ล้ำลึกมาก! นักประวัติศาสตร์ตีความ“ชุดสุวรรณเจดีย์”ควรคู่ “นางงามจักรวาล”เหตุสอดคล้องสัญลักษณ์เชิงปรัชญา

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง สำหรับชุด“สุวรรณเจดีย์” ซึ่งกองประกวดมิสซิสยูนิเวิร์สนำชุด ให้ยุ้ย-กัณธิชา ฉิมศิริ สวมใส่ในเวทีประกวด มิสซิสยูนิเวิร์ส 2016 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม- 8 กันยายน ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน โดยมีต้นแบบมาจากพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

งานนี้นักประวัติศาสตร์อย่าง พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ออกมาตีความอย่างล้ำลึกแล้วเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยกล่าวถึงข้อมูลในเชิงสัญลักษณ์ของสถูปเจดีย์ที่มีความหมายสื่อถึง “จักรวาล” ดังนั้น ชุดดังกล่าว ก็ควรคู่ให้ผู้หญิงที่ต้องการเป็นนางงามจักรวาลสวมใส่

อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์ ได้วงเล็บไว้ตอนท้ายว่า ตนอาจตีความฟุ้งซ่านก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายว่า การประยุกต์ใช้ศิลปะไทยในวัฒนธรรมไทยยังค่อนข้างน้อย เพราะไม่กล้า เมื่อมีผู้นำมาใช้ จึงกลายเป็นเรื่องตลก
ข้อความมีดังนี้

Advertisement

“ผมจะตัดเรื่องสวยหรือไม่สวยออกไป แต่จากชุดแต่งกายประจำชาติ (แฟนซี) ของนางงาม ทำให้ผมนึกถึง 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ งานเขียนสำคัญเล่มหนึ่งเรื่อง “สัญลักษณ์แห่งพระสถูป” (The Symbolism of the Stupa) เขียนโดย เอเดรียน สนอดกราส (Adrian Snodgrass) ผมอ่านเมื่อปี 42-43 คงได้ หนังสือดี แต่อ่านไม่จบเพราะหนามาก (และเป็นแนวการสอนที่ต่างจากที่คณะโบราณคดีอธิบายซึ่งมักจะเน้นองค์ประกอบ ของเจดีย์มากกว่าความหมายเชิงปรัชญาศาสนา)

เท่าที่ผมจำได้เขาอธิบายว่า องค์ระฆังของเจดีย์นั้นเรียกว่า “อัณฑะ” ใช่ คืออะไรกลมๆ มันก็เรียกได้หมด  แต่ประเด็นคืออัณฑะนี้เป็นเหมือนกับแหล่งของชีวิตไปพร้อมกัน แน่นอน เจดีย์พัฒนาขึ้นมาจากหลุมฝังศพ แต่เมื่อมันถูกพัฒนาในเชิงสัญลักษณ์ มันมีความหมายมากกว่านั้น เจดีย์เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ดังนั้น เจดีย์จึงมีความหมายเป็นศูนย์กลางของจักรวาลไปพร้อมกันด้วย (เช่นกรณีของเจดีย์จุฬามณี ตั้งบนยอดเขาพระสุเมรุเลย) หมายความว่า ชุดของนางงามคือ ศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตไปพร้อมกัน มันก็คู่ควรที่จะให้ผู้หญิงที่ต้องการเป็นนางงามจักรวาล (ผมอาจจะฟุ้งซ่านตีความก็ได้)

Advertisement

ประเด็นถัดมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้น ศาสนาพุทธได้กลายเป็นอัตลักษณ์ของชาติ และเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของความเป็นชาติไทย (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ต้องย้ำด้วยว่า ศาสนาพุทธต้องเป็นพุทธเถรวาทด้วยนะจึงจะถือว่าเป็นศาสนาพุทธประจำชาติไทย เพราะถือกันว่าเป็นพุทธแท้ไม่ใช่พุทธเทียม (ทั้งๆ ที่พุทธแท้เป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้) นอกจากนี้แล้ว สมัย ร.4 เป็นต้น เจดีย์ทรงระฆังเป็นเจดีย์ที่นิยมมาก มักใช้เป็นศูนย์กลางของวัด (หรือเป็นเจดีย์ประธาน) (เช่น พระปฐมเจดีย์) เพราะรัชกาลที่ 4 ท่านเกิดสำนึกทางประวัติศาสตร์ จึงย้อนกลับไปเอาเจดีย์แบบอยุธยามาใช้ สุวรรณเจดีย์นี่ก็คือมีต้นแบบจากวัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา) เพราะฉะนั้น เจดีย์นี้จึงแสดงความเป็นไทยมาก เป็น very Thai (ไม่รู้ว่าคนออกแบบจะคิดไปถึงตรงนั้นหรือไม่)

ถามว่าแล้วทำไมคนถึงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก แน่นอน เป็นสิทธิส่วนบุคคลฮะ ชอบบ้างไม่ชอบบ้างเรื่องปกติ แต่ผมคิดว่าเป็นเพราะเรายังติดอยู่ในกรอบเรื่องของความเหมาะสม คือการประยุกต์ใช้ศิลปะไทยในวัฒนธรรมไทยยังค่อนข้างน้อยมาก ไม่กล้าใช้กัน พอใช้ก็จะกลายเป็นเรื่องตลก แน่นอน กรณีนี้ก็ใช้ตรงไปตรงมาไปหน่อย แต่ผมคิดว่าเป็นเพราะมันกำลังเล่นกับสิ่งที่เป็นความรู้สึกและอัตลักษณ์ของเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image