พันท้ายนรสิงห์ เรื่องจริงหรือนิทาน ตำนานหรือเรื่องเมาธ์?

นักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามต่อภาพยนตร์กรณีการใช้ขบวนเรือพระราชพิธีและบทเห่เจ้าฟ้ากุ้งซึ่งเกิดขึ้นหลังยุคพระเจ้าเสือ

ถูกนำกลับมาสร้างใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งล่าสุด ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงบรรจงถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มออกฉายก่อนปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ก่อนหน้านั้น เคยมีมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2488 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนิพนธ์เป็นบทละครเวที โดยมีเพลง “น้ำตาแสงใต้” ของครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร เรียกเสียงสะอื้นจากผู้ชม ต่อมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ.2493 แล้วจึงเข้าสู่จอแก้วครั้งแรกทางช่อง 9 นำแสดงโดยกำธร สุวรรณปิยะศิริ รับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์

นับแต่นั้นมา พันท้ายนรสิงห์เวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ก็ฮิตหนัก จนต้องกลับมาสร้างกันอีกหลายต่อหลายครั้ง นับนิ้วแทบไม่หมด ยังไม่นับเวอร์ชั่นละครเวทีที่ก็ยังมีให้ชมอยู่เนืองๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุให้เรื่องของชายผู้จงรักติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานสืบมาจนปัจจุบัน โดยมีภาพจำว่าทั้งหมดคือเรื่องจริงที่อิงจากพงศาวดาร

ทว่า เมื่อหันมาดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็ยังมีประเด็นชวนสงสัยให้ไขปริศนาอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน น่าตื่นเต้นไม่แพ้เรื่องราวในละครเลยจริงๆ

ADVERTISMENT
พันท้ายนรสิงห์ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งจนกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำร่วมของคนไทย
พันท้ายนรสิงห์ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งจนกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำร่วมของคนไทย

พันท้ายนรสิงห์ (แค่) นิทานแทรกพงศาวดาร?

มาเริ่มกันที่คำถามง่ายๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่อย่างประเด็นที่ว่า พันท้ายนรสิงห์ มีตัวตนจริงไหม?

ADVERTISMENT

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ บอกว่า พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ร.4) ไม่ได้ระบุว่าพันท้ายนรสิงห์ชื่อจริงอะไร อายุเท่าไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร บ้านอยู่ไหน เมียชื่ออะไร มีลูกหรือยัง? ฯลฯ

สรุปว่า แทบไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพันท้ายนรสิงห์เลย

อย่างไรก็ตาม “พันท้าย” เป็นตำแหน่งที่มีอยู่จริงในอดีต มีหน้าที่ควบคุมทิศทางอยู่ท้ายเรือ คู่กับพันหัวอยู่หัวเรือ ถือศักดินา 100 ไร่

ส่วน “นรสิงห์” ไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อบุคคลหรือสมญา แต่ที่แน่ๆ มีความหมายว่า ผู้มีกำลังห้าวหาญปานสิงห์

พันท้ายนรสิงห์ในที่นี้ เป็นพันท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน อยู่สังกัดกรมลำทรง (ในพระอัยการ ตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ตราขึ้นยุคต้นอยุธยา ราว พ.ศ.2000)

ถามถึงความคิดส่วนตัว สุจิตต์มองว่า พันท้ายนรสิงห์เป็นเพียงตัวเอกของ “นิทาน” แทรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินพระเจ้าเสือ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2245-2251)

“นิทานแทรกพงศาวดารมีเสมอ ต้องอ่านอย่างมีสติให้รู้เท่าทัน แล้วหาหลักฐานอื่นประกอบเสียก่อน มิฉะนั้นจะตกหลุมพรางใส่ร้ายทางการเมืองยุคอยุธยา” สุจิตต์ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่นำไปสู่ประเด็นคำถามต่อไป

พันท้ายนรสิงห์เวอร์ชั่นล่าสุด โดย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
พันท้ายนรสิงห์เวอร์ชั่นล่าสุด โดย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล


พระเจ้าเสือถูกใส่ร้าย?

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องการใส่ร้ายทางการเมือง ที่นักค้นคว้าผู้นี้ทิ้งไว้ ต้องมาย้อนเท้าความกันสักนิดว่าตามประวัติศาสตร์แล้ว พระเจ้าเสือ เป็นโอรสพระเพทราชา ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง อันเป็นราชวงศ์ที่ถูกประณามในภายหลังคือในสมัยรัตนโกสินทร์ ว่าเป็นต้นเหตุให้กรุงศรีอยุธยาแตก ใน พ.ศ.2310

สุจิตต์จึงมองว่า พระเจ้าเสือถูกใส่ร้ายป้ายสีให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ดังมีเนื้อความใส่ร้ายอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่ามักเสพสมัครสังวาสด้วยเด็กหญิงยังไม่มีประจำเดือน ความตอนหนึ่งว่า

“ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยกักขฬะหยาบช้าทารุณร้ายกาจ ปราศจากกุศลสุจริต

ทรงประพฤติผิดพระราชประเพณี มิได้มีหิริโอตตัปปะ และพระทัยหนาไปด้วยอกุศลลามก มีวิตกในโทสะโมหะมูลเจือไปในพระสันดานนิรันดรมิได้ขาด

และพระองค์ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ขาวอยู่เป็นนิตย์ แล้วมักยินดีในการอันสังวาสด้วยนางกุมารีอันยังมิได้มีระดู

ถ้าและนางใดอุตสาหะอดทนได้ ก็พระราชทานรางวัลเงินทองผ้าแพรพรรณต่างๆ แก่นางนั้นเป็นอันมาก

ถ้านางใดอดทนมิได้ไซร้ ก็ทรงพระพิโรธ และทรงประหารลงที่มัชฌิมุราประเทศให้ถึงแก่ความตาย แล้วให้เอาโลงขาวมาใส่ศพนางนั้นออกไปทางประตูพระราชวังข้างท้ายสนมนั้นเนืองๆ และประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูผีออก มีมาตราบเท่าทุกวันนี้”

สุจิตต์บอกว่า ข้อความลักษณะนี้มีสอดแทรกเสมอในพระราชพงศาวดารยุคอยุธยา รวมถึงนิทานแทรกเรื่องพันท้ายนรสิงห์ก็มีส่วนใส่ร้ายด้วย ผู้ติดตามต้องอ่านอย่างรู้เท่าทันโดยไม่ด่วนเชื่ออย่างขาดสติ

ขุดคลอง ส่องกล้องแบบ ′ฝรั่ง′

ไม่ว่าเรื่องของพันท้ายนรสิงห์และพระเจ้าเสือจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญที่ทิ้งไว้การเป็นสัญลักษณ์ของการสำรวจภูมิประเทศเพื่อปรับปรุงการคมนาคมในยุคนั้น กล่าวคือ การใช้เทคโนโลยีจากยุโรปมากำหนดแนวตามต้องการซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากปากน้ำท่าจีนสู่กรุงศรีอยุธยา

มีข้อความจากพระราชพงศาวดารว่า

“ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้วดูให้ตรงปากคลอง” แล้วปักกรุยไม้หลักหมายเป็นสำคัญ โดยโปรดให้ขุดคลองมหาชัย เมื่อ พ.ศ.2248 ทว่ามาเสร็จสิ้นในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ราว พ.ศ.2264 ให้ชื่อว่า คลองมหาชัย

วิธีการคือ ขุดคลองโคกขามที่คดเคี้ยวอย่างมาก ให้ตัดตรงต่อจากคลองสนามชัย เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งทางเรือ (เชื่อมทางบก) กับบ้านเมืองทางตะวันตกและทางใต้ เช่น เมืองเพชรบุรี, เมืองแม่กลอง (สมุทรสงคราม), เมืองท่าจีน (สมุทรสาคร) ซึ่งส่งผลให้การค้าเลียบชายฝั่งทะเลกับบ้านเมืองต่างๆ ทางอ่าวไทยสะดวกขึ้น กลายเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำ

ตำหนักทองวัดไทร ย่านบางขุนเทียน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประทับพระเจ้าเสือ แต่รูปแบบสถาปัตย์ชี้ว่าเพิ่งสร้างสมัย ร.4-ร.5
ตำหนักทองวัดไทร ย่านบางขุนเทียน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประทับพระเจ้าเสือ แต่รูปแบบสถาปัตย์ชี้ว่าเพิ่งสร้างสมัย ร.4-ร.5

′ตำหนักทองวัดไทร′ เกี่ยวหรือไม่กับพระเจ้าเสือ?

หนึ่งในสถานที่ซึ่งถูกเล่าขานสืบต่อมาว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่พระเจ้าเสือ(จำใจ)ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ ก็คือ ตำหนักทองวัดไทร ริมคลองสนามชัย ย่านบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ชาวบ้านเล่ากันปากต่อปากสืบมาว่า เรือนไม้สักหลังนี้เป็นที่ประทับแรมของพระเจ้าเสือ คราวเสด็จไปทรงเบ็ดที่มหาชัย เมืองสมุทรสาคร กระทั่งเกิดกรณีพันท้ายนรสิงห์ หลังจากนั้นทรงพระราชอุทิศให้เป็นกุฏิสงฆ์

ส่วนที่เรียกว่าตำหนักทองนั้น เพราะเดิมลงรักปิดทองด้านในและด้านนอก จนงดงามอร่ามตาไปทั้งหลัง

อย่างไรก็ตาม ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ระบุว่า หากพิจารณาจากรูปแบบศิลปะแล้ว สถาปัตยกรรมดังกล่าว เป็นงานช่างยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 มานี้เอง จึงอาจไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพระเจ้าเสือและพันท้ายนรสิงห์อย่างที่เชื่อกัน

งานหนักนักเขียนบท มหรสพอิงประวัติศาสตร์

มาถึงภาพยนตร์เวอร์ชั่นล่าสุดกันบ้าง แม้ไม่เปรี้ยงปร้างดังเช่น “บางระจัน” ละครย้อนยุคปลุกความเป็นชาตินิยมที่ฉายในจอแก้วเมื่อต้นปี 2558 แต่ก็ได้รับการกล่าวถึงพอสมควรทั้งในหมู่นักดูหนัง รวมไปถึงนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่บางรายออกปากว่า “เขียนบทได้สับสนมาก”

ปติสร เพ็ญสุต อาจารย์ประจำสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า ขอมอบคะแนนให้ 6 เต็ม 10 เพราะภาพยนตร์ดังกล่าวทำให้งุนงงในหลายๆ ตอน โดยเฉพาะตัวละครหลัก “เดี๋ยวเป็นพระเจ้าเสือ เดี๋ยวเป็นวังหน้า”

ชาวบ้านสักการะศาลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
ชาวบ้านสักการะศาลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร


ความเห็นนี้สอดคล้องกับ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งตั้งคำถามหลังตีตั๋วดูหนังเวอร์ชั่นดังกล่าว ว่าพระเจ้าเสือในภาพยนตร์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือกรมพระราชวังบวรฯ (วังหน้า) กันแน่

กูรูพระราชพงศาวดารอธิบายเพิ่มเติมว่า “เรื่องพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องที่ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมที่ชำระในปลายรัชกาลที่1และได้ถูกเน้นในสมัย ร.5 ในชุดโคลงภาพพระราชพงศาวดาร จนท้ายสุดถูกนำมาผลิตซ้ำในละครจนอยู่คู่คนไทยในฐานะยี่ห้อน้ำจิ้มไก่ตราพันท้ายนรสิงห์” รุ่งโรจน์กล่าวอย่างติดตลก และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์สร้างความเข้าใจผิดในหลายๆ ตอน เช่น ฉากขบวนเรือ ใช้บทเห่ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ทั้งที่ตอนนั้นพระองค์ยังไม่ประสูติ ยังไม่นับว่าธรรมเนียมเห่เรือในขบวนหลวงเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ฉากพระเจ้าเสือเสด็จคลองมหาชัย เห็นเจดีย์มอญพม่าในฉาก สงสัยพม่ารามัญมาเป็นแรงงานประมง (หัวเราะ)

ฉากพระเจ้าเสือไล่จับตัวละครตัวหนึ่ง ใช้เรือพระราชพิธีไล่ตามตั้งแต่อยุธยาถึงไทรโยค ซึ่งเป็นไปไม่ได้

นวล คนรักของพันท้ายนรสิงห์ (ซึ่งถูกแต่งขึ้นมาภายหลัง) นั่งเรือไปวิเศษชัยชาญแล้วควบม้าไปทันขบวนเรือที่มหาชัย แสดงว่าม้าตัวดังกล่าวมีความเร็วกว่ารถไฟชินคันเซ็น ของญี่ปุ่น

และที่รุ่งโรจน์ตกใจที่สุดคือ สมัยพระเจ้าเสือมี “ราชนาวี” ได้อย่างไร

 

ภาพถ่ายเก่าศาลเจ้าแม่ศรีนวล
ภาพถ่ายเก่าศาลเจ้าแม่ศรีนวล


คอมเมนต์เช่นนี้คงมีขึ้นด้วยความห่วงใยสไตล์อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ หาใช่จงใจจับผิดด้วยเจตนาร้าย อย่างไรก็ตาม นี่คือปรากฏการณ์ที่ส่อเค้าว่าในอนาคตมือเขียนบท และผู้สร้างละคร ต้องทำการบ้านหนักกว่าเก่า เพราะแม้เป็นเพียงละครหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่ไม่ต้องถึงขนาดโขกตามพระราชพงศาวดาร แต่รายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ดังนั้น อนาคตอาจเป็นงานหนักสำหรับผู้ผลิตละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารและโซเชียล ที่ออนแอร์แป๊บเดียว ก็มีกระแสวิพากษ์ติชมกันอย่างรวดเร็ว

วงการบันเทิงไทยจะปรับตัวสู้ผู้ชมที่เพาะบ่มเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์มากขึ้นทุกวันได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือนิทาน ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงการเป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทยไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image