อ.โบราณคดีชี้ โศกนาฏกรรม ‘วัดพระยาทำ’ ที่แท้หอระฆัง ไม่ใช่เจดีย์

สืบเนื่องกรณีสถาปัตยดรรมในวัดพระยาทำ ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ ถล่มขณะทำการบูรณะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย โดยสื่อนำเสนอข่าวว่าเป็น “เจดีย์” นั้น

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร. อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยข้อมูลว่า สถาปัตยกรรมดังกล่าวไม่ใช่เจดีย์ แต่เป็นหอระฆัง

รายละเอียดดังนี้

Advertisement

“หอระฆังนิยมสร้างกันในวัดไทยมาตั้งแต่สมัยไหนไม่ทราบ แต่หลักฐานที่คงสภาพเก่าพอจะกำหนดอายุได้คือหอระฆังของวัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา น่าจะสร้างขึ้นราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 21 อาจเพราะส่วนใหญ่นั้นมักสรา้งกันด้วยไม้จึงไม่เหลือให้เห็น

ความนิยมในหอระฆังเพิ่มขึ้นช่วงอยุธยาตอนปลาย เพราะมีหลักฐานว่าหอระฆังเริ่มก่อสร้างกันเป็นถาวรในช่วงนั้น จากหลักฐานหอระฆังหลายแห่งที่พบในวัดสมัยอยุธยาซึ่งมีรูปแบบเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย เช่น วัดโลกยสุธา วัดหอระฆัง(วัดนี้สร้างหอระฆังแบบพิเศษคือคร่อมทางเข้าวัดเป็นซุ้มประตูไปในตัว)

พอขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ หอระฆังยิ่งเป็นงานที่ขาดไม่ได้ และเขยิบเข้ามาอยู่ในเขตพุทธาวาส อาจเป็นเพราะเกี่ยวเนื่องกับตำนานเรื่องได้ระฆังจากวัดบางหว้าใหญ่เสียงดีเลยมาสร้างหอระฆังให้เป็นพิเศษข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

Advertisement

เป็นอันว่าสมัยรัตนโกสินทร์นั้นหอระฆังได้ก่อสร้างขึ้นเป็นหลักเป็นฐาน มีหน้ามีตาทัดเทียมร่วมกับอาคารอิ่นๆภายในวัดแล้ว

ซึ่งมีผลให้หอระฆังของวัดพระยาทำ ริมคลองมอญ ธนบุรี (ซึ่งเพิ่งพังถลมไปนั้น) ถูกสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตและวิจิตรพิศดารไปด้วยประติมากรรมรูปครุฑ ยักษ์ ช้าง ฯลฯ ซึ่งแม้เป็นงานประดับแต่ก็อิงกับความหมายทางศาสนาเอาไว้ในแง่ศูนย์กลางจักรวาล เหมือนกับงานประดับพระมหาธาตุเจดีย์อื่นๆ

ความเสียหายของหอระฆังวัดพระยาทำ(ไม่ใช่เจดีย์) จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพหลักฐานของหอระฆังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอันมาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image