การเมืองแรง ศิลปะร้อน ‘สงขลา พาวิลเลียน’ บุกเวนิส โชว์ ‘ทวิลักษณ์และการข้ามผ่าน’

ดร.วิษณุ เครืองาม ชมนิทรรศการ "THE REVOLVING WORLD" โลกยังคงหมุน

การเมืองไทยกำลังร้อนแรง แวดวงศิลปะก็ใช่ย่อย เพราะก่อนหน้านี้ มีดราม่าปมการคัดสรรทีมภัณฑารักษ์และศิลปินในเทศกาลดังระดับโลกอย่าง เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ที่ต่างฝ่ายงัดหลักฐานโชว์ และผลัดกันชี้แจงวุ่น สร้างบรรยากาศคุกรุ่นที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเมืองภายในซึ่งแม้มีอยู่จริงในแทบทุกวงการ แต่ไม่เผยให้เห็นบ่อยนักต่อสาธารณะสำหรับแวดวงศิลปะร่วมสมัย กระทั่งฝีแตกออกมาจนได้ในครานี้

อย่างไรก็ตาม เทศกาลดังกล่าวที่ไทยเข้าร่วม ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ สศร. เปิดตัวทีมภัณฑารักษ์และศิลปินที่ “คัดเลือก” มาด้วยตนเอง เพื่อร่วมแสดงในงานนี้

ในขณะที่ภาคเอกชน ก็ยังมี หอศิลป์สงขลาพาวิลเลียน นำศิลปินไทยมาเผยแพร่ผลงานให้โลกได้รับชม โดยนำเสนอผ่านนิทรรศการ “Trans-Synthesis ทวิลักษณ์และการข้ามผ่าน”

เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58

ที่น่าสนใจคือ ทีมเอกชนที่ว่านี้ หลายคนก็คือทีมภัณฑารักษ์และศิลปินที่พลาดหวังจากการพิจารณาของ สศร. นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น อภิศักดิ์ สนจด อดีต ผอ.หอศิลป์ตาดู ภัณฑารักษ์ ผู้ถือป้ายค้านผลการพิจารณากลางกรุงเวนิส แล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กโชว์โซเชียล, วิทยา จันมา ศิลปินผู้ผสมผสานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นอีกรายที่ออกมาเผยแพร่ข้อเขียนชี้แจงต่อการแถลงปมคัดเลือกทีมศิลปินที่ สศร. ระบุว่า ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก เพราะไม่เข้าธีมของเวนิส เบียนนาเล่ รวมถึง อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์เป็นที่รู้จักจากการนำเส้นผมมาถักโครเชต์เป็นงานศิลปะ

Advertisement

พิธีเปิดนิทรรศการมีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน สร้างความปลาบปลื้มใจให้ภัณฑารักษ์และทีมศิลปินเป็นอย่างยิ่ง ยังมี ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายธีรพจน์ จรูญศรี ประธานกรรมการมูลนิธิสงขลาเมืองเก่า อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ รักษาการรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมศิลปินไทยและคนไทยในอิตาลีกว่า 100 ราย เป็นสักขีพยาน โดยในวันเดียวกันนั้น ยังมีงาน “Thai Day” เปิดสภาวัฒนธรรมไทยในอิตาลีไปพร้อมๆ กัน

“ในนามของรัฐบาลไทย ต้องขอขอบพระคุณภาคเอกชนในประเทศไทย พร้อมทั้งภาคเอกชนในเวนิส และเมืองอื่นในอิตาลีที่ได้สนับสนุนร่วมกันจัดงานขึ้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระผมทำหน้าที่แทนรัฐบาล เรื่องที่ 1 เปิดงานนิทรรศการ Trans-Synthesis ทวิลักษณ์และการข้ามผ่าน ซึ่งเป็นงานศิลปะร่วมสมัย งานนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ” คือส่วนหนึ่งของคำกล่าวเปิดงานในวันดังกล่าว

LifeTime ผลงานของวิทยา จันมา
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ใช้เส้นผมสร้างงานศิลปะที่น่าสนใจยิ่ง

หนึ่งในงานที่ได้รับความสนใจมาก คืองานของ วิทยา จันมา ชื่อว่า “Life/Time” เป็นผลงานแนวถนัดของเจ้าตัว คือ Interactive Installation ให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงาน ใช้เทคนิค Zoetrope บนผิวแก้วน้ำ หรือการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคภาพติดตาบนผิวแก้ว โดยออกแบบผลงานให้ผู้ชมต้องใช้นิ้วของตัวเองแตะน้ำแล้วนำไปสัมผัสที่ปากแก้ว กดรอจนเกิดเสียงกังวาน หลังจากนั้นแสงไฟจะส่องทะลุผ่านแก้ว สร้างภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้ก่อนแล้วบนพื้นผิวของแก้ว

Advertisement

แก้วแต่ละใบมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดและรูปทรง รวมถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่

“ผมสนใจความสัมพันธ์ระหว่างแสงและการมองเห็น จนเข้าใจหลักการทำงาน เพราะถ้าเราสามารถควบคุมมันได้ เราอาจจะกำหนดให้ตามองเห็นสิ่งใดก็ได้” คือคำกล่าวของเจ้าตัวที่คมคายและน่าสนใจไม่แพ้ผลงาน

สงขลาพาวิลเลียม

 

ตัดฉากไปที่นิทรรศการ “THE REVOLVING WORLD” โลกยังคงหมุนโดยทีมงานที่คัดสรรจาก สศร. ก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน โดย ดร.วิษณุ เครืองาม ก็ได้เยี่ยมชมโดยมี ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงภัณฑารักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัย ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการดังกล่าวซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 23 มิถุนายนนี้

เป็นทั้งเทศกาล นิทรรศการ และการเมืองเรื่องศิลปะที่น่าจับตามองไปยาวๆ ว่าความขัดแย้งภายในวงการดังกล่าว จะส่งผลต่อแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยหรือไม่ และอย่างไรในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image