ภาพยนตร์แอนตี้ฮีโร่เรื่องใหม่-หนังซอมบี้ไอเดียเจ๋งจากญี่ปุ่น

ภาพยนตร์แอนตี้ฮีโร่เรื่องใหม่-หนังซอมบี้ไอเดียเจ๋งจากญี่ปุ่น

Venom

เวนอม เป็นตัวร้ายของมาร์เวลคอมมิค ที่แฟนการ์ตูนชื่นชอบกันมาก เปิดตัวครั้งแรกในคอมมิค The Amazing Spider-Man ฉบับที่ 300 เป็นปรสิตจากต่างดาวที่เรียกว่า ซิมไบโอต ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอาศัยร่างกายมนุษย์ ทำให้มนุษย์ที่ถูกครอบงำ มีพลังมหาศาล มี healing factor มีความรุนแรงพอๆ กับจิตใจที่โหดเหี้ยม

ในส่วนของภาพยนตร์ เวนอม เคยปรากฏตัวอย่างไม่ค่อยน่าประทับใจใน Spider-Man 3 เป็นพลังด้านมืดของสไปเดอร์แมน ที่พอรู้ตัวเขาก็สลัดมันทิ้ง

เวนอมจึงหันไปสิงร่างเอ็ดดี้ บล็อค นักข่าวหนุ่มที่เคียดแค้น ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ที่ทำให้เขาสูญเสียอนาคตโดนไล่ออกจากงาน

Advertisement

เมื่อเอ็ดดี้กลายเป็นเวนอม สไปเดอร์แมนจึงเป็นคนแรกที่ถูกเช็คบิล แต่บทบาทเวนอมในหนังภาคนั้น แฟนๆ ไม่ค่อยจะปลื้ม เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับเวนอมมีมากมาย แต่ในหนังเวนอมกลายเป็นเพียงตัวประกอบ ที่โผล่มาไม่กี่ซีนก็ถูกยุติบทบาท

Venom ที่ค่ายโซนี่ พิกเจอร์ส เอามาเล่าใหม่นี้ จึงน่าจะถูกใจแฟนคลับ แต่ก่อนหนังฉายไม่เท่าไหร่ หนังโดนถล่มเละจากนักวิจารณ์เมืองนอกและเว็บไซต์ดัง Rotten Tomatoes

ส่วนหนึ่งอาจเพราะหนังถูกลดเรทเหลือ RG-13 แทนที่จะเป็นเรท R อย่างที่คอหนังขาโหดคาดหวัง แถม ทอม ฮาร์ดี้ ตัวเอกของเรื่องดันให้สัมภาษณ์ว่า ฉากที่เขาชอบมากที่สุดไม่มีอยู่ในหนัง เพราะหนังถูกตัดออกไปถึงเกือบ 40 นาที

Advertisement

แต่เมื่อหนังฉายกลับสวนกระแสคำวิจารณ์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แค่สามวันแรกโกยรายได้ทั่วโลกไปกว่า 200 ล้านเหรียญ

ฮาร์ดี้เป็นนักแสดงมากฝีมือที่เคยได้รับรางวัลบาฟต้าจากหนัง Inception มีชื่อเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก The Revenant บทที่คนดูดูแล้วเกลียดตัวละครตัวนี้มากๆ แต่หลายคนชื่นชมฮาร์ดี้จากหนังออสการ์หลายรางวัล Mad Max: Fury Road บทตัวร้ายจากหนัง The Dark Knight Rises และบทนักบินสุดเท่จากหนัง Dunkirk

ซึ่งสองเรื่องหลัง ฮาร์ดี้ใส่หน้ากากโผล่มาแต่ตา แต่คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับมือหนึ่งของฮอลลีวูดที่กำกับหนังทั้งสองเรื่องพูดว่า “สำหรับทอม ด้วยตัวของทอมเอง สิ่งที่เขาแสดงด้วยตาข้างเดียวเหนือกว่าใครๆ ที่ใช้ทั้งร่างกายแสดง”

ในเวนอม ฮาร์ดี้ ฉีกภาพลักษณ์ตัวเองจากที่เคยเห็นเขาเล่นบทเครียดๆ มาเป็นนักข่าวมาดกวน ที่พยายามตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับองค์กร Life Foundation ของคาร์ลตัน เดร็ก (ริซ อาห์เหม็ด) มหาเศรษฐีทรงอิทธิพล ผู้ลักลอบศึกษาปรสิตจากต่างดาว โดยใช้มนุษย์เป็นตัวทดลองอย่างไร้มนุษยธรรม

ผลการขุดคุ้ย ทำให้เอ็ดดี้เสียงาน เสียแฟน และเลยไปสู่การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรสิตหรือซิมไบโอตจากนอกโลก

ฮาร์ดี้รับบทตัวละครที่อยู่ท่ามกลางความดีและความชั่ว เป็นชายสองบุคลิก ภาคหนึ่ง ต่อต้านความไม่ถูกต้องชั่วร้าย อีกภาคทรงพลัง โหดเหี้ยม พร้อมที่จะทำลายล้าง และที่น่าสยองคือ เขาชอบอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตไม่เว้นแม้แต่มนุษย์

ตัวละครตัวนี้น่าจะดาร์ก รุนแรง แต่กลับผิดคาด ระหว่างเอ็ดดี้กับเวนอม เหมือนคู่หูคู่ฮาที่แรกๆ ไม่เข้าใจกัน แต่ท้ายสุดก็หาจุดร่วมกันได้

ฮาร์ดี้บอกว่า “มันน่าตื่นเต้นนะ เพราะผมต้องแสดงเป็นคนสองแบบ กรอบของตัวละครตัวนี้ คือ สัตว์ประหลาดนอกโลก กับการที่คนและมันต้องหาจุดตรงกลาง เพื่ออยู่ร่วมกันให้ได้” ผลที่ออกมาคือความมีเสน่ห์และความฮาสุดๆ โดยเฉพาะมุขถกเถียงกัน ระหว่างเอ็ดดี้กับเวนอมที่ครอบงำร่างกายเขา

ที่ผ่านมามีหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่หล่อเหลา เป็นคนดี ช่วยผดุงความยุติธรรม และคอยช่วยเหลือผู้คนมามากแล้ว ลองไปดูหนังแอนตี้ฮีโร่ ที่รูปลักษณ์น่าเกลียด โหด อำมหิต อยากกินมนุษย์จนต้องคอยถามร่างที่สิงว่า คนไหนควรกินคนไหนไม่ควรกิน

แต่ก็แอบมีมุมอ่อนโยน ที่สอนเอ็ดดี้ให้รู้จักขอโทษเมื่อทำผิดต่อแฟนสาว และแม้หน้าตาจะน่าสยอง แต่เชื่อว่าหลายคนเผลอหลงรัก และตั้งตารอชม Venom ภาคต่อไปอย่างแน่นอน

One Cut of the Dead

หนังจากแดนปลาดิบเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนใจและเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่ One Cut of the Dead เป็นหนังทุนต่ำ ใช้ทุนสร้างประมาณ 27,000 เหรียญสหรัฐ (แปดแสนกว่าบาท) ฉายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เปิดตัวในโรงหนังไม่กี่โรง

แต่กระแสปากต่อปาก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ต้องเพิ่มโรงฉายเป็นหลายร้อยกว่าโรง

หนังเดินทางไปไกลหลายประเทศ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ จีน ประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย ฯลฯ รายได้ทั่วโลก ณ เดือนกันยายน มากกว่า 20 ล้านเหรียญ เป็นหนังขวัญใจผู้ชม (Audience Award) จากเทศกาลหนังนานาชาติที่บราซิล และเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ให้คะแนนเต็ม 100%

เนื้อหาหนังพูดถึง “การทำหนังซอมบี้” เล่าเรื่องกองถ่ายหนังที่ไปถ่ายทำหนังซอมบี้ในโรงงานร้างแห่งหนึ่ง ที่มีเรื่องเล่ากันว่า สมัยสงครามโลกกองทัพใช้โรงงานนี้ทดลองโครงการลับเกี่ยวกับการปลุกชีพคนตาย เมื่อถ่ายทำไป เหล่าซอมบี้ตัวจริงก็ลุกขึ้นมาร่วมแจม จนเกิดความโกลาหลไปทั่วกองถ่าย

ถ้าอ่านแค่นี้อาจนึกว่าเป็นหนังซอมบี้สุดโหดที่ลุกขึ้นไล่ล่าฆ่ามนุษย์ แต่เนื้อเรื่องไม่ใช่มีเพียงแค่นี้ ไม่อยากสปอยล์ ขอเฉลยเพียงว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลกที่ล้อเลียนวงการภาพยนตร์ (ของญี่ปุ่น) เสนอปัญหาหน้างานที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำหนัง

หนังพูดถึงนายทุนที่เอาเปรียบ อยากสร้างหนังแต่ให้ทุนจำกัด ดาราเรื่องมากที่เอาแต่ใจตัวเอง คนในกองถ่ายที่ติดเหล้าจนไร้ความรับผิดชอบ การพยายามสร้างงานคุณภาพที่อยากให้ดาราแสดงเองมากกว่าการใช้ตัวช่วยแบบน้ำตาเทียม ความปั่นป่วนหลากหลายที่เกิดขึ้นเบื้องหลังการถ่ายหนัง ที่ดูแล้วต้องหัวเราะ ขำความบ้าบอคอแตกที่เกิดขึ้น

ไอเดียหนังแหวกแนว ดาราที่แสดงก็ไม่ใช่ดาราดัง แถม ชินอิจิโร อูเอดะ ผู้กำกับที่ทั้งเขียนบทและตัดต่อเอง ก็เพิ่งทำหนังยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก

เปิดตัวหนังด้วยเรื่องราวของซอมบี้ที่ลุกขึ้นมาอาละวาดกองถ่ายหนัง เป็นการถ่ายแบบลองเทค 37 นาที เพื่อออกอากาศแบบสดๆ ทางรายการโทรทัศน์ ซึ่งถ่ายซ่อมไม่ได้

ในหมู่ผู้สร้างและนักดูหนังต่างรู้ดีว่า การถ่ายทำแบบนี้เป็นการโชว์ศักยภาพที่องค์ประกอบทุกอย่างต้องเป๊ะ ทีมงานต้องพร้อม ทั้งผู้กำกับ นักแสดง จังหวะกล้อง ฯลฯ เพราะเป็นการถ่ายยาวๆ โดยไม่มีการตัดต่อ

One Cut of the Dead กล้าหาญชาญชัยมาก ที่กล้าเปิดเรื่องด้วยฉากลองเทค 37 นาที ในขณะที่หนังรางวัลออสการ์แบบ Gravity หรือ La La Land ที่มีฉากลองเทคค่อนข้างนาน ก็ยังยาวแค่ประมาณสิบกว่านาทีเท่านั้น

แถมหนังช่วงแรกจะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนโดนหลอก หนังอะไรไม่รู้ โปรดักชั่นกระจอก เนื้อเรื่องไม่สมเหตุสมผล บทสนทนาแปร่งๆ นักแสดงโอเวอร์แอค เป็นลองเทคที่ถ่ายทำแบบแฮนด์เฮลด์ สะดุดๆ กระโดดไปกระโดดมา

แต่ไฮไลต์ของหนังอยู่ตรงนี้แหละ ขอให้อดทนดู และจะพบกับคำตอบที่ทำให้ต้องอมยิ้ม และชื่นชมไอเดียบรรเจิดของผู้กำกับนามชินอิจิโร อูเอดะ

แต่ขอบอกก่อนว่า One Cut of the Dead เป็น “หนังคัลท์” ที่อาจไม่ใช่หนังสำหรับคนดูทุกกลุ่ม เสน่ห์ของหนังอยู่ที่การถ่ายทอดมุมมองเบื้องหลังการสร้างหนัง ทั้งเทคนิค วิธีการ ขั้นตอนและอื่นๆ ที่กว่าจะสร้างเสร็จต้องเผชิญปัญหาจิปาถะ

เป็นหนังที่คนสนใจเกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์น่าจะไปดู เพราะเป็นตัวอย่างของหนังทุนต่ำที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ น่าจะเป็นพลังให้คนทำหนังได้คิดว่า ปัจจัยความสำเร็จของหนัง ไม่ได้อยู่ที่ทุนการสร้างเสมอไป บางครั้งอยู่ที่มุมมองและวิสัยทัศน์ที่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่แปลกใหม่มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image