ผอ.หอศิลป์กทม. ตอบทุกคำถามหลังโดนให้ออก ลั่น ‘เรื่องคงไม่จบวันนี้’

เช้าวันนี้ อยู่ๆก็มีจดหมายจากผศ.ประวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่งถึงสื่อมวลชน เนื้อหาในจดหมายเป็นเรื่องที่หลายคนคิดไม่ถึง เพราะเปิดเผยเกี่ยวกับการที่เขาถูกประเมินจากคณะกรรมการว่า ‘ไม่ผ่าน’ ในเรื่องการทำงาน ขณะเดียวกันยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นเหตุผลให้เขาต้องใช้เวลานานในการไล่เรียงความคิด แล้วจรดนิ้วพิมพ์จดหมายร้องขอความเป็นธรรมฉบับนั้น  (อ่านเพิ่ม : ไล่ออก ‘ผอ.หอศิลป์ กทม.’ คาดขัดแย้งปมงบประมาณ เจ้าตัวร่อน จม.ร้องความเป็นธรรม)

กับเรื่องดังกล่าว ประวิตรเปิดใจกับ ‘มติชนออนไลน์’ ว่า เขาเองก็นึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น

“เพราะตอนนี้ ผมไม่อยากเรียกว่ายุคทอง แต่ว่าเป็นช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจกับกิจกรรมและนิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์จัดเยอะมาก”

ขณะที่เรื่องงบประมาณซึ่งเป็นปัญหาเขาและทีมก็พยายามหาทางแก้ด้วยการสร้างพันธมิตร ขอแรงและเงินสนับสนุน

Advertisement

“เราปรับตัว แล้วก็ทำงานต่อไปได้” เขาบอก และเพราะเหตุนั้นจึงกล้าพูดด้วยความมั่นใจว่า “ตอนนี้เราอยู่รอดปลอดภัย ไปจนถึงตุลาปีหน้า เพราะฉะนั้นก็อยู่ในช่วงที่ปกติดีมาก ทั้งในเรื่องของงบประมาณ หรือว่าเรื่องของผู้ที่เข้ามาชมงาน แล้วก็ในส่วนของทิศทางการทำงาน”

ขณะเดียวกันตลอดเวลา 19 เดือน ที่ทำงานมา คณะกรรมการผู้ทำหน้าที่ประเมินทั้งหลายก็เข้ามาที่หอศิลป์อยู่เรื่อยๆ เข้ามาบ่อยๆ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตำหนิ ยกเว้นกรรมการท่านหนึ่งซึ่งสะท้อนความเห็นบ่อยครั้ง และทุกครั้งและเขาและทีมได้แก้ไข

ตอนที่รู้ผลประเมิน จึง “อึ้งไปเลยครับ”

Advertisement

“มันไม่มีลางบอกเหตุใดเลย ก็ตกใจ แล้วผมมีความรู้สึกว่าคนอายุเท่านี้แล้ว ถ้าจะโดนไล่ออกจากงาน มันน่าจะบอกอะไรกันสักนิดหนึ่ง ผมไม่ใช่เด็กอายุ 25 ที่ถ้าจะให้ออก โดยที่บอกว่าประเมินไม่ผ่านอย่างเดียว ผมก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งในวงการศิลปวัฒนธรรมของบ้านเรา เป็นทั้งกรรมการศิลปินแห่งชาติ กรรมการศิลปาธร เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีวัฒนธรรมไต้หวัน แล้วผมก็ได้อิสริยาภรณ์ขั้นอัศวินของกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นอาจจะขอว่าต้องให้เกียรติผมนิดหนึ่ง ขอรายงานผลการประเมิน ให้ผมดู อ่านให้สื่อได้ยินด้วยก็ได้ แต่ว่าทำไมไม่มี”

ทั้งๆที่ขอไปตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีที่เขาได้ยินจากคำบอกเล่าของคณะกรรมการบางคน-อย่างไม่เป็นทางการ เรื่องนี้มีเหตุผล 2 ข้อ

“เรื่องแรกคือผมไปวิจารณ์การทำงานของกทม. ท่านว่าเป็นการวางตัวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผมอยู่ตรงกลางไงครับ ระหว่างกลุ่มศิลปินที่เขาเรียกร้องและโจมตีค่อนข้างรุนแรง กับมูลนิธิที่สงวนท่าที ทีนี้ผมจะสงวนท่าทีตามกรรมการมูลนิธิคงไม่ได้ ศิลปินก็คงไม่ยอม กรรมการท่านก็ให้ความเห็นว่าผมไปด่าเขา ซึ่งผมก็ทบทวนดูว่าสิ่งที่ผมพูด คือการด่าหรือเปล่า ผมว่าก็ไม่ถึงขั้นด่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการบอกให้ประชาชนรับทราบ ว่าปัญหาคืออะไร การบอกว่าตอนนี้หอศิลป์มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ขอให้ทุกคนช่วยกันมาหอศิลป์ และถ้ามีเงินเหลืออยากจะบริจาคก็ได้ ไม่ได้เป็นการด่าว่ากทม.ไม่ให้งบ และผมไม่ได้ใช้คำผรุสวาท หรือคำที่รุนแรงเวลาพูดถึง การที่กทม.ส่งหนังสือมาว่างบประมณปี 63 ไม่ได้รับการอนุมัติ หรือส่งใบแจ้งหนี้ค่าน้ำค่าไฟ ย้อนหลังมาอย่างละ 20 ฉบับ อันนี้ผมมองว่าประชาชนก็ต้องรับทราบ เพราะมันคือหอศิลป์ของประชาชน”

“ถามว่าการทำอย่างนี้คือการด่ากทม.หรือเปล่า”

“ส่วนเรื่องที่สอง คือเรื่องที่ผมปรับตัวเข้ากับการทำงานของที่นี่ได้บ้างแล้ว แต่ใช้เวลาปรับตัวได้ช้าเกินไป ซึ่งผมก็บอกว่า อย่างแรกมันเจอปัญหาถาโถมเข้ามา เพราะงั้นงานหลักในช่วงที่ผ่านมาของผม คือควบคุมไม่ให้มันเสียหาย ให้อยู่รอดได้ อีกเรื่องคือบุคลากรคนสำคัญ เช่น หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการก็ลาออก หอศิลป์ไม่มีหัวหน้าฝ่ายนิทรรศการอยู่ 7 เดือนครึ่ง คือผมก็มีประสบการณ์อยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการได้ 100 % เพราะฉะนั้นหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องบกพร่องอยู่แล้ว”

“แต่ผมต้องขอเรียกร้องความเห็นใจนิดนึง ว่าตอนที่สมัครงานนี้เข้ามา ผมไม่นึกว่าจะเจอปัญหาระดับนี้ ปัญหาที่กรรมการมูลนิธิเองก็ยอมรับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับหอศิลป์ การที่หอศิลป์ยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ และอยู่ในสภาพที่ดีเหมือนทุกวันนี้ มันก็คือผมและทีมงานทุกคน ผมว่าน่าจะพิจารณาตรงนี้ด้วย เพราะมันก็เหนื่อยมาก ไม่มีเรื่องโดนไล่ออกนี่ ผมก็หงอกไปหลายเส้นแล้ว”

นอกจากผลการประเมินดังว่า ยังมีถึงเรื่องที่เขาออกตัว บอก “ไม่ได้เป็นการตั้งข้อสังเกตของผม แต่กรรมการมูลนิธิท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตุว่ากรรมการประเมินทุกคนเป็นศิลปิน และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านทัศนศิลป์ทั้งหมดเลย ในขณะที่หอศิลป์เราทำงานทั้งทัศนศิลป์ ทั้งละครเวที มีนาฏศิลป์ ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรม แล้วก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง เรื่องสังคม คือไม่ได้จะพูดว่าไม่เป็นธรรม แต่มันดูไม่ครบทุกด้านไปหน่อยหรือเปล่า”

ประวิตรซึ่งอยากรู้เหตุผลแท้จริงจากคณะกรรมการบอกว่า นอกจาก ‘เฝ้ารอ’ แล้ว ตอนนี้เขาคงไม่ทำอย่างอื่น เพราะ “ผมก็เคารพในการตัดสินของคณะกรรมการประเมิน”

“ถ้าเขาตัดสินมาแล้ว ว่าผมไม่ควรอยู่ต่อตรงนี้ ผมก็ไม่ยื้อ”

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าคิดผิด หรือเสียดาย ที่ลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วต้องมาเจออะไรอย่างนี้

“เพราะนี่เป็นดรีม จ๊อบ ของผม แล้วผมคิดว่าประสบการณ์ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เวลาที่ทำงานกับคนเยอะๆ ทำให้เขารู้สึกสนใจ และเข้าใจ ชอบในงานศิลปะวัฒนธรรม ผมรู้สึกว่าเป็นกำไรของชีวิตมากๆ เวลาที่ผมเดินในหอศิลป์แล้วเห็นครอบครัว คุณพ่อคุณแม่จูงลูกมา ผมรู้สึกดีใจ เพราะมองถึงอนาคตของหอศิลป์”

ในวันนี้ที่เรื่องของเขาเป็นที่รับรู้ ประวิตรก็ว่ามีเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างมาเต็ม

“มีหลายๆอย่างครับ” เขาบอก

“ทั้งให้กำลังใจ ทั้งถามว่าหอศิลป์จะเป็นยังไงต่อไป สู้ๆนะ ฟ้องเลย ซึ่งผมก็ยังดูท่าทีต่อไป เพราะเรื่องคงไม่จบวันนี้ คงมีความเคลื่อนไหวต่อ”

แล้วหากผลของการเฝ้ารอไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้น มีสิทธิจะฟ้องร้องไหม ?

“มีครับ” คือคำตอบชัดเจนที่เขาให้ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้คงต้องปรึกษากับทนาย เรื่องคดีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม  อย่างไรก็ตามเขาไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น เพราะ “ทุกท่านผมก็รู้จักหมด เคยทำงานด้วยกัน”

ถามเขาไปเป็นข้อสุดท้ายว่า ถ้าให้พูดในการเป็นผู้มีประสบการณ์ หากมีคนสนใจมาเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์คนใหม่ จะแนะนำว่าอย่างไร

สิ้นคำของเรา เสียงหัวเราะจากเขาก็นำมาเป็นลำดับแรก จากนั้นเจ้าตัวก็บอก “ผมเพิ่งพูดติดตลกกับแฟน ว่าคนมาเป็น ถ้าไม่บ้าก็เมา”

“เพราะปัญหามันเยอะมาก งบประมาณนี่เป็นเรื่องหลักเลย แล้วเวลามีปัญหา แล้วจะทำให้มันดูปกตินี่ มันยากเหมือนกันนะ แต่ทีมงานผมเก่งนะครับ เก่งทุกคน”

“นี่ถ้าผมมีโอกาสคุยกับคณะกรรมการได้ ปลายปีนี้ผมขอให้ทุกคนได้ขึ้นขั้นเงินเดือน และมีโบนัสด้วย เขาทำงานกันแข็งขันมาก”

ส่วนตัวเขาน่ะหรือ?

“ยังไม่ได้คิดเลยครับ อาจจะพักสักแป๊บนึง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า 19 เดือน นี่มันเหนื่อยมาก”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image