เขม้นมอง “ผ้าขาวม้า” ไทยหรือเทศ?

เขม้นมอง "ผ้าขาวม้า" ไทยหรือเทศ?

เขม้นมอง “ผ้าขาวม้า” ไทยหรือเทศ?

คําว่า “ผ้าขาวม้า” หรือ “ผ้าขะม้า” มักได้ยินคนไทยส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย มีจิตวิญญาณ “ไทยแท้” เสียยิ่งกว่าภาพลักษณ์ของ “ตุ๊กตุ๊ก” และ “สุวรรณเจดีย์” เสียอีก

จนเชื่อกันว่า หากดีไซเนอร์สามารถดึงเอาหัวใจของผ้าขาวม้าออกมาปอกเปลือกแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กิ๊บเก๋ร่วมสมัย ออกแบบให้สาวงามผู้เข้าประกวดเวทีนางงามระดับจักรวาลใส่อย่างเหมาะสม ย่อมทำให้คนทั่วโลกตื่นตะลึง

แถมไม่ต้องได้รับคำวิจารณ์เสียดสีอย่างเสียๆ หายๆ เหมือนอย่างความพยายามที่จะฝืนไปใช้สัญลักษณ์อื่นใด ที่ดูอ่อนไหวบอบบาง อาจไปกระทบกระเทือนเรื่องศาสนา หรือสุนทรียศาสตร์เอาได้

คำถามมีอยู่ว่า ตุ๊กตุ๊กก็ดี สุวรรณเจดีย์ก็ดี รวมทั้งผ้าขาวม้านั้น ตกลงแล้วเป็นวัฒนธรรมเฉพาะเพียงแค่ของสยามประเทศชาติเดียวเท่านั้นเองล่ะหรือ

Advertisement

ใกล้ตัวสุด ผ้าขะม้า แผลงจากผ้าขอขมา

หากมองรากศัพท์ที่มาและความหมายของ “ผ้าขาวม้า” แบบลากให้ใกล้ตัว โยงหาความเป็นไทยมากที่สุด ก็อาจฟันธงไปเลยว่า ผ้าขาวม้า หรือ “ผ้าขะม้า” แผลงมาจาก “ผ้าขอขมา”

โดยอิงกับประเพณีของคนดีศรีสยามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า คนไทยต้องซื้อหา “ผ้าขะม้า” ไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อ “กราบขอขมา”

ผ้าขมาใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ (ชาย) ในการรดน้ำดำหัว และยังใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงานกับโอกาสต่างๆ ที่จะ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ด้วยเป็นของหาง่ายและได้ใช้ประจำวัน

Advertisement

แนวคิดนี้ สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือเรื่อง “ผ้าทออีสาน ฉบับเชิดชูเกียรติแม่ครูช่างแถบอีสานใต้” มีการอธิบายผ้าขะม้าในกัมพูชา ว่า “ผ้ากรรมา” เป็นผ้าที่มอบให้ผู้ใหญ่เพื่อขอล้างกรรม

ทำให้มีผู้เชื่อต่อว่า “ผ้ากรรมา” คงแผลงเป็น “ผ้ากำมา” เมื่อเข้าสู่ราชสำนักอยุธยา ครั้นพอเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์จึงกลายเสียงเป็น “ผ้ากำม้า” และค่อยๆ แผลงเป็น “ผ้าขะม้า” หรือ “ผ้าขาวม้า” ในที่สุด

นี่คือทฤษฎีแรก ขนาดที่เชื่อว่าผ้าขะม้าเป็นของไทยแท้แล้วเชียว ก็ไม่วายยังอุตส่าห์ถูกโยงดึงไปเกี่ยวข้องกับกัมพูชาอีกจนได้

อีสาน-ล้านนา-ปักษ์ใต้

เรียกนามตามกรรมต่างวาระ

ในเมื่อเปิดประเด็น เสนอมุมมองว่า “ผ้าขะม้า” มีความเกี่ยวข้องกับการ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ดังนั้นมิอาจมองข้าม “ภาษาพื้นถิ่น” ของแต่ละภูมิภาคไปได้เลย

ลองหันมาพินิจทีละภาษา บนพื้นฐานของการตั้งสมมติฐานว่า ผ้าขะม้าเกี่ยวข้องกับการไปไหว้สา สมมา สูมาคารวะ ดำหัว ผู้ใหญ่หรือไม่ และกลุ่มชนแต่ละภาคเรียกกันอย่างไร

ทางอีสานเอิ้น “ผ้าอีโป้”

บางพื้นที่เรียก “ผ้าด้าม” หรือ “ผ้าแพรด้าม” เป็นคำเรียกที่เก่ามาก

ยังเหลือแถบกาฬสินธุ์ ในชีวิตจริงไม่มีใครเรียก “ผ้าขะมา” หรือ “ผ้าสุมมา” แต่อย่างใด

ฝ่ายล้านนาเรียก “ผ้าต่อง” หรือ “ผ้าหัว” สะท้อนวัฒนธรรมการโพกศีรษะที่พบในชนชาติไท/ไตแทบทุกกลุ่มทั้งหญิงและชาย

อ.ศักดิ์ รัตนชัย ปราชญ์เมืองนครลำปาง วัยย่าง 90 ปี เล่าว่า

“ผ้าขะม้าของชาวลำปางในอดีตเป็นผ้าทอแบบมีลายทางเดียว ไม่เป็นตาหมากรุก จึงเชื่อว่า ‘ผ้าขะม้า’ ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาโบราณ ลายผ้ารูปแบบชุดนักรบล้านนาคราวกอบกู้เมืองลำปางสมัย ‘หนานทิพย์ช้าง’ เมื่อ พ.ศ.2275 เป็นเสื้อสีขาว มีผ้าคาดเอว (แต่ไม่ได้เรียกว่าผ้าขาวม้า) ยุคนั้นลำปางจะเรียกอย่างไรไม่ทราบ แต่ภาษาทางเชียงใหม่เรียกผ้าต่อง

ผ้านุ่งปิดส่วนล่างที่ม้วนถลกขึ้นมาพันขัดง่าม ลอดหว่างขาแบบโจงกระเบน แต่ดึงติ้วกว่าชิดแน่น เหมือนขี่ม้าก้านกล้วย คล้ายถกเขมรโชว์แก้มก้นนั้น เรียกผ้า ‘เค็ดม่ำ/เฟ็ดม่าม/เก๊นม่าม’ แล้วแต่สำเนียงซึ่งเป็นภาษาที่มีอิทธิพลพม่าเข้ามาปะปน

แต่ปัจจุบันไม่มีใครนิยมเรียกว่าเค็ดม่ำอีกแล้ว มักเรียกการนุ่งผ้าแบบถกเขมรโดยรวมว่า ‘ผ้าต้อย/ผ้าต่อง’ มากกว่า”

ปักษ์ใต้เรียก “ผ้าชักอาบ” บ้างเรียก “ผ้าชุบ” มาจากวิธีการใช้ชุบน้ำเช็ดหน้าเช็ดตัว

พบว่า ในวัฒนธรรมพื้นถิ่นทั้งสามภาค ไม่มีคำเรียกใดที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ผ้าขาวม้า/ผ้าขะมา/ผ้าสมมา/ผ้าสุมา” แต่อย่างใดเลย

อนึ่ง ในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่มหนึ่ง มีการอธิบายว่า สมัยอยุธยารับอิทธิพลรูปแบบ “ผ้าเคียนหัว” จากสุโขทัยมาใช้ แต่รับชื่อมาจากเขมร แผลงผ้ากรรมา เป็นผ้ากำมา แต่วัตถุประสงค์เริ่มจากพันหัว

หากเปิดพจนานุกรมจะมีคำอธิบายว่า ผ้าขะม้า เรียกอีกอย่างได้ว่า “ผ้าเคียนพุง” เป็นอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาษาที่อธิบายถึงวิธีการใช้งาน

สรุปว่า “ผ้าขะม้า” สามารถใช้ได้ทั้ง “เคียนพุง” และ “เคียนหัว”

ประโยชน์ของผ้าขะม้ามีมากมาย ในวัฒนธรรมล้านนา ใช้รักษาโรค มีท่ารัดอก ท่าตั้งวงแขน ขา ทำให้ร่างกายได้รับการผ่อนคลาย เรียก “วิถีแห่งผ้าต่อง”

โดยการใช้สอยในอีสานนั้น เป็นผ้าโพกหัว พัดวี อู่นอนลูกหลาน ปัดไล่แมลง เช็ดให้แห้งให้สะอาด เคียนเอว ห่มนั่งห่มนอน เบี่ยงบ้ายในยามอยู่ในพิธีบุญ นุ่งอาบน้ำ ห่อของ เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ในวิถีเกษตรกร

ส่วนในทางพิธีกรรมนั้น ถือเป็นของสมมา ของฝากของต้อน

ทางปักษ์ใต้ชุมชนลุ่มน้ำปากพนังเรียกว่า “ผ้าขาม้า” มีที่มาจากเวลาชิงเปรต เทศกาลงานบุญเดือนสิบ

แน่นอนว่า ภาษาถิ่น ทั้งอีสาน ล้านนา ปักษ์ใต้ในปัจจุบัน จะเรียก ผ้าขะม้า ว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่สะดวก ขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอยในแต่ละพื้นถิ่น

แต่ในเมื่อ “ผ้าขะม้า” เป็นของกลาง มิใช่ของภาคใดภาคหนึ่ง จึงควรช่วยกันสืบค้นว่า “ผ้าขะม้า” มีที่มาอย่างไรกันแน่

มอญม่านมลายู พี่น้องอุษาคเนย์

ภาษามอญเรียก “ผ้าขะม้า” ว่าอย่างไร อาจจะช่วยเป็นเครื่องมือในการคลำทางด้านนิรุกติศาสตร์มากยิ่งขึ้น

อ.องค์ บรรจุน ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ บอกรียกว่า “ยาดกะบอย”

ภาษามอญค่อนข้างห่างไกลผิดกับภาษาเขมร ที่เรียก ผ้ากรรมา แต่ในวัฒนธรรมมอญ กลับมีการใช้ผ้าขะม้าอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะคำพูดที่ได้ยินจนชินหูว่า “นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญฯ” แสดงให้เห็นว่า ผ้านุ่งชายมอญจะทอเป็นลายตาราง ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ต่างกันที่มอญในไทย ใช้ลายตารางตาใหญ่คล้ายกับลายผ้าขะม้าในหลายวัฒนธรรมในไทย แต่มอญในพม่า ใช้โสร่งแดงลายตารางตาเล็ก ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกวัฒนธรรมพม่ากลืนไป (อ้างอิงจากข้อมูล ของ อ.องค์ บรรจุน)

ปกติ ชายชาวมอญในไทยจะใช้ผ้าขะม้าในโอกาสต่างๆ กัน อาทิ

เข้าวัด – ใช้นุ่งเฉวียงบ่า เป็นผ้าสไบ อาจใช้เป็นผ้าปูกราบด้วย

งานพิธีที่เป็นทางการ – พับให้แคบ พับครึ่ง แล้วพาดบ่า โดยให้ชายผ้าอยู่ข้างหลัง

งานรื่นเริง – คล้องบ่า ห้อยไหล่ โดยให้ชายสองข้างห้อยอยู่ด้านหลัง เป็นสองชาย

ทำงานใช้แรง – มัดเอว

เมื่อเปรียบเทียบดูกับวัฒนธรรมไท/ไต และชาติพันธุ์อื่นในอุษาคเนย์ พบว่าผ้าขาวม้าปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นผ้าอเนกประสงค์ ใช้ได้สารพัดประโยชน์ คำเรียกจึงมีหลากหลายตามหน้าที่ใช้สอย รูปแบบก็แยกย่อย

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ลายตารางหมากรุก หรือศัพท์ผ้าทอเรียก “ตาโก้ง/ตาแสง” คำว่า “ผ้าลายตาโก้ง” ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อ “เมืองตะโก้ง” ในพม่า แต่อย่างใด

แต่เป็นคำไทย หมายถึงผ้าลายตาๆ ส่วนโก้งก็คือลายด่าง เช่น พูดว่า “เสื้อโก้งเสื้อลาย” คำว่า “ตาแสง” ก็ใช้เรียกลวดลายตาสี่เหลี่ยม เช่น “รั้วตาแสง” คือรั้วไม้ไผ่ลายตาราง

มีผู้เชี่ยวชาญภาษาชวาเสนอว่า ในภาษาอินโด มีคำว่า Garis-การีส แปลว่า ขูด ขีด เขียน (คล้ายคำว่า กา) กับอีกคำ Mata-มาตา แปลว่าดวงตา รวมสองคำเป็น Garismata ก็คือ การขีดเขียนตาสมัยนี้ หรืออีกนัยคือการขีดตารางก็ว่าได้

คำว่า Garis ยังแตกหน่อออกไปเป็น Keris-เคอริส หรือกริชในภาษาไทย มีคมสองด้านยาวเรียวแหลม และปลอกหรือซองใส่กริชเรียก Sarung-ซารุง ซึ่งยังใช้ในความหมายของซารุงหรือผ้าโสร่ง ผ้าตารางหมากรุก ในแบบเดียวกับผ้าขะม้า ที่น่าจะหดสั้นจากคำยาว “การีสมาตา” เป็น “กามา”

“ผ้าก่าม่า” “ฮากามะ” ของญี่ปุ่น

อีกทฤษฎีหนึ่ง มีโอกาสไปฟังการบรรยายของ อ.จิราภรณ์ อรัณยะนาค อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุของกรมศิลปากร จัดโดย “มิวเซียมสยาม”

ท่านบอกว่า พบผ้าขาวม้าผืนเก่าแก่มากในประเทศญี่ปุ่น ทำเป็นตารางหมากรุกเหมือนของเรา มีอายุร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ญี่ปุ่นเรียกผ้านั้นว่า “ผ้าก่าม่า”

ผ้าก่าม่ามีลักษณะการนุ่งร่วมกับ “ฮากามะ” (Hakama) ที่เป็นกางเกงขายาวอัดพลีทบานคล้ายกระโปรง

ส่วนผ้านุ่งพันแบบกางเกงชั้นใน คล้ายนุ่งเค็ดม่ำของคนล้านนา/พม่าและถกเขมร เปิดแก้มก้นคล้ายนักมวยปล้ำซูโม่นุ่งกัน เรียกว่า ฟุนโดชิ (Fundoshi)

น่าสนใจยิ่งนัก เนื่องจากญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ตกลงใคร “รับ” หรือ “ส่ง” อิทธิพลผ้าขะม้าให้ใครกันแน่

ญี่ปุ่นรับ “ผ้าก่าม่า” จากอยุธยา หรืออยุธยารับ “ผ้าขะม้า” จากญี่ปุ่น

ผู้รู้บางท่านบอกว่า ญี่ปุ่นรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอยุธยาไปมากโดยผ่านทางริวกิว (หรือโอกินาว่า อดีตเป็นประเทศหนึ่ง) ตัวอย่างที่ชัดคือ เหล้าสาเก เพราะแต่เดิมในญี่ปุ่นมีแต่เหล้าทำจากมันฝรั่ง

หรือจะจบลงด้วยทฤษฎีเปอร์เซียน

ในภาษาเปอร์เซียน หรืออิหร่าน มีคำว่า “คะมัร” ซึ่งแปลว่า “เอว” ส่วน ผ้าคะมัร=ผ้าคาดเอว ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเปอร์เซียนจึงเชื่อว่า ขาวม้า/ขะม้า มาจากคำว่า คะมัร ในภาษาเปอร์เซียน

ยังมีคำภาษาไทยอีกมากที่มีที่มาจากเปอร์เซีย อาทิ

ฉัตร: (ชัทร)

กะหล่ำ: (คะลัม)

หลาบ: (โกลอบ)

ฯลฯ

อาจเป็นไปได้ว่า คะมัร ของเปอร์เซียอาจเป็นรากศัพท์ “ตัวแม่” ที่ส่งอิทธิพลทางภาษาให้แก่ กามัร กรรมา การีสมาตา ก่าม่า เค็ดม่ำ ขมา ขาม้า ขาวม้า ให้แก่ประชาคมเอเชียนานาชาติพันธุ์ที่เข้ามาปะทะสังสรรค์กันแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว

ที่มาและรากศัพท์ของ “ผ้าขะม้า-ผ้าขาวม้า” คงต้องสืบค้นกันต่อไป ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลับไม่ง่ายเหมือนที่คิด เพราะพอสืบสาวเอาเข้าจริงๆ แล้วมีข้อมูลทะลักมหาศาล มึนหัวพอสมควร

การสืบค้นเรื่อง “ผ้าขะม้าของคนเอเชีย” ไม่ได้ง่ายดาย เหมือนการได้มาซึ่งภรรยาหลายคน ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้หนึ่งซึ่งมีฉายาว่า “จอมพลผ้าขะม้าแดง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image