ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 17 “หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เขียน ประติมากรรมสมัยอยุธยา”

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ภาพจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร)

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

ประติมากรรมสมัยอยุธยา

ของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ภัณฑารักษ์พิเศษ

การขุดค้นของโบราณภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2500 ทำให้ทฤษฎีการศึกษาเรื่องประติมากรรมซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ ซึ่งจะขอเรียกว่า ทฤษฎีเก่า เปลี่ยนแปลงไปบ้าง จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ไหน จะต้องพูดถึงระยะเวลาของทฤษฎีเก่าสักเล็กน้อย จึงจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจดีขึ้น

Advertisement

โบราณวัตถุสถานสมัยอยุธยา ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางหมวดหมู่ไว้ในตำนานพุทธเจดีย์สยาม จัดได้เป็น 4 ยุค ด้วยกันคือ

ยุคที่ 1

นับตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ.1893 และในรัชกาลหลังๆ ต่อมาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ.2031 ในระยะเวลา 138 ปีนี้ พุทธเจดีย์ที่สร้างในกรุงศรีอยุธยา จะเป็นพระธาตุเจดีย์ก็ดี พระพุทธรูปก็ดี พระพุทธรูปก็ดี ยังนับถือแบบอย่างสมัยลพบุรีอยู่ยิ่งกว่าแบบอย่างสมัยสุโขทัย ข้อนี้พึงเห็นได้ดังพระศรีรัตนมหาธาตุอันสร้างเป็นหลักเจดีย์สถานในพระอารามหลวง เช่น ที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างก็ดี ที่วัดมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และสมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างก็ดี ที่วัดราชบูรณะ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างก็ดี ที่วัดพระราม ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โปรดให้เริ่มสร้างขึ้น และสมเด็จพระราเมศวรกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างต่อมาจนสำเร็จก็ดี ที่วัดมหาธาตุที่เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างก็ดี และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างก็ดี สร้างเป็นพระปรางค์อย่างแบบสมัยลพบุรีทั้งนั้น พระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยนี้ ลักษณะก็คล้ายอย่างพระขอม (มักเรียกกันว่าแบบพระ “เมืองสรรค์”)

กรมดำรง

ยุคที่ 2

นับตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2006 คงจะได้ไปทรงทราบราชประเพณีครั้งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยถ้วนถี่ ต่อมาอีก 2 ปีเกิดทรงพระราชศรัทธาจะเสด็จออกอุปสมบทชั่วคราวเหมือนอย่างพระมหาธรรมราชาลิไทย จึงเอาแบบอย่างครั้งกรุงสุโขทัยให้ไปนิมนต์พระมหาสวามีในลังกาทวีป เข้ามาเป็นพระอุปัชฌาย์ คติลังกาวงศ์เห็นจะรุ่งเรืองขึ้นอีกในครั้งนั้น

ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งพระราชชนนีเป็นเชื้อสายกษัตริย์สุโขทัย ประสูติและทรงพระเจริญ ณ เมืองพิษณุโลก ได้เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.2034 เสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยาก็ทรงสร้างพุทธเจดีย์ตามแบบสมัยสุโขทัย เช่น พระมหาสถูป ที่บรรจุพระบรมอัฐธาตุของสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็สร้างเป็นพระสถูปอย่างลังกา และพระพุทธรูปทรงหล่อเป็นพระยืนองค์ใหญ่ ก็ถ่ายแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมาสร้าง (พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างสูญเสียแล้ว แต่พระโลกนารถสร้างทีหลังไม่ช้านักยังอยู่ที่วิหารด้านตะวันออกในวัดพระเชตุพน พอดูแบบอย่างครั้งนั้นได้)

ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สืบมา ดูเหมือนจะนิยมสร้างพุทธเจดีย์ตามแบบลังกาวงศ์เช่นเคยประพฤติมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และยังมีการไปมาติดต่อกับลังกาทวีปจนสิ้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รวมเป็นเวลา 137 ปี ความที่กล่าวนี้มีหลักฐานเป็นที่สังเกต ด้วยวัดที่สร้างในระยะนี้ พระเจดีย์ที่เป็นหลักวัดสร้างเป็นสถูปอย่างลังกาเป็นพื้น มิใคร่มีที่จะสร้างเป็นปรางค์อย่างเขมร และปราฏการณ์ที่ได้ทำบางอย่าง เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างพระเจดีย์ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชเมืองหงสาวดี ก็ทำตามแบบอย่างพระเจ้าทุษฐคามินีมหาราชชนช้างชนะพระยาเอฬารทมิฬที่ในลังกาทวีป และที่สุดปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พระสงฆ์ไทยออกเดินทางไปลังกาทวีป ไปได้ความจากพระสงฆ์ลังกาว่า รอยพระพุทธบาทที่พระองค์ได้ทรงเหยียบประทานไว้ ณ เขาสุวรรณบรรพตอยู่ในประเทศสยาม นำความนั้นกลับมาทูลพระเจ้าทรงธรรม เป็นเหตุ จึงให้ค้นหาและพบรอยพระพุทธบาทที่แขวงจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่คนขึ้นไปบูชากันทุกปีจนทุกวันนี้

วัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดพระศรีสรรเพชญ์

ยุคที่ 3

นับแต่รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2173 มาจนสิ้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ พ.ศ.2275 ระยะเวลา 102 ปี ในระยะนี้เกิดนิยมก่อสร้างพุทธเจดีย์แบบอย่างเขมรขึ้นอีก เหตุด้วยเดิมประเทศเขมรเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม เขมรตั้งแข็งเมือง พระเจ้าทรงธรรมปราบไม่ลงตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองได้ประเทศเขมรกลับมาขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างแต่ก่อน จึงเกิดนิยมถ่ายแบบอย่างปรางค์เขมรมา สร้างในกรุงศรีอยุธยาเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ เช่นสร้างพระปรางค์ใหญ่ที่วัดไชยวัฒนารามและสร้างพระนครหลวงทางลำน้ำป่าสักเป็นต้น พระพุทธรูปที่เคยสร้างเป็นพระก่อหรือพระหล่อมาแต่ก่อน ก็เกิดนิยมสร้างด้วยศิลาทราย เอาอย่างพระพุทธรูปที่นครวัดและนครธมเมืองเขมร ฝีมือทำพระพุทธรูปลักษณะเป็นอย่างขอมกับไทยปนกันไม่สู้งาม มีพระประธานองค์ใหญ่ ณ วัดชุมพลนิกายารามที่บางปะอินเป็นตัวอย่าง แต่ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองนั้นนอกจากอย่างเขมร ก็คิดประดิษฐ์สร้างมีของดีงามที่ปรากฏอยู่หลายอย่าง ดังเช่นพระเจดีย์เหลี่ยม 2 องค์ ที่วัดชุมพลนิกายาราม เป็นต้น ในรัชกาลหลังๆ ต่อมาในยุคนี้ แม้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ปรากฏว่าสร้างพุทธเจดีย์ใหญ่โต มีแต่การที่ทรงปฏิสังขรณ์ตามแบบอย่างที่มีอยู่แล้ว

วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม

ยุคที่ 4

นับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศมาจนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกเป็นเวลา 35 ปี ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศบำรุงฝีมือช่างและโปรดให้สร้างวัดวาอาราม มักทำโดยประณีต มีตัวอย่างฝีมืออยู่ที่วัดกุฎีดาว (พระเจ้าบรมโกศทรงสร้างแต่เมื่อยังเป็นพระมหาอุปราช) แต่พระเจ้าบรมโกศทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าเสียเป็นพื้น มิใคร่มีที่จะสร้างขึ้นใหม่ แต่ทำแห่งใดคงเห็นได้ว่าทำโดยฝีมือประณีต (วัดในเมืองเพชรบุรีที่ทรงปฏิสังขรณ์เป็นฝีมือเก่าทำในสมัยนี้เป็นพื้น) แบบอย่างแก้ไขเพียงลวดลาย แต่ว่ามาถึงชั้นนี้มิได้มีการศึกษาจากลังกา เพราะประเทศลังกาเกิดจลาจล พระศาสนาทรุดโทรมเศร้าหมองจนสูญสิ้นสมณะวงศ์ ต้องเข้ามาขอพระภิกษุไทยไปให้อุปสมบทตั้งสมณวงศ์ขึ้นใหม่ในลังกาทวีป ไทยกลับเป็นครูของลังกา แม้ทางเมืองเหนืออันเป็นท้องถิ่นต้นตำราพุทธเจดีย์สมัยสุโขทัยมาถึงยุคนี้ก็ทรุดโทรม ช่างกรุงศรีอยุธยากลับขึ้นไปช่วยปฏิสังขรณ์ ฝีมือที่ทำยังปรากฏ เช่นวัดพระชินราชที่เมืองพิษณุโลก พระปรางค์เชลียงที่เมืองสวรรคโลกเก่า วิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง และวัดพระฝางที่เมืองสวางคบุรี

พุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสร้างใน 4 ยุคที่กล่าวมา ถ้าว่าโดยลัทธิพระศาสนาสร้างตามลัทธิลังกาวงศ์ทั้งนั้น แต่ทว่าโดยแบบอย่างการช่างเอาแบบทั้งสมัยทวารวดี สมัยลพบุรีและสมัยสุโขทัยมาใช้ปะปนกันตามเหตุการณ์ หรือตามความนิยมของผู้คิดแบบอย่าง ถ้าว่าโดยคติเพราะเหตุที่ความรู้ลัทธิมหายานเป็นอันสูญมาเสียนานแล้ว ลัทธิลังกาวงศ์เล่าก็เสื่อมทรามมาช้านานจึงสร้างโดยคติที่ไทยนิยม ยกเป็นตัวอย่าง ดังเช่นพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นของเกิดขึ้นในลัทธิมหายาน ถือว่าเป็นรูปพระอาทิพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งต่างหาก ครั้นมาถึงสมัยลังกาวงศ์ซึ่งถือคติหินยาน แสดงอธิบายพระทรงเครื่อง ว่าเป็นพระศรีอาริยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้ในกาลภายหน้า ครั้งสมัยต่อมาถือว่าพระทรงเครื่องเป็นพระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าทรงจำแลงพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์เมื่อปราบท้าวมหาชมพู ดังนี้ ฯลฯ
พระอุเทสิกเจดีย์มีพระพุทธรูปเป็นสำคัญ สังเกตตามตัวอย่างที่ได้พบพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้น ชอบทำตามแบบขอม ยุคที่ 2 ชอบทำตามแบบช่างสุโทัย มีพระพุทธรูปงามอยู่ 2 ยุคเท่านี้ ต่อมาอีก 2 ยุคฝีมือคลายลง ในตอนปลายดูสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกันมาก พระพุทธรูปทรงเครื่องครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนองค์ที่เป็นพระประธานวัดหน้าพระเมรุ จะงามกว่าองค์อื่นๆ พระพิมพ์ก็ยังชอบสร้างกันสืบมา สร้างอย่างพระพิมพ์แบบสุโขทัยบ้าง ทำเป็นพระทรงเครื่องและมิได้ทรงเครื่องตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้าง เรื่องตำนานพระพุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยามีดังแสดงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image