The Upside กับ The Favorite : มิตรภาพต่างสีผิวและวังวนอำนาจของอิสตรี

The Upside กับ The Favorite : มิตรภาพต่างสีผิวและวังวนอำนาจของอิสตรี

The Upside กับ The Favorite : มิตรภาพต่างสีผิวและวังวนอำนาจของอิสตรี

The Upside

หนังเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนต่างสีผิวสองคน ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน เติมเต็มกันและกัน จนกลายเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้นน่าประทับใจ ที่สร้างจากเรื่องจริง ออกฉายติดๆ กันถึงสองเรื่อง คือ Green Book และ The Upside

Green Book เป็นหนังระดับรางวัลออสการ์ แถม The Upside ยังเข้าฉายทีหลัง คนดูเลยอาจยังไม่นึกอยากไปดูหนังเรื่องนี้ ความจริงหนังไม่เหมือนกันทีเดียว แม้จะเป็นหนังฟีลกู๊ดทั้งสองเรื่อง แต่ความลึกของประเด็นนำเสนอต่างกัน

The Upside มาพร้อมการสร้างกำลังใจ ที่หากใครกำลังท้อแท้หรือหดหู่น่าจะลองแวะเข้าไปชม

Advertisement

หนังรีเมกจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง Les Intouchables ที่สร้างจากชีวิตจริงของนักธุรกิจฝรั่งเศส ฟิลลิป ปอซโซ ดิบอร์โก ผู้ประสบอุบัติเหตุจากเครื่องร่อน ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา และผู้ดูแลส่วนตัวของเขา อับเดล เซลลู

หนังต้นฉบับปี 2011 ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และเสียงชื่นชม แม้แต่อินเดียยังนำเรื่องนี้ไปสร้างเป็นหนังชื่อ Oopiri ออกฉายในปี 2016 และอาร์เจนตินาก็กำลังจะรีเมกหนังเรื่องนี้เช่นกัน

นีล เบอร์เกอร์ ได้รับการติดต่อให้สร้างหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเขาไม่รับกำกับเพราะไม่อยากสร้างหนังรีเมก แต่บทใหม่ที่เขาได้รับในปี 2016 ทำให้เขาเห็นภาพว่าจะสร้างเรื่องราวของคู่หูต่างขั้วให้มีลักษณะเป็นอเมริกัน เพิ่มเติมทั้งอารมณ์ขันและความเป็นดราม่าให้กับตัวละครได้อย่างไร

Advertisement

The Upside มีเนื้อหาที่ต่างจากต้นฉบับเดิมพอสมควร แต่เนื้อหาหลักยังคงเล่าเรื่องราวของฟิลลิป (ไบรอัน แครนส์ตัน) มหาเศรษฐีที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะเกิดอุบัติเหตุจนช่วงใต้ลำคอลงมาเคลื่อนไหวไม่ได้ กับเดลล์ (เควิน ฮาร์ท) ผู้ทำหน้าที่ผดุงชีพ อดีตผู้ต้องขังตกงาน ที่พยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่

เดลล์มาสมัครงาน โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าที่ผดุงชีพคืออะไร

ฟิลลิปรับเดลล์เข้าทำงาน เพราะคิดว่าคนมีบุคลิกลักษณะอย่างเดลล์น่าจะปล่อยให้เขาตายโดยไม่พยายามช่วยชีวิต และคงสวนทางกับอิวอนน์ เลขานุการสาวของเขา (นิโคล คิดแมน) ที่พยายามจะยื้อชีวิตเขาไว้ทุกครั้งที่เขาอยากตาย

แต่ฟิลลิปประเมินเดลล์ผิด มิตรภาพของคนทั้งสองที่ก่อตัวบนความแตกต่าง ทำให้คนดูทั้งขัน ทั้งหัวเราะและรู้สึกประทับใจ

ดาราทั้งสามคนรับส่งมุขกันได้ดี แครนส์ตัน (ซึ่งมีดีกรีเคยเข้าชิงออสการ์จาก Trumbo และเคยได้รางวัลเอ็มมี่จาก Breaking Bad) ได้มีโอกาสพูดคุยกับฟิลลิป ปอซโช ทำให้เข้าใจความกดดันของคนที่ต้องมีชีวิตอยู่บนรถเข็นตลอดกาล

ส่วนเควิน ฮาร์ท ที่คนดูคุ้นเคยกับเขาในบทตลกกวนๆ แบบหนัง Jumanji: Welcome to the Jungle ในเรื่องนี้ ก็ได้เห็นพาร์ทที่เป็นดราม่า ซึ่งเขาไม่เคยแสดงมาก่อน

นิโคล คิดแมนเป็นดาราระดับออสการ์อีกคน ที่เรื่องนี้แสดงแบบสบายๆ แต่ก็ทำให้คนดูสัมผัสได้ว่าความห่วงใยที่เธอมีต่อฟิลลิปน่าจะลึกซึ้งเกินคำว่าลูกจ้าง

ใครที่รู้สึกสิ้นหวังลองเข้าไปดู เป็นหนังสร้างกำลังใจที่เหมือนจะบอกว่าคนทุกคนล้วนมีความทุกข์ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และใช้ชีวิตให้มีความหมายและมีความสุขได้อย่างไร

The Favorite

ถ้าบุพเพสันนิวาสทำให้คนที่ดูละครเรื่องนั้น สนใจไปหาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาอ่าน

The Favourite ก็น่าจะเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้คนดูบางคนต้องไปค้นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีแอนน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สจ๊วต และคนโปรดของพระองค์สองคน ซาร่าห์ เชอร์ชิลล์ หรือดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ และอบิเกล ฮิลล์ มาอ่าน ด้วยความอยากรู้ว่า ประวัติศาสตร์จริงๆ เป็นเช่นไร

หนังดังเรื่องนี้กวาดรางวัลจากหลายเวที เช่น รางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จาก โอลิเวีย คอลแมน ในบท ควีนแอนน์

7 รางวัลจากเวที BAFTA Awards 2019 ครั้งที่ 72 อาทิ ภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ฯลฯ

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือผู้กำกับหนังอินดี้ชาวกรีก ยอร์กอส ลันธิมอส The Favourite เป็นหนังย้อนยุคเรื่องแรกที่เขากำกับ และเป็นเรื่องแรกที่เขาไม่ได้เขียนบทเอง แต่สร้างจากบทภาพยนตร์ของโทนี แมคนามารา และ เดบราห์ เดวิส ซึ่งคนดูหลายคนมีความเห็นตรงกันว่านี่เป็นหนังของลันธิมอสที่ดูเข้าใจง่ายที่สุด

ที่ผ่านมาผลงานของผู้กำกับคนนี้มีสไตล์แปลกๆ ตีความยาก อย่างหนัง Dogtooth, The Lobster และ The Killing of a Sacred Deer

ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่การคิดนอกขนบของผู้กำกับ ทำให้ The Favourite เป็นหนังพีเรียดคอมเมดี้สุดเพี้ยนที่ออกแนวดาร์ก แม้จะสะท้อนความโอ่อ่าเริดหรูของคนในวัง แต่นำเสนอในมุมมองเชิงเสียดสี เมื่อชนชั้นสูงอังกฤษยุคนั้น มีกิจกรรมบันเทิงประหลาดๆ ไร้สาระ เช่น แข่งเป็ด ปาส้มใส่ร่างเปลือยชายตุ้ยนุ้ย ฯลฯ

ควีนแอนน์ (โอลิเวีย คอลแมน) มีอารมณ์ไม่ปรกติ คุ้มดีคุ้มร้าย หน้าตาอมทุกข์อันเกิดจากโรคภัยที่รุมเร้า และความทุกข์ใจจากการสูญเสียลูกทั้งหมด 17 คน

เลดี้ซาร่าห์ หรือ ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ (ราเชล ไวซ์) เป็นสตรีทรงอำนาจที่อยู่เบื้องหลังควีน คอยดูแลควีนทุกอย่าง ทั้งการแต่งกาย ยามเจ็บไข้ได้ป่วย และที่สำคัญคือแทบจะว่าราชการแทน และคอยชักใยควีนอยู่ข้างหลัง

อบิเกล ฮิลล์ (เอ็มม่า สโตน) ญาติผู้ตกต่ำของซาร่าห์ ซ่อนความทะเยอทะยานและมักใหญ่ใฝ่สูงไว้ภายใต้ใบหน้าที่ใสซื่อ ด้วยความฉลาด เรียนรู้เร็ว เธอรู้ว่าความสัมพันธ์ของควีนและซาร่าห์ลึกซึ้งเกินความเป็นเพื่อนหญิง และไม่รีรอที่จะใช้วิธีเดียวกันเพื่อก้าวสู่ความเป็น “คนโปรด” ของควีน

การประชันบทแย่งชิงความเป็นคนโปรดระหว่างสตรีสูงศักดิ์ (ซาร่าห์) กับหญิงตกอับที่พร้อมจะใช้มายาทุกอย่างเพื่อพิชิตใจราชินี (อบิเกล) ไม่ต่างอะไรกับละครน้ำเน่าหลังข่าวของไทย

ที่คุณหลวงมีเมียสองคน คนหนึ่งมีอำนาจ แต่ไม่ประจบสอพลอ พูดจาตรงๆ ไม่เสแสร้งแกล้งเอาใจ กับอีกคนหนึ่งช่างออเซาะฉอเลาะและทำตัวน่าสงสาร เมื่อประกอบกับความไม่มั่นคงทางอารมณ์ของคนกลาง ก็คงไม่ยากเกินเดาว่าฝ่ายไหนจะชนะ

ราเชล ไวซ์ สง่างามระคนเด็ดขาด แม้จะพลาดรางวัลออสการ์แต่ได้ลูกโลกทองคำมาปลอบใจ ขณะที่เอ็มม่า สโตน ตอแหลน่าตบ เมื่อประกอบกับบุคลิกพิลึกพิลั่นของราชินี หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังแบบที่ BBC สรุปว่า “หนังพีเรียดรุนแรงที่ตลกปนหยาบ มีการกระทำที่ผิด ซึ่งอาจทำให้คนที่คาดหวังจะดูหนังดรามาในวังต้องช็อก แต่มันกลับทำให้หนังมีความดึงดูดใจ”

ฉากและคอสตูมดีไซน์โอ่อ่า อลังการ การแต่งกายของสตรีมีลักษณะที่ตรงข้ามกับบุรุษโดยสิ้นเชิง โทนเสื้อใช้สีดำขาวเป็นหลัก สะท้อนความอึมครึมทางการเมืองที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายมีอำนาจ ส่วนตัวละครชาย เสื้อผ้าหน้าผมฉูดฉาด สวมวิกเวอร์วัง แต่งหน้าทาปากแดงยิ่งกว่าอิสตรี

ในยุคนั้น ดยุคแห่งมาร์ลบะละ เป็นแม่ทัพที่มากความสามารถ แต่ในหนังไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ แต่เน้นไปที่กลเม็ดเด็ดพรายเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ (นิโคลัส โฮลท์) ซึ่งลุกของเขาในหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นภาพจำของคนดูหลายคน

The Favourite เป็นหนังมีเสน่ห์และน่าสนใจ เล่าเรื่องเหมือนจะตลกแต่ไม่ตลก ดนตรีประกอบแปลกๆ พฤติกรรมตัวละครซับซ้อน ซ่อนความดิบเถื่อนไว้ภายใต้ความสูงศักดิ์ ทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายห้ำหั่นคู่ต่อสู้แบบไม่มีใครยอมใคร

ฉากจบของหนังปรากฏเอกลักษณ์ของผู้กำกับชัดเจน ในส่วนที่ชอบนำสัตว์มาเป็นนัยยะให้คนดูตีความ ใน The Lobster คือกุ้งมังกร ใน The Killing of a Sacred Deer คือกวาง ในเรื่องนี้คือกระต่าย

แต่ใครจะตีความอย่างไรนั้นต้องเข้าไปดูกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image