“คำเม้า เปิดถนน” มือพิณไทยอีสาน บุกเทศกาลดนตรีโลก

"คำเม้า เปิดถนน" มือพิณไทยอีสาน บุกเทศกาลดนตรีโลก

“คำเม้า เปิดถนน” มือพิณไทยอีสาน บุกเทศกาลดนตรีโลก

จากอดีตมือพิณบ้านๆ คนหนึ่งที่เคยสะพายพิณเข้ามาหากินในกรุงเทพฯ พร้อมคำปรามาสของผู้คนว่า “จะไปเป็นวณิพกเหรอ” “ไปเล่นพิณที่กรุงเทพฯ จะดังได้ไง ไม่ใช่นักร้อง”

วันนี้มือพิณชาวจังหวัดร้อยเอ็ดที่ชื่อ “พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ” หรือที่คนรู้จักมากกว่าในชื่อ “คำเม้า เปิดถนน” (ชื่อในวงการที่เจ้าตัวบอกว่าความจริงแล้วต้องเขียนว่า “คำเม่า” ถึงจะถูกตามการออกเสียง) เป็นมือพิณที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศนี้

ที่สำคัญ “คำเม้า เปิดถนน” ยังเป็นนักดนตรีสัญชาติไทยที่พูดได้เต็มปากว่า “โกอินเตอร์” ได้ไกลกว่าใคร ในฐานะมือพิณประจำวงดนตรี “พาราไดซ์ แบงคอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์ (Paradise Bangkok Molam International Band)” ที่ไปโชว์มาแล้วในเทศกาลดนตรีหลายสิบเวทีในยุโรป

และกำลังทัวร์แสดงคอนเสิร์ตในยุโรปอีกรอบในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้

Advertisement

ซึ่งหนึ่งในงานใหญ่ที่พวกเขาจะพาเสียงพิณแคนจากแดนอีสานของไทยไปประกาศศักดาก็คือ เทศกาลดนตรี “กลาสตันบิวรี่ (Glastonbury)” ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก

“Jimi Hendrix of The Phin” คือสมญานามที่คนฟังเพลงและโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตชาวตะวันตกเอ่ยถึงเขา เมื่อยามที่เขายืนเด่นเป็นฟรอนต์แมนอยู่กลางเวที ร่ายมนต์เสียงพิณอีสานด้วยลีลาท่วงทาที่พลิ้วไหวเป็นธรรมชาติ ดูมีความสุขล้นที่ได้ปลดปล่อยเสียงพิณออกมาจากจิตวิญญาณ

ที่เขามีความสุขหลับตาพริ้มยิ้มสยามทุกครั้งที่ยืนดีดพิณบนเวที อาจจะเป็นเพราะกว่าจะมาถึงจุดที่ได้ไปยืนบนเวทีใหญ่มีคนต่างชาติให้การยอมรับเขาต้องต่อสู้มาเยอะบนเส้นทางสายนี้ กับการเป็นมือพิณบ้านนอกที่ไม่มีใครมองเห็นค่า

Advertisement

คำเม้าเล่าถึงเส้นทางชีวิตมือพิณของเขาว่า เกิดมาก็ได้ยินเสียงพิณเลย เพราะคุณพ่อเป็นมือพิณ “พิณเพชร” ชื่อจริงของเขานั้นบ่งบอกได้ดีว่าพิณสำคัญแค่ไหนสำหรับพ่อของเขาและตัวเขาเอง

“ได้ยินเสียงพิณมาตั้งแต่เกิด พอเริ่มรู้ความ พ่อทำพิณตัวเล็กๆ ให้หัดเล่น โตขึ้นมาอีกหน่อยพ่อสอนว่าพิณเป็นเครื่องดนตรีของพระอินทร์ ถ้าตึงสายจะขาด ถ้าหย่อนจะไม่ไพเราะ ต้องใช้ทางสายกลาง ยิ่งพ่อเล่าเรื่องพิณพระอินทร์ให้ฟัง ผมยิ่งมีจิตศรัทธาและมานะตั้งใจเล่นมากขึ้น เป็นสองแรงบวกที่ทำให้รักพิณมากขึ้น ผมรู้สึกว่ากินใจมาก คงจะไม่มีเสียงอะไรที่ไพเราะไปกว่านี้ จนถึงทุกวันนี้สำหรับผมก็ยังรู้สึกว่าพิณมีเสียงไพเราะกว่าเครื่องดนตรีอื่น”

พอโตขึ้นมา เขาทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง และเล่นพิณในงานต่างๆ ตามต่างจังหวัดเป็นอาชีพเสริม

“เริ่มเล่นเป็นอาชีพตอนอายุราว 30 ปี แต่ก็ไม่ใช่อาชีพหลัก อาชีพหลักเป็นคนงานก่อสร้าง เริ่มเล่นกับวงหมอลำ วงดนตรีอีสาน บางทีไปเล่นตามงานฉายหนังกลางแปลง ไปขอเขาเล่น เอาพิณไปจ่อไมค์ของเขา ไม่ได้เงิน แต่เล่นเพราะอยากให้ชาวบ้านฟัง

ผมถือพิณเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อปี 2528 มีคนเย้ยว่า จะไปเล่นพิณในกรุงเทพฯ จะดังได้ยังไง ไม่ใช่นักร้อง และมันก็ไม่ดังจริงๆ ตอนนั้นมือพิณในเมืองไทยมีแค่ อาจารย์ทองใส ทับถนน คนเดียวที่มีชื่อเสียง คนเขาว่ากันว่าจะไม่มีใครมีชื่อเสียงเรื่องการเล่นพิณอีกแล้ว นอกจากอาจารย์ทองใส

ใครๆ ก็บอกให้ผมไปทำอย่างอื่น ร้องเพลง ร้องหมอลำ ถ้าเล่นพิณไม่มีทางที่คนจะรู้จัก แต่ผมก็ยังดีดพิณ ผมรักพิณ

โชคดีที่เถ้าแก่เจ้าของบริษัทก่อสร้างใจดีให้เงินมาประมาณ 3-4 หมื่นให้ผมออกเทปพิณของตัวเอง ให้เปล่าเลย ไม่ต้องคืน เพราะเขาชอบที่ผมดีดพิณ ผมทำแล้วเอาไปแลกข้าวแลกผลไม้กิน ไปฝากขายบ้าง ตามเซเว่น ตามร้านลาบ ร้านอาหารอีสาน แต่ก็หายไปเลย ไมได้เงินคืน แต่ผมทำเพราะชอบ ทำแล้วแจกเฉยๆ ก็มี

ปี 2529 ผมรับจ้างอัดเทป มีคนเอาเทปเปล่ามาจ้างอัด ม้วนละ 40-50 ก็ทำ ทำมาเรื่อยๆ พอรู้จักคนมากขึ้น ได้อัดเทปให้บริษัท ทิวลิป 2 ชุด และรับอัดเสียงให้นักร้องคนนั้นคนนี้เยอะ ช่วงนั้นถึงได้รู้จักอาจารย์ทองใส และอาจารย์ทองใสก็เป็นครูคนที่ 2 ของผม ที่ให้วิชาการเล่นพิณแบบอินเตอร์ขึ้นมา จากที่เรียนมาจากพ่อเป็นการเล่นพิณแบบโบราณดั้งเดิม” เขาเล่าประวัติชีวิตตัวเอง

จุดเปลี่ยนแรกในชีวิต “คำเม้า เปิดถนน” อยู่ที่การได้ออกอัลบั้ม “พิณร้องเพลง” กับบริษัท นพพร โปรโมชั่น

“มาเป็นที่รู้จักจริงๆ ตอนที่อัดอัลบั้มพิณร้องเพลง กับบริษัทนพพร ผมเล่นแบบที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน คือเอาพิณมาบรรเลงแทนเสียงร้องไปเลย จึงพิสูจน์ว่าเล่นพิณก็เป็นที่รู้จักได้ ขายได้เหมือนกัน ขายได้มากจริงๆ ช่วงนั้น ไปไหนมาไหนผมก็แกล้งไปถามร้านซีดีว่ามีอัลบั้มนี้ไหม เขาก็บอกว่าหมดแล้ว ขายดีมาก ผมได้ออกทีวีตลอดเลยช่วงนั้น”

แต่ช่วงเวลานั้นก็ผ่านไป เขาบอกว่าถึงแม้จะขายดีมีชื่อเสียงขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่คนอื่นคิด เพราะว่าได้ค่าจ้างอัดในตอนแรกเท่านั้น ไม่ได้เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งการขาย

จากนั้นชีวิตก็กลับไปเงียบสงบอยู่พักหนึ่ง

จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนอีกครั้งในวัยราว 50 เมื่อเขาได้รับคำเชิญชวนจาก “ณัฐพล เสียงสุคนธ์” หรือ “ดีเจมาฟต์ไซ (DJ Maft Sai)” ให้เข้าร่วมทำวงดนตรีหมอลำประยุกต์เพื่อไปลุยตลาดต่างประเทศ

“ผมก็สงสัยว่าไปเล่นพิณที่เมืองนอก ใครจะมาฟัง เคยไปตามงานเมืองนอกก็มีแต่คนไทยมาดู ไม่มีฝรั่ง”

แต่ถึงจะมีความสงสัย เขาก็ตอบตกลง เพราะอยากไปให้ได้ไกลกว่าที่เคย และการรวบรวมสมาชิกวงครั้งนี้ ก็เกิดเป็นวง “พาราไดซ์ แบงคอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้ “Bangkok” และ “Thailland” มาแล้วทั่วยุโรป

“ตอนแรกคิดว่าไปเมืองนอกก็จะเล่นแบบดั้งเดิมเรานี่แหละ แต่วงเขาบอกว่า เล่นแบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับ ถ้าเล่นแบบเดิมก็ไปได้แค่นี้แหละ ด้วยความที่อยากไปเมืองนอก เราก็โอเค เปลี่ยนก็เปลี่ยน เหมือนให้เรากินขนมปัง ก็พอกินได้ แต่ใจเราก็ยังชอบทำนองหมอลำและจังหวะแบบหมอลำอีสานจริงๆ” เขายอมรับว่าตอนแรกลำบากใจที่ไม่ได้เล่นแบบหมอลำอีสานแท้ๆ

“ไปเมืองนอก เห็นฝรั่งสนุกกับเรา ผมก็ดีใจ ในประวัติศาสตร์ไม่มีมือพิณไปเมืองนอก วงอื่นไปโชว์วัฒนธรรมตามโรงเรียน ตามวัด ตามงานของคนไทยในต่างประเทศ แต่วงเราได้ไปเล่นงานที่ฝรั่งดู

พอลงจากเวทีมีนักดนตรีเข้ามาทักทายเยอะ เขาเข้ามาจับไม้จับมือ ยกนิ้วให้ แต่ผมคุยภาษาอังกฤษกับเขาไม่ได้ ต้องให้น้องๆ แปลให้ ผมเสียใจจริงๆ ที่ผมพูดภาษาอังกฤษกับเขาไม่ได้

ไปเดินตลาด มีฝรั่งวิ่งตาม เขาจำได้ มาขอจับมือขอถ่ายรูป ในเมืองไทยก็มีทั้งฝรั่ง ชาวญี่ปุ่น สิงคโปร์ เด็กวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ด้วย

เมื่อก่อนผมเล่นพิณไม่เคยมีวัยรุ่นมาขอถ่ายรูป ตอนนี้มีแต่วัยรุ่นคนหนุ่มคนสาวมาขอถ่ายรูปด้วย ผมชอบตรงนี้ ถึงจะไม่แก่ เด็กวัยรุ่นมาเรียกพี่ๆ ลงแท็กซี่เด็กรุมเต็มเลย และมีคนรุ่นใหม่ คนในเมืองสนใจมาเรียนพิณมากขึ้น ผมมีลูกศิษย์รวมแล้ว 400-500 คน จากที่เมื่อก่อนมีแค่คนอีสานที่สนใจพิณ” เขาเล่าและยิ้มภูมิใจในตัวเอง

“Come on … Come on” เสียงที่คนดูชาวตะวันตกตะโกนดังขึ้นเมื่อยามที่วงพาราไดซ์ แบงคอกฯ แสดงสดอยู่บนเวที หาใช่การตะโกนคำว่า “Come on” ตามความหมายจริง

แต่เป็นการออกเสียงเรียกชื่อ “คำเม้า” ในสำเนียงของชาวตะวันตกที่ประทับใจเสียงบรรเลงเครื่องดนตรีจากดินแดนตะวันออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image