ปรับปรุงใหญ่ พช.ปราจีน ย้ายแล้ว ‘พระคเณศ’ เก่าสุดในไทยคืนท้องถิ่น จารึกสำคัญมาด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ปราจีนบุรี ย้ายแล้ว ‘พระคเณศ’ เก่าสุดในไทยคืนท้องถิ่น จารึกสำคัญมาด้วย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ปราจีนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
น.ส.วัชรี ชมภู ผอ. พช.ปราจีนบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน

น.ส.วัชรีกล่าวว่า โครงการปรับปรุง พช.ปราจีนบุรีเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 ตั้งแต่มีการทำบทจัดแสดง และแผนการปรับปรุง จากนั้นได้ร้บงบประมาณในการดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2560 จำนวน 5 ล้านบาท ต่อมา พ.ศ.2561 ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมอีก 25 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงส่วนที่เหลือทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยในปี 2563 จะได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ราว 7 ล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากการปรับปรุงด้านต่างๆแล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุสำคัญที่พบในแถบภาคตะวันออกกลับสู่ท้องถิ่น ซึ่งเดิมส่วนใหญ่เคยจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่ พช.พระนคร กรุงเทพฯ

“พระคเณศ หรือพระพิฆเนศ เดิมจัดแสดงที่ พช.พระนคร มีการเคลื่อนย้ายกลับมายังท้องถิ่น เมื่อ ปี 2561 เมื่อปรับปรุงการจัดแสดงเสร็จ เริ่มเปิดให้คนเข้าชมได้ มีการจัดบวงสรวงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการบรรยายสัมนา เผยแพร่ความรู้ ความสำคัญคือเป็นประติมากรรมพระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย พบที่โบราณสถานหมายเลข 22 หรือ ‘โบราณสถานกลางเมือง’ ในเมืองศรีมโหสถ ซึ่งเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี

Advertisement

น.ส.วัชรี ชมภู

“การพบพระพิฆเนศองค์นี้ทำให้เราทราบว่าโบราณสถานกลางเมืองศรีมโหสถสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยบูชาพระศิวะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สำหรับอายุสมัยจัดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 คือราว 1,400 ปีมาแล้ว ยังมีรูปลักษณ์เหมือนช้างตามธรรมชาติ ยังไม่ทรงเครื่องประดับ เป็นองค์ที่สูงที่สุดเท่าที่พบในไทย คือ 170 ซม. ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานโยนี พระหัตถ์ข้างหนึ่งถืองาที่หัก อีกข้างถือถ้วยขนมโมทกะ” น.ส.วัชรีกล่าว

น.ส.วัชรี กล่าวอีกว่า แม้พระพิฆเนศองค์นี้จะอยู่ในสภาพชำรุดเกือบ 50% แต่มีการทำภาพสันนิษฐานตามหลักวิชาการให้ได้ชมว่าหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์จะมีลักษณะอย่างไร โดยปรึกษาท่านสมชาย ณ นครพนม ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะพบว่าใกล้เคียงกับทางเขมร

Advertisement

“เราพยายามเพิ่มสื่อที่ทันสมัยมากขึ้น เพราะคนที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์มีความหลากหลายตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ป้ายคำอธิบายก็พยายามย่อยให้ทุกวัยเข้าใจได้ง่าย มีการนำภาพลายเส้น และลวดลายที่พบบนโบราณวัตถุมาขยายเพื่อจัดแสดงให้น่าสนใจ

และด้วยความที่พช.ปราจีนบุรีถูกจัดตั้งเพื่อให้เป็นพช.ประจำภาคตะวันออก ดังนั้น ในการปรับปรุงการจัดแสดงครั้งนี้จึงพยายามรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในภาคตะวันออกทั้งหมดมารวมไว้ที่นี่ นอกจากการย้ายพระพิฆเนศแล้ว ยังย้ายจารึกหลักสำคัญที่พบแถบนี้อย่างจารึกช่องสระแจง จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม และจารึกกรอบประตูปราสาทเขาน้อย เพื่อให้องค์ความรู้อยู่ที่นี่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้วยังสามารถเดินทางต่อไปยังแหล่งโบราณคดีที่พบโบราณวัตถุเหล่านี้ได้เพื่อความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เราไม่ได้มุ่งเน้นแค่เมืองศรีมโหสถอย่างเดียว แต่ยังให้ภาพรวมของการเชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆโ้ดยรอบ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาเพิ่มเติมในการปรับปรุงครั้งนี้

สำหรับข้อมูลใหม่บางประการที่ยังมีการถกเถียงกัน เช่น ชายฝั่งทะเลโบราณ ก็ถูกนำมาพูดถึงด้วย โดยนำข้อมูลจาก ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ศึกษาอย่างละเอียดในประเด็นดังกล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์ ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้างมานัก นำมารวมไว้ที่นี่ด้วย” ผอ.พช.ปราจีนบุรีกล่าว

ทั้งนี้ เคยมีผู้เรียกร้องให้ย้ายพช.ปราจีนบุรีจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอศรีมโหสถ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณศรีมโหสถ สถานที่พบโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพช.ดังกล่าวเกือบทั้งหมด ประกอบที่ตั้งปัจจุบันอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัดเดิมซึ่งเข้าถึงได้ยาก โดยเมื่อครั้งนายเอนก สีหามาตย์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรเคยจัดประชุมและตกลงจะย้ายพช.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image