ฮือฮา! มาลา ‘พระนเรศวร’ -3 นักประวัติศาสตร์ไม่เชื่อ ชี้เก่าไม่ถึง100 ปี สุจิตต์แนะ ถ้าจะโปรโมตท่องเที่ยว อย่าใช้เรื่องโกหก

จากกรณี เกิดกระแสฮือฮาเรื่องการพบพระมาลาสมเด็จพระนเรศวร โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นายมนตรี ปิยากูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่และตัวแทนหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวออกทำกิจกรรมเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชื่อม โยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน AEC พื้นที่แนวชายแดน ที่กิ่วผาวอก อ.เชียงดาว ตะเข็บชายแดนหลักแต่ง อ.เวียงแหง และตะเข็บชายแดนสันต้นดู่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตามโครงการ “ท่องดินแดน 3 ด่าน เมืองผ่านสู่เมียนมา” พบว่าที่วัดพระธาตุเวียงแหง (วัดกองมู) บ้านป่าไผ่ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง พบมีพระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จำนวน 1 ใบ จากที่มีทั้งหมดในภาคเหนือจำนวน 3 ใบ

นายบุญชัย บุญสุข อายุ 65 ปี กล่าวว่า ตนบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพื้นที่มาก่อน แล้วสึกออกมาสร้างครอบครัวอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ตนได้ศึกษาค้นคว้าและตามหาพระมาลามานานหลายสิบปีจนกระทั่งเจ้าหน้าที่หลาย ภาคส่วนร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน.ร่วมมือกันค้นหาพระมาลาของสมเด็จพระนเรศวร จนพบพระมาลาแล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุเวียงแหง หรือวัดกองมูแห่งนี้ในปัจจุบัน
นายบุญชัย กล่าวอีกว่า การค้นหาเริ่มต้นจากที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ พบที่วัดกองมูแห่งนี้มีสิ่งปลูกสร้าง และศิลปะที่เหมือนและคล้ายกับสมัยอยุธยา อายุของโบราณวัตถุพบอายุมากกว่า 400 ปี เมื่อเริ่มค้นหาก็พบว่าพระมาลาโบราณนั้นอยู่กับครอบครัวผู้ใหญ่สน หรือชาวบ้านเรียกพ่อหลวงสน ไม่ทราบนามสกุล ได้ถ่ายภาพพระมาลาไว้ จนกระทั่งพบพระมาลา ทางกรมศิลปากรได้นำมาตรวจสอบแล้วยืนยันว่าเป็นของจริงและของแท้ในอดีต พร้อมกันนั้นมหาวิทยาลัยแม่โจ้นำไปตรวจสอบลวดลายของพระมาลา พบว่ามียันต์แปดทิศ เป็นยัตน์นักรบอดีตโบราณ และพระมาลาของพระนเรศวรก็มียันต์แปดทิศด้วยเช่นกัน”
เมื่อพบพระมาลาและได้รับการยืนยันจากนักวิชาการแล้ว ได้นำพระมาลาไปประดิษฐานที่วัดเวียงแหง ในปี พ.ศ.2544 ต่อมา พ.ศ.2555 นำมาประดิษฐานที่วัดกองมู

ภาพจาก ข่าวสด
ภาพจาก ข่าวสด

หลังข่าวเผยแพร่ออกไป นายสุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ เจ้าของผลงาน “จากวังจันทร์สู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช” ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเคยเห็นมาลาดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2549 โดยชาวบ้านระบุว่าขุดพบ แต่ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นของใคร หากมีการระบุชัดเจนว่าเป็นมาลาพระนเรศวร ตนขอฟันธงว่ามั่ว
ข้อความมีดังนี้

เมื่อปี 49 ผมได้เจอของจริงในภาพ ตอนนั้นเก็บรักษาไว้ในวัด คนในพื้นที่บอกว่าขุดพบ แต่ก็ยากมากที่จะบอกว่าของใครพอมีกระแสตำนานสมเด็จพระนเรศวรคนในเวียงแหงโดยเฉพาะพระ ผู้นำชุมชนก็เริ่มบิวต์ บวกกับข้อเสนอเรื่องสวรรคตที่เวียงแหง ไม่ใช่เมืองหางของอาจารย์ที่ ม.ราชภัฎเชียงใหม่คนหนึ่ง งานนี้เลยไปไกลเลยครับ ถ้าเขียนว่า “พระมาลาพระนเรศวร” นี่ ผมฟันธงว่า “มั่ว” ครับ เขา “พบ” มาก่อนเป็นสิบปี ไม่ใช่เพิ่งพบ แล้วก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าของใครครับ

Advertisement

 

สุเจน กรรพฤทธิ์ (ภาพจาก se-ed book center)
สุเจน กรรพฤทธิ์ (ภาพจาก SE-ED book center)

นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า หมวกดังกล่าวเก่าไม่ถึง 100 ปี อีกทั้งเป็นหมวก “ไทใหญ่” เรียกว่า “กุ๊บละแอ” จึงต้องตั้งคำถามว่า พระนเรศวรซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 411 ปี และเป็นเทวราช จะทรงมาลาใบนี้ได้อย่างไร
ข้อความมีดังนี้

ยืนยันว่าไม่ใช่พระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามที่กล่าวอ้าง โดยอธิบายว่าได้เขียนบทความ “พระนเรศวรสวรรคตที่เวียงแหง?” ลงหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแจกแจงไว้แล้ว สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ หมวกใบนี้เก่าจริง อย่างมากก็ไม่เกิน 100 กว่าปี แต่ลองถามคนไทใหญ่หรือคนทางภาคเหนือก็ได้ว่าหมวกลักษณะนี้เป็นของกลุ่มใด เขาทราบกันทั้งนั้นว่าเป็นหมวกไทใหญ่ เรียกว่า ‘กุ๊บละแอ’ คำถามคือแล้วพระนเรศวรจะทรงพระมาลาแบบไทใหญ่หรือ? มีหลักฐานอะไรยืนยัน? พระนเรศวรสิ้นไปแล้ว 411 ปี พระมาลาที่ทำด้วยไม้ไผ่เคลือบรักจะอยู่มาถึงป่านนี้ได้อย่างไร? ความจริงหมวกลักษณะนี้เคยเป็นเครื่องยศของเจ้าเมืองระดับรองๆ ของล้านนา เช่น เจ้าเมืองสองสมัยราวรัชกาลที่ 5 (ดูประวัติศาสตร์เมืองสอง ของ ภูเดช แสนสา ซึ่งมีทั้งภาพและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้) แล้วกษัตริย์ที่เป็นเทวราชอย่างพระนเรศวรจะทรงพระมาลาระดับนี้ได้อย่างไร?

Advertisement
สมฤทธิ์ ลือชัย
สมฤทธิ์ ลือชัย

ผู้สื่อข่าว “มติชนออนไลน์” ได้สอบถามไปยัง นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์
นายสุจิตต์กล่าวว่า หมวกใบนี้เคยเป็นข่าวมาแล้วเมื่อราว 10 ปีก่อน ส่วนตัวมองว่าเป็นไปไม่ได้ว่าจะเป็นพระมาลาของพระนเรศวร เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน ถ้าจะโปรโมตการท่องเที่ยว ควรใช้วิธีอื่น ไม่ใช่โกหก

“ไม่เชื่ออยู่แล้ว เพราะไม่มีหลักฐานอะไรเลย ถ้าจะปลุกกระแสหรือโปรโมตการท่องเที่ยวไม่ควรโกหก สร้างหลักฐาน แต่ควรใช้วิธีอื่น” นายสุจิตต์กล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นที่มีกล่าวอ้างถึงการยืนยันโดยกรมศิลปากร เฟซบุ๊กแฟนเพจด้านประวัติศาสตร์บางแห่งวิเคราะห์ว่า อาจเป็นการยืนยันว่า เป็น “ของเก่า” จริง แต่ไม่เชื่อว่ากรมศิลปากรจะยืนยันว่าเป็นของพระนเรศวร ไม่เช่นนั้น คงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะเป็นโบราณวัตถุสำคัญ อีกทั้งต้องมีการแถลงข่าวครั้งใหญ่ระดับประเทศอย่างแน่นอน

สุจิตต์ วงษ์เทศ
สุจิตต์ วงษ์เทศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image