I am Mother กับ The Art of Racing in the Rain หนังไซไฟ-สุนัข ที่สอนปรัชญาชีวิต

I am Mother กับ The Art of Racing in the Rain หนังไซไฟ-สุนัข ที่สอนปรัชญาชีวิต

I am Mother กับ The Art of Racing in the Rain หนังไซไฟ-สุนัข ที่สอนปรัชญาชีวิต

The Art of Racing in the Rain

ถ้าไม่เห็นภาพโปสเตอร์หรือชื่อภาษาไทยกำกับ ไม่มีทางรู้เลยว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับสุนัข เพราะชื่อหนังไม่ได้สื่อให้คนดูทราบว่า หนังเรื่องนี้มีสุนัขเป็นตัวเดินเรื่อง และมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแข่งรถอย่างไร

หนังฟีลกู้ดและอบอุ่นหัวใจ จนอยากเชิญชวนให้ไปดูปรัชญาชีวิตในมุมมองของเจ้าตูบที่ผูกพันกับเจ้าของนักแข่งรถ ซึ่งมันบอกว่า “เท่าที่ผมรู้คือผมเกิดมาเพื่อเป็นหมาของเขา”

สุนัขในเรื่องนี้ ไม่ได้ขายความน่ารักและความคิกขุ เหมือนหนัง A Dog’s Journey เอ็นโซ สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์มาในมาดนิ่ง สีหน้าและดวงตาครุ่นคิดของมันสอดคล้องกับเสียงพากย์เชิงบรรยายความรู้สึกที่ เควิน คอสต์เนอร์ เป็นผู้ให้เสียง

Advertisement

ตอนเอ็นโซเป็นลูกหมา คนดูอาจขัดหูว่า เสียงพากย์นี้แก่ไป แต่ในช่วงที่มันเติบโตเรียนรู้ชีวิตและพยายามก้าวข้ามปัญหาไปพร้อมๆ กับเจ้านายของมัน เสียงพากย์นี้เป็นเสียงพากย์ที่ลงตัว ทำให้คนดูเชื่อจริงๆ ว่า เอ็นโซ มองโลกและชีวิตอย่างสอดคล้องคำโปรยของหนังที่บอกว่า “Meet the dog who will show the world how to be human”

หนังสร้างจากนิยายขายดีของการ์ธ สไตน์ ที่วางขายในปี 2008 และติดอันดับ Best Seller นานถึง 150 กว่าสัปดาห์ ค่ายหนังอย่างยูนิเวอร์แซล จะนำไปสร้างตั้งแต่ปี 2009 แต่มาลงตัวที่สตูดิโอของผู้สร้างหนัง Marley & Me หนังเกี่ยวกับสุนัขที่สุดแสนประทับใจ

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ ไซมอน เคอร์ทิส (กำกับหนัง My week with Marilyn และ Goodbye Christopher Robin) ส่วนผู้เขียนบทคือ มาร์ค บอมแบ็ก

หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขเท่านั้น แต่พูดถึงสุนัขตัวหนึ่งที่เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ผ่านการเฝ้ามองชีวิต เดนนี่ (ไมโล เวนติมิเกลีย) นักแข่งรถซึ่งเป็นเจ้านาย และครอบครัวของเดนนี่ ซึ่งมีอีฟ (อะเมนดา ไซเฟร็ด) ภริยา และ โซอี้ลูกสาวของเขา จนมันมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นนั่นคือ มันอยากเป็นมนุษย์

เดนนี่และเอ็นโซ มีหัวใจแบบเดียวกันคือรักความเร็วในการแข่งรถ หนังเปรียบเทียบเรื่องราวการดำเนินชีวิตกับการแข่งรถท่ามกลางสายฝน ซึ่งเป็นทั้งจุดอันตรายและจุดที่สร้างความได้เปรียบ

โดยเอ็นโซถ่ายทอดความคิดเดนนี่ว่า “นักแข่งรถทั่วไปจะขับผ่านปัญหา แต่ผู้ชนะที่แท้จริง จะทำสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ”

เดนนี่กล้าทำและพร้อมเสี่ยงเพื่อครอบครัว เหมือนการแข่งรถที่เขากล้าเสี่ยงในจุดที่อันตราย เป็นปรัชญาชีวิตที่นำเทคนิคการแข่งรถมาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างน่าสนใจ

หนังอบอุ่น ซาบซึ้ง จนคนรักหมาต้องน้ำตาคลอ ใครที่กำลังท้อแท้หรือเผชิญปัญหาสาหัส ลองเข้าไปฟังความคิดเอ็นโซ หมาช่างคิด ที่อยากเกิดเป็นคน

อุปสรรคในชีวิตมีมากมาย ถ้าเรามีศิลปะเหมือนเดนนี่ในการซิ่งรถผ่านสายฝน สิ่งที่ดูว่าเป็นปัญหาก็อาจผ่านพ้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

I am Mother

จากตัวอย่างอาจทำให้คนดูคิดว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังไซไฟ แอคชั่น เหมือน The Terminator หรือ I Robot ขอบอกเลยว่านี่ไม่ใช่หนังประเภทหุ่นยนต์ล้างโลกและมนุษย์ต้องลุกขึ้นต่อสู้

I am Mother เป็นหนังไซไฟปรัชญาที่พล็อตล้ำ ต้องตั้งใจดูและเก็บรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง ทั้งภาพและบทสนทนาที่ค่อนข้างยาว จึงจะทำให้เข้าใจเรื่องราวและสนุกกับปรัชญาและข้อคิดที่อยู่ในหนัง ไม่ใช่หนังตลาดและอาจจะไม่ถูกจริตคอหนังคนไทย

แต่หนังได้เสียงวิจารณ์ที่ดีมากจากเทศกาลหนังนานาชาติซันแดนซ์ และบทภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ติดอันดับ The Black List บทภาพยนตร์น่าสนใจ ซึ่งเป็นการลงคะแนนจากคนในวงการภาพยนตร์กว่า 300 คน คัดเลือกให้เป็นบทหนังที่น่านำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

ผู้กำกับหนัง แกรนต์ สปูโทเร่ ไม่ใช่ผู้กำกับดัง แต่มีชื่อจากการทำหนังโฆษณาระดับรางวัล และเนื่องจากทุนสร้างจำกัด ผู้กำกับจึงจับมือกับ WETA Workshop สร้างหุ่นยนต์ Mother ขึ้นมาแบบหุ่นยนต์จริง แทนการใช้ CG ที่ต้องมีทุนสร้างมหาศาล

มี ลุค ฮอว์เกอร์ หัวหน้าควบคุมงานที่ WETA ที่ดูแลการผลิตหุ่นยนต์ เข้าไปอยู่ในตัวหุ่นเพื่อให้การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์แม่สมบูรณ์และสมจริง โดยมี โรส เบิร์น (จาก Insidious, X-Man: First Class) เป็นผู้ให้เสียงหุ่นยนต์แม่

หนังเล่าเรื่องราวโลกอนาคตที่อารยธรรมล่มสลาย ดอเทอร์ (คลาร่า รูการ์ด) เด็กสาวที่ถูกสร้างจากตัวอ่อนมนุษย์ที่เก็บไว้ในศูนย์วิจัยลึกลับ เติบโตและถูกเลี้ยงดูโดยหุ่นยนต์รูปร่างคล้ายมนุษย์ ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อทำหน้าที่เพาะพันธุ์มนุษย์

หลังเกิดวิกฤตมนุษย์สูญพันธุ์ หุ่นยนต์ก็เรียกตัวเองว่าแม่ แม่บอกดอเทอร์ว่า “ทุกอย่างที่ทำเพื่อปกป้องลูก โลกภายนอกสูญสิ้นไปหมดแล้ว แม่ถูกออกแบบมาเพื่อประกันความปลอดภัย เพื่อมอบโอกาสแก้ตัวให้มนุษยชาติ”

เด็กสาวเรียนรู้หลายอย่างจากแม่ ทั้งความรู้ทั่วไป การดำรงชีวิต การรักษาตัวเองยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงจริยธรรม คุณธรรม และปรัชญา โดยแม่ตั้งโจทย์ให้หาคำตอบเอง และมีแบบทดสอบคอยวัดว่าดอเทอร์มีพัฒนาขึ้นมากน้อยเพียงใด

โลกภายนอกที่แม่บอกมีแต่อันตรายและสิ่งมีชีวิตถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว

แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีหญิงแปลกหน้าถูกยิงบาดเจ็บ (ฮิลารี สแวงค์) มาร้องขอความช่วยเหลือและขอหลบภัยในศูนย์วิจัย สิ่งที่หญิงสาวเล่ากับที่หุ่นยนต์แม่บอก ไปคนละทิศละทาง

หนังสร้างปมขัดแย้งให้คนดูสงสัยไปตามตัวละครดอเทอร์ และตามหาความจริงไปพร้อมกับเธอว่า ระหว่างหญิงแปลกหน้าและหุ่นยนต์แม่ ใครกันแน่ที่พูดความจริง และใครกันที่พูดเท็จ

หนังเดินเรื่องแบบเนิบๆ บทสนทนาเยอะ สร้างสถานการณ์ให้ตัวละครและคนดูไขว้เขว จับทางไม่ถูก ได้แต่คอยติดตามตัวละครแบบลุ้นๆ และเอาใจช่วย

ช่วงหลัง หนังระทึกตื่นเต้น แค่เสียงฝีเท้าเดินตึงๆ ของหุ่นยนต์แม่ ก็ฟังดูข่มขวัญน่ากลัว บรรยากาศในหนังอึมครึมและไม่น่าไว้วางใจ หักมุมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และถ้าไม่ได้เก็บรายละเอียดทุกประเด็น ก็อาจจะไม่เข้าใจ ดูจบต้องมานั่งวิเคราะห์และทบทวนเพื่อสร้างความกระจ่าง พล็อตหนังล้ำลึกจริงๆ ทั้งๆ ที่ ผู้กำกับไม่ค่อยดัง

นักแสดงทั้งสองคนและหุ่นหนึ่งตัว ตัวหุ่นยนต์ลื่นไหลไม่ติดขัด ฮิลารี สแวงค์ ไม่ต้องพูดถึง ระดับดารารางวัลออสการ์สองตัว เธอแสดงได้สมบทบาท ที่น่าชื่นชมคือ คลาร่า รูการ์ด ในบทดอเทอร์ ที่แบกหนังไว้ทั้งเรื่อง เธอเป็นดาราที่เคยมีบทเล็กๆ ในหนัง Teen Spirit แต่เรื่องนี้แจ้งเกิดได้เลย ประชันบทกับดาราระดับออสการ์ได้อย่างไม่เคอะเขิน แถมยังสวยน่ารัก

I am Mother เป็นหนังลับสมองที่น่าสนใจ กดดัน ตื่นเต้น สนุก มีประเด็นให้คิดต่อ และเป็นหนังที่เนื้อหาน่าคิดยิ่งกว่าหนังไซไฟทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image