตัวจริงยาว 1.15 เมตร

 

เครื่องทองและเครื่องราชูปโภค อาทิ พระเต้า หรือสุวรรณภิงคาร จัดแสดงที่พิพิะภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
เครื่องทองและเครื่องราชูปโภค อาทิ พระเต้า หรือสุวรรณภิงคาร จัดแสดงที่พิพิะภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

 

เครื่องราชูปโภค
เครื่องราชูปโภคอย่างเชี่ยหมาก ทำด้วยทองคำสลักลวดลาย

 

ภาพลายเส้น พระเต้า หรือสุวรรณภิงคาร ฝาทำเป็นพรหม 4 หน้า
ภาพลายเส้น พระเต้า หรือสุวรรณภิงคาร ฝาทำเป็นพรหม 4 หน้า

 

พาหุรัด หรือทองกร สลักเป็นลวดลายประดับพลอยมณีสีต่างๆ
พาหุรัด หรือทองกร สลักเป็นลวดลายประดับพลอยมณีสีต่างๆ

เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ

เครื่องทองวัดราชบูรณะ

พระปรางค์วัดราชบูรณะในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์
พระปรางค์วัดราชบูรณะในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์
ข่าวลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะในหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศ
ข่าวลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะในหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศ

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image