สุจิตต์ วงษ์เทศ : พญามังราย ไม่ใช่พ่อขุนเม็งราย

อนุสาวรีย์พญามังราย จ.เชียงราย

พญามังราย เป็นพระนามถูกต้องโดยมีหลักฐานสนับสนุนมากมาย เช่น ศิลาจารึก, ตำนาน, เอกสารเก่าทุกประเภท
ส่วนเม็งราย เป็นพระนามคลาดเคลื่อนอยู่ในพงศาวดารโยนกที่แต่งใหม่สมัย ร.5

พ่อขุน เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน (เทียบเท่าคำว่ากษัตริย์) เป็นประเพณีมีในรัฐสุโขทัย จึงไม่เคยพบเอกสารโบราณเรียกพ่อขุนมังราย
[สรุปจากบทความเรื่อง มังราย, พญา ในหนังสือประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2549]

พญามังราย เป็นลาวลูกผสมระหว่างลัวะกับลื้อ
บรรพชนฝ่ายพ่อเป็นลัวะ ในตระกูลภาษามอญ-เขมร เริ่มจากปู่เจ้าลาวจก อยู่ดอยตุง (เชียงราย) ต่อมาคือท้าวฮุ่งท้าวเจือง (พะเยา)
บรรพชนฝ่ายแม่เป็นลื้อ ชื่อนางเทพคำขยาย เมืองเชียงรุ่ง สิบสองพันนา (ยูนนาน ในจีน)

ลาว มีคำอธิบายของจิตร ภูมิศักด์ แปลว่าผู้เป็นนาย, ผู้เป็นใหญ่, กษัตริย์ แล้วมีนักวิชาการบางท่านสืบค้นพบว่า มัง เป็นภาษาลัวะ หมายถึงผู้เป็นใหญ่
ทางการที่เคยเรียกพ่อขุนเม็งราย ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยไม่ดันทุรังไปน้ำขุ่นๆ ว่าเรียกอย่างนี้ เขียนอย่างนี้จนเคยชินแล้ว
ขอให้เคารพหลักฐานประวัติศาสตร์ด้วย ดูแต่กองทัพไทยเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าวันยุทธหัตถีคือ 25 มกราคม แต่เมื่อนักวิชาการยืนยันว่าที่ถูกต้องคือ 18 มกราคม
กองทัพไทยยังน้อมรับแล้วประกาศเปลี่ยนแปลงเป็น 18 มกราคม ซึ่งควรยกย่องอย่างยิ่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image