Joker เต็งออสการ์

Joker เต็งออสการ์

Joker เต็งออสการ์

นักดูหนังไม่มีใครไม่รู้จัก Joker อาชญากรตัวร้ายภายใต้คราบตัวตลกที่มีเสียงหัวเราะชวนขนลุก อารมณ์แปรปรวน มีการกระทำที่คาดเดายาก เป็นตัวป่วนเมืองและเป็นคู่ปรับคนสำคัญของ Batman

ที่ผ่านมานักแสดงดังหลายคนรับบทนี้ เช่น แจ็ค นิโคลสัน ให้ภาพจำว่าโจ๊กเกอร์เป็นมาเฟีย ที่มีอาวุธเหมือนของเล่นแต่สามารถฆ่าคนได้จริง

มาจนถึง ฮีธ เลดเจอร์ จาก The Dark Night ที่หนังตั้งใจสร้างตัวตนของโจ๊กเกอร์อย่างจริงจัง จนได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ขึ้นไปรับรางวัลด้วยตนเองเพราะเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดก่อนหนังเข้าฉาย

Advertisement

วาคิน ฟีนิกซ์ รับบทโจ๊กเกอร์คนล่าสุด ซึ่งเป็นชายผู้เผชิญชีวิตอันโหดร้าย ป่วยทางจิต ถูกสังคมและคนที่ตัวเองรักทำร้าย จนจิตใจแหลกสลาย จนเกิดแรงขับที่ทำให้ใช้ความรุนแรง “เอาคืน” สังคม

นำไปสู่จุดเปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาสู่ฮีโร่อาชญากรของสังคมป่วยๆ ที่เลือกใช้ความรุนแรงในการแสวงหาความยุติธรรมและสร้างตัวตนให้สังคมหันกลับมามอง

ผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลลิปส์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนัง Joker ที่เขากำกับว่า เขาไม่ได้กำลังทำหนังโจ๊กเกอร์ แต่กำลังทำหนังของคนที่กลายเป็นโจ๊กเกอร์

“We didn’t follow anything from the comic books, we just wrote our own version of where a guy like Joker might come from.”

เมื่อ Joker เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 76 และได้รับรางวัลสิงโตทองคำ (Golden Lion) หรือหนังยอดเยี่ยมของเทศกาล

หนังมีความเป็นดาร์กดราม่าและเข้มข้นจนมีข้อถกเถียงมากมายในประเด็นว่า หนังเรื่องนี้สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เชิดชูตัวละครโจ๊กเกอร์จนเหมือนส่งสารว่าถ้าถูกกระทำย่ำยี สังคมดูแคลน ไม่ใส่ใจและไม่ให้ความเป็นธรรม ก็ควรจะตอบโต้กลับในลักษณะที่รุนแรงพอๆ กัน

บ้างก็ว่าบรรยากาศของหนังที่มืดหม่น หดหู่ และเนื้อหาที่รุนแรง จะไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในชีวิตจริง

Joker ปูพื้นเรื่องไว้ในโลกสมมุติประมาณยุคปี 80 เล่าเรื่องผ่านมุมมองของอาเธอร์ เฟล็ก (วาคิน ฟีนิกซ์) ชายป่วยเป็นโรคควบคุมการหัวเราะของตัวเองไม่ได้ (Pathological Laughter) ที่ใฝ่ฝันจะมีอาชีพเป็นนักแสดงตลก เพื่อดูแลแม่ที่เจ็บป่วย

อาเธอร์มีชีวิตเหมือนคนไร้ตัวตน ถูกเหยียดหยาม ซ้ำเติม ซ้ำแล้วซ้ำอีก คนที่รักและเทิดทูนไม่ได้เป็นอย่างที่คิด สังคมดูแคลนและเหยียบย่ำ จนถึงจุดระเบิดที่ทำให้เขากลายเป็น “โจ๊กเกอร์” อาชญากรตัวร้ายที่โลกภาพยนตร์จดจำ

โจ๊กเกอร์เป็นตัวละครซับซ้อนที่คนดูสัมผัสได้ วาคิน ฟีนิกซ์ พาคนดูดำดิ่งสู่จิตใจตัวละคร สัมผัสถึงความโดดเดี่ยว เจ็บปวด และสิ้นหวัง ของคนที่สังคมไม่ใยดี

เสียงหัวเราะที่ควบคุมไม่ได้ของเขา เป็นเสียงที่ฟังแล้วสะท้อนใจกำกึ่งระหว่างเสียงร้องไห้และเสียงหัวเราะที่ไร้อารมณ์ขัน เป็นการแสดงที่น่าขนลุก ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนจากคนโรคจิตป้อแป้อ่อนแอ ผงาดขึ้นมาเป็นราชาของเหล่าอาชญากร

ดูสมจริงจนทำให้ต้องตั้งคำถามว่า จริงหรือที่ความโหดร้ายทารุณในสังคม สามารถเปลี่ยนคนคนหนึ่งที่อ่อนแอให้กลายเป็นคนโหดเหี้ยมได้ถึงเพียงนี้

ฉากหนังแม้จะเกิดขึ้นในยุค 1980s ที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สวัสดิการสังคมล้มเหลว บ้านเมืองเต็มไปด้วยอาชญากรรม เกิดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย

แต่ก็เหมือนไม่ต่างอะไรกับปัจจุบัน ที่อาชญากรรมยังคงรุนแรง มีการแบ่งชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางสังคม นักการเมืองยังคงดาหน้าออกมายกคำหวานหลอกล่อประชาชนเรื่องการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

Joker เป็นหนังที่ไม่น่าจะพลาดรางวัสออสการ์สาขาใดสาขาหนึ่ง เพราะไม่ใช่แค่การแสดงของวาคิน ฟีนิกซ์ ที่สะกดคนดูให้จมดิ่งอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเท่านั้น แต่การเล่าเรื่องยังมีชั้นเชิง และมีบทสรุปที่มาบรรจบเชื่อมต่อกับหนัง Batman ที่คนดูคุ้นเคยได้อย่างดี

ฉากทั้งสวยงามและมืดหม่น สะท้อนเมืองก็อตแธมที่แหลกเหลวได้อย่างน่าประทับใจ เพลงประกอบภาพยนตร์และซาวด์ประกอบเข้ากับเนื้อหาที่บางช่วงระทึก เจ็บปวด และเศร้าสร้อย เช่นเพลง Smile ที่ Charlie Chaplin เคยแต่งไว้ That’s Life และ Send in the Clowns

คลิกอ่าน Superman V Batman อีกด้านของ “ฮีโร่ในอุดมคติ”

คลิกอ่าน Justice League รวมพลซุปเปอร์ฮีโร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image