วิจารณ์หนังตลกร้ายฝรั่ง ‘Cold Pursuit’ ควบหนังรักไทย ‘แสงกระสือ’

วิจารณ์หนังตลกร้ายฝรั่ง ‘Cold Pursuit’ ควบหนังรักไทย ‘แสงกระสือ’

วิจารณ์หนังตลกร้ายฝรั่ง ‘Cold Pursuit’ ควบหนังรักไทย ‘แสงกระสือ’

Cold Pursuit

ถ้าหนัง บรูซ วิลลิส มีชื่อทำนอง คนอึดนั่นคนอึดนี่ หนังของลุงเลียม นีสัน ก็หนีไม่พ้นชื่อแค้นนั่นแค้นนี่ ทั้งๆ ที่ความจริงลุงเลียมแกเล่นหนังได้หลายสไตล์

เคยมีชื่อชิงออสการ์มาแล้วจาก Schindler’s List หนังดังแบบ Star Wars แกก็เคยแสดง พากย์เสียงสิงโตในหนังแอนิเมชั่นก็เคยมาแล้ว แต่อย่างว่าละ พอหนังแอคชั่น Taken ดังระเบิดจากบทพ่อที่บู๊สุดฤทธ์เพื่อปกป้องลูก ลุงแกก็เลยถูกจับให้เล่นแต่หนังแอคชั่นไล่ล่าฆ่าไม่เลี้ยงแบบนี้เรื่อยมา

มาถึงเรื่อง Cold Pursuit แกก็รับบทแนวนี้อีก เป็นชายชื่อ เนล ค็อกซ์แมน หัวหน้าครอบครัวที่สันโดษ มีชีวิตเรียบง่าย เป็นพลเมืองดีเด่นที่มีหน้าที่ขับรถกวาดหิมะ ในสกีรีสอร์ทของดินแดนที่ห่างไกลในเมืองคีโฮที่หนาวเหน็บ

Advertisement

แต่จู่ๆ ลูกชายของเนลก็ถูกฆ่าตายโดยแก๊งค้ายาเสพติด ตำรวจสรุปง่ายๆ ว่าตายเพราะเสพยาเกินขนาด และไม่คิดที่จะทำอะไรต่อไป

เนลหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ลูกก็ตาย เมียก็ทิ้ง ชีวิตสงบสุขของเขาล้มคว่ำในพริบตา ก่อนที่จะปลิดชีวิตตัวเอง เนลเกิดได้เบาะแสคนฆ่าลูกจากเพื่อนตัวแสบของลูกชาย การตามทวงแค้นจึงเกิดขึ้น โดยไม่รู้เลยว่า เขาเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างแก๊งค้ายาสองแก๊ง

แก๊งแรกนำโดยไวกิ้ง (ทอม เบทแมน จาก Vanity Fair, The Body, Into the Dark และเคยได้รางวัล GQ 2018 Men of the Year) พ่อค้ายาขาใหญ่มาดกวน ที่มีวิธีคิดที่ผิดปรกติ

Advertisement

อีกแก๊งนำโดยไวท์ บูล (ทอม แจ็คสัน นักแสดงดังจากแคนาดา มีผลงานซีรีส์ Cardinal และเคยแสดงหนังเรื่อง The Dependables) ชาวชนเผ่าอินเดียนแดงขาโหดที่ทรงอิทธิพล

ถ้าคิดว่าจะเป็นหนังแอคชั่นมันระห่ำ เว่อร์ๆ แบบ Taken, Non–Stop หรือ The Commuter หนัง Cold Pursuit ไม่ใช่แบบนั้น

มันมีความเป็นหนังแอคชั่นแบบแบล็กคอมเมดี้ ที่มีบทสนทนาตลกร้าย หนังไม่บู๊ล้างผลาญ แต่ถูกจัดเรท R มีฉากโหดๆ เลือดสาดกระจาย มีการตายหลายศพ และบางศพแค่ตายไม่พอ ต้องตัดหัวให้ขาดเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

เลียมพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า “มันคือการผสมผสานของการล้างแค้น ความรุนแรง และอารมณ์ขันร้าย” ในขณะที่โปรดิวเซอร์ ไมเคิล แซมเบิร์ก (ที่มีผลงาน เช่น Pulp Fiction, Out of Sight) บอกว่า “มันคือหนังแห่งความแค้น มันคือหนังแอนตี้ความรุนแรง โดยที่มันคือหนังแห่งความรุนแรง”

เนลไม่ใช่คนที่เตรียมพร้อมมาเพื่อตามทวงแค้นจากใคร เขาเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาที่รักครอบครัว ไม่ได้เป็นทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่พิเศษ แต่ความแค้นทำให้เขาเดินออกจากกรอบของการเป็นพลเมืองดีเด่น ตามล่าฆ่าคนที่ฆ่าลูกชายของเขาโดยใช้วิธีบ้านๆ

แต่เพราะฝ่ายตรงข้ามมีอีโก้สูงและประมาท เขาจึงสามารถจัดการกับเหล่าร้ายได้ โดยฆ่าแล้วก็จะเอาศพไปทิ้งน้ำตกซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

ส่วนตัวร้ายของเรื่อง ไวกิ้ง (ทอม เบทแมน) เป็นตัวร้ายที่มีมุมแปลกๆ เหมือนคนเป็นโรคจิต ทั้งชวนขัน โหด และเลือดเย็น เขาเป็นมังสวิรัติ และบังคับให้ลูกชายและลูกน้องดื่มสมูธตี้ผักเหมือนตัวเอง ชอบทำตัวอวดฉลาดแต่ตัวเองกลับทำอะไรโง่ๆ

หนังได้รับคำวิจารณ์ที่ดีจากนักวิจารณ์ต่างประเทศ แต่สำหรับคนหนังแอคชั่นเมืองไทย อาจจะไม่สู้คุ้นเคยกับหนังล้างแค้นตลกดาร์ก ที่ตัวร้ายมีอารมณ์และการแสดงออกที่ประหลาดๆ แบบนี้

ดูจบนึกถึงคำโปรยหนังที่ว่า Revenge is Best Served Cold เป็นคำโปรยที่เค้าเข้ากันกับหนัง

แสงกระสือ

ชื่อหนังบอกยี่ห้อว่าเป็นหนังผี แต่เป็นหนังผีที่ถูกตีความในแนวที่แปลกออกไป ภาพจำผีกระสือมักเป็นหญิงแก่มีแต่หัวกับไส้เรืองแสงสีเขียว ออกหากินยามกลางคืน โดยลอยไปลอยมาในหมู่บ้านชนบท ชอบกินของสกปรก โสโครก เช่น อุจจาระ เลือด รกเด็ก

แต่กระสือในแสงกระสือ มีทั้งที่เหมือนเดิม (ถอดหัวออกจากร่างไปหาอาหารคาวกิน และติดต่อกันทางน้ำลายเหมือนเรื่องเล่าเดิมๆ ) แต่เปลี่ยนตัวละครกระสือจากหญิงแก่หน้าตาน่าเกลียด เป็นเด็กสาววัยรุ่นแสนสวย ที่มีความรัก ความฝันและความหวัง

การที่ร่างการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เธอทั้งสับสน เจ็บปวดจนสะท้อนออกมาว่า “สัตว์ประหลาดมันทั้งน่าเกลียด น่ากลัว แต่พอมาเป็นตัวเอง ถึงได้รู้ว่า สัตว์ประหลาดมันก็มีหัวใจ”

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ โดม สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่แม้แสงกระสือจะเป็นหนังยาวเรื่องแรกของเขา แต่เขาเคยร่วมกำกับหนังเรื่อง Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย (2556)

หนังสั้นโฆษณาเครื่องสำอาง Cute Press เรื่อง Midnight Sun ที่เล่าเรื่องราวของแวมไพร์สาว ซึ่งเขากำกับ เคยคว้ารางวัล Best Film of Asia Pacific จาก Berlin Fashion Film Festival 2017 มาแล้ว

โดม ชักชวนให้ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ผู้กำกับหนัง รักแห่งสยาม และ 13 เกมสยอง ฯลฯ) เป็นผู้เขียนบท เพราะมะเดี่ยวเป็นมือเขียนบทที่สามารถสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครวัยรุ่นได้อย่างมีมิติและร่วมสมัย เพื่อให้หนังแสงกระสือ มีลักษณะเป็นแบบที่เขาต้องการ คือ ล้างภาพกระสือน่าเกลียดน่ากลัว ชอบอาจม

หนังพาคนดูย้อนกลับไปที่จังหวัดชนบทแห่งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเพื่อนรักสามคน สาย (มินนี่ ภัณฑิรา) น้อย (โอบ นิธิ) และ เจิด (เกรท สพล) ทั้งสามมีสัญญากันว่า เมื่อสงครามยุตติ จะพากันไปเที่ยวพระนคร โดยที่ไม่รู้ว่า ความซุกซนในวัยเด็ก ส่งผลให้สายติดเชื้อกระสือซึ่งส่งผ่านทางน้ำลาย เหตุร้ายนี้ทำให้ชีวิตที่น่าจะมีอนาคตของคนทั้งสามเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

เมื่อความจริงเริ่มปรากฏ ทั้งน้อย (โอบ โอบนิธิ) และ เจิด (เกรท สพล) พยายามหาทางปกป้องหญิงที่เขารักอย่างสุดความสามารถ ในแบบฉบับของตัวเอง

แต่การมาของพรานล่ากระสือที่มีอดีตซ่อนเร้นอย่าง ทับ (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) กลับโหมกระพือให้สถานการณ์เลวร้ายลง ชาวบ้านหวาดระแวงและคลุ้มคลั่ง จนเป็นไปได้หรือไม่ ที่น้อยและเจิดจะช่วยสายให้หลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้

แสงกระสือเป็นหนังรัก ที่มีฉากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกระสือ เอาตำนานมาสร้างขึ้นใหม่ให้กระสือมีความร่วมสมัยมากขึ้น รูปลักษณ์เปลี่ยนไป เส้นผมสยาย (คล้ายเมดูซ่าที่มีผมเป็นงู) มีหัวใจกับเส้นสายโยงยางที่ไม่ชัดเจนว่าคือไส้ เรืองแสงสีแดง ไม่ใช่สีเขียวแบบภาพจำสมัยก่อน

เนื้อหามีความเป็นหนัง Coming of Age ที่ตัวละครทั้งสามตัวต้องผ่านช่วงชีวิตที่ลำบาก และพยายามต่อสู้เพื่อไปให้ถึงสิ่งที่ตนวาดหวังไว้

หนังค่อนข้างเครียดและดราม่า แต่ไม่น่ากลัว ไม่ใช่หนังผีประเภทตุ้งแช่หรือตลกไร้สาระ มีความคล้ายกับหนัง The Shape of Water ตรงที่เป็นหนังพาฝันเรื่องราวรัก โรแมนติกระหว่างคนกับสัตว์ประหลาด

ดารานำทั้งสามคนแสดงดีโดยเฉพาะมินนี่ ในบทสาย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกที่เธอแสดง ส่วนสองหนุ่มแสดงได้สูสีกัน

น่าเสียดายที่หนังปูความสัมพันธ์ระหว่างสายกับน้อยไม่มากพอทำให้คนดูซาบซึ้งในความรักของคนทั้งสอง ส่วนตัวกลับไปเห็นใจเจิดที่อยู่เคียงข้างสายตลอดเวลา คอยดูแล ห่วงใย เสียสละและพยายามปกป้องสายจนตัวเองตกอยู่ในภาวะที่ลำบาก

หนังอาจไม่สมบูรณ์พร้อม แต่เป็นหนังไทยที่ยกระดับหนังไทยได้อีกเรื่องหนึ่ง คนดูสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและความประณีตในการสร้างหนังเรื่องนี้ งานภาพสวย ทั้งแสงสี บรรยากาศและโทนที่เข้ากับยุคสมัย หนังใช้ CG ค่อนข้างมากและทำได้ดี

ฉากแอคชั่นการต่อสู้ของกระหังน่าตื่นตาตื่นใจ ซีนติดตาคนดูคงหนีไม่พ้นคำโปรยของหนัง “จูบแรก จูบเดียว จะเปลี่ยนเราไปตลอดกาล” เมื่อเป็นหนังรักของหนุ่มสาววัยรุ่น ผู้กำกับเลือกใช้การจูบเป็นการถ่ายทอดเชื้อกระสือแทนการถ่มน้ำลายลงแก้วน้ำให้ดื่ม

กระสือสวยน่ารักขนาดนี้ เชื่อว่าหนุ่มๆ ที่ดูฉากนี้ คงสมัครใจยอมเจ็บปวดเฉกเช่นน้อยอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image