หาดูยาก! ภาพเก่าก่อนซ่อมของโพธิสัตว์ “ชิ้นเอก” ที่พช.พระนคร พร้อมท่อนขาเมื่อราว 50 ปีก่อน

สืบเนื่องกรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์อวโลกิตศวรสัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนว คิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่ พักและร้านค้า กระทั่งมีหน่วยงานราชการต่างๆจัดเสวนาวิชาการในประเด็นดังกล่าว เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อีกด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สำนึก ๓๐๐ องค์” ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปโพธิสัตว์ซึ่งเชื่อว่ามีถึง 300 องค์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเก่าของโพธิสัตว์ซึ่งพบที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับกลุ่มโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างผลักดันทวงคืน กล่าวคือ จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเดิมเข้าใจว่าพบเฉพาะที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ภายหลังมีการพบในพื้นที่อื่นๆบริเวณใกล้เคียงอีก

ภาพโพธิสัตว์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสภาพก่อนซ่อมแซม ว่าอยู่ในสภาพเสียหายอย่างมาก พระเนตรด้านซ้ายแตกหัก ที่สำคัญคือพระเกศาซึ่งเดิมน่าจะมีสัญลักษณ์บางอย่างหายไป จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโพธิสัตว์องค์ใด

นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพของท่อนขาขวาขนาดใหญ่ มีเดือยอยู่ใต้ฝ่าพระบาท คาดว่าเพื่อต่อลงไปบนสถาปัตยกรรมให้สามารถตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรง โดยศาสตราจารย์ ฌอง บวสซิลิเยร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า โพธิสัตว์องค์นี้น่าจะมีความสูงราว 3.10-3.20 เมต

Advertisement
ภาพถ่ายเก่าโพธิสัตว์พบที่บ้านโตนด นครราชสีมาก่อนได้รับการปฏิสังขรณ์
ภาพถ่ายเก่าโพธิสัตว์พบที่บ้านโตนด นครราชสีมาก่อนได้รับการปฏิสังขรณ์

ทั้ง 2 ภาพ เป็นภาพถ่ายขาวดำที่ตีพิมพ์ใน “อาติบุส อาซี” วารสารภาษาฝรั่งเศส เมื่อค.ศ.1967 หรือ 49 ปีมาแล้ว
นับเป็นภาพที่หาชมได้ยากยิ่ง

ท่อนขาด้านขวาของประติมากรรมโพธิสัตว์บ้านโตนด นครราชสีมา คาดว่าเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
ท่อนขาด้านขวาของประติมากรรมโพธิสัตว์บ้านโตนด นครราชสีมา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พช.พระนคร

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) พระเนตรเหลือบต่ำ ถูกสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 พบที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมในพื้นที่ซึ่งมีการรับอิทธิพลเขมร รูปแบบศิลปะไพรกเม็ง ปัจจุบันหลงเหลือแต่ส่วนพระเศียร แต่ท่อนขา 1 ข้าง เข้าใจว่าเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หากมีพระวรกายเต็มองค์ ถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่

สำหรับเศียรพระโพธิสัตว์องค์นี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ โดยเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุ “ชิ้นเอก” ของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว

เศียรพระโพธิสัตว์ หล่อด้วยสำริด (สัญลักษณ์ที่ผมหายไป) เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) อายุราว พ.ศ. 1200 ฝีมือช่างเขมรแบบไพรกเม็ง (จัดอยู่ในกลุ่ม “ประติมากรรมแบบประโคนชัย”) พบที่บ้านโตนด อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา (จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
เศียรพระโพธิสัตว์ หล่อด้วยสำริด (สัญลักษณ์ที่ผมหายไป) เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ มีพระมัสสุ (หนวด) อายุราว พ.ศ. 1200 ฝีมือช่างเขมรแบบไพรกเม็ง (จัดอยู่ในกลุ่ม “ประติมากรรมแบบประโคนชัย”) พบที่บ้านโตนด อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา (จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

พระโพธิสัตว์ พบที่บ้านโตนด อำเภอโดนสูง จังหวัดนครราชสีมา

โพธิสัตว์ โนนสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image