ฮือฮา! กระบี่พบภาพเขียนสีอื้อกว่า 30 ภาพ มีรูปคนทำพิธีกรรมโบราณ คาดอายุ 2-4 พันปี

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมด้วยนายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต, เจ้าหน้าที่จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่, เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และชาวบ้าน ได้เดินทางไปสำรวจภาพเขียนสีโบราณ ที่บริเวณเพิงผาเขาหลัก บ้านอ่าวน้ำ พื้นที่รอยต่อหมู่ 2 และหมู่ 3 ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพบภาพเขียนสีโบราณแห่งใหม่จำนวนมาก ซึ่งเส้นทางไปยังจุดที่พบภาพเขียนสีเป็นป่าโกงกางริมเขา รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องเดินเท้าผ่านป่าโกงกางเลียบเขาหินปูนเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงที่บริเวณเพิงผา พบซากเปลือกหอยชนิดสองฝาและฝาเดียวอายุหลายพันปีกองเรียงรายตามพื้นและจุดที่พบภาพเขียนสีอยู่บริเวณผนังเพิงผา สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร รวมกว่า 30 ภาพ มีทั้งภาพลายเส้นและเส้นทึบสีแดง

ภาพที่พบส่วนใหญ่ร่องรอยเจือจาง มีเพียงประมาณ 3-4 ภาพที่ยังมองเห็นได้ชัดเจน เช่น ภาพคนในท่าทางคล้ายประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ภาพทรงเรขาคณิต และลายเส้น นอกจากนั้นยังนั้นยังพบภาพเรือสำเภา แต่มีลักษณะสีของภาพเป็นลายเส้นสีดำ คาดว่าอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกภาพไว้พร้อมวัดขนาด และบันทึกพิกัดภาพเขียนทั้งหมดไว้ เพื่อเก็บข้อมูลไปรวบรวมรายงานไปยังกรมศิลปากรต่อไป

ภาพเขียนสีกระบี่03
นายธวัชชัยกล่าวว่า จากการที่มาสำรวจภาพเขียนสีในครั้งนี้เป็นภาพที่ชาวบ้านเพิ่งค้นพบใหม่ เป็นภาพคน ภาพทรงเรขาคณิต บอกเล่าเรื่องราวและกิจกรรมในอดีตของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 2,000-4,000 ปี คาดว่าจะเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือจุดแวะพักทำพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาพเขียนทีพบในถ้ำผีหัวโต และคล้ายกับภาพที่พบที่แหลมไฟไหม้ เขาเกาะยอ และที่เขาเตียบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนภาพเรือสำเภาสีดำนั้นคาดว่าอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งจะได้บันทึกเป็นฐานข้อมูลการค้นพบแห่งใหม่เพื่อนำไปประเมินคุณค่า ก่อนนำเสนอต่อกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดีต่อไป

Advertisement

ภาพเขียนสีกระบี่04

ด้านนายบุญพาศกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ อ.อ่าวลึก มีการค้นพบภาพเขียนสีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งที่ยังรอการสำรวจ รวมกว่า 500 ภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถประเมินค่าได้ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือจากชุมชุนช่วยกันดูแลรักษา ไม่ให้มีการทำลาย หลังจากนี้ก็จะมีการประสานกับท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจะมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image