วธ.ประกาศรายชื่อวรรณกรรมตามแนวคิดศาสตร์พระราชา จัดพิมพ์ ‘วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9’

 

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมจัดแถลงข่าวประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา และการเปิดตัวหนังสือ ‘วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา’

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กรมศิลปากรคัดเลือกผลงานสุดยอดวรรณกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา กรมศิลปากรจึงมอบหมายสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกโดยได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ นักประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพิจารณากลั่นกรองวรรณกรรม 5 ประเภท ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ สารคดี และวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ประเภทละ 70 เรื่อง แบ่งเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยม 5 ประเภท ประเภทละ 9 เรื่อง และวรรณกรรมดีเด่น 5 ประเภท ประเภทละ 61 เรื่อง พร้อมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ ‘วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา’ เพื่อประกาศยกย่องและเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนกรรม กล่าวว่า ด้วยความตระหนักในความสำคัญของแนวพระราชดำริและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงวัฒนธรรมจึงดำเนินการดังกล่าวเพื่อตอบสนองการนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศ 11 ด้านโดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ตลอดรัชสมัยมาประพฤติปฏิบัติ สำหรับวรรณกรรมที่ได้รับการประกาศชื่อ ส่วนใหญ่เป็นที่รู้จัก บางเรื่องได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และจัดพิมพ์ซ้ำ

Advertisement

ศาสตราจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา สำนักศิลปกรรม ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรม ประเภทนวนิยาย กล่าวว่า คณะกรรมการทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและหารือกันจนได้ความคิดที่ลงตัว สำหรับหนังสือจำนวน 70 เล่มในวรรณกรรมแต่ละประเภทนั้น เป็นไปตามระยะเวลาในการครองราชสมบัติของในหลวงรัขกาลที่ 9 ส่วนการรวบรวมรายชื่อหนังสือ เริ่มต้นจากการนำชื่อวรรณกรรมที่เคยได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ แล้วจึงเพิ่มเติมด้วยหนังสือที่ไม่เคยถูกส่งเข้าประกวดหรือได้รับรางวัลเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน สำหรับกวีนิพนธ์ พิจารณาทั้งวรรณกรรมที่แต่งตามฉันทลักษณ์แบบเก่าและแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘กลอนเปล่า’ ด้วย

ศาสตราจารย์รื่นฤทัย กล่าวว่า ในส่วนของเนื้อหา พิจารณาวรรณกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม เข้าใจรากเหง้า ประวัติศาสตร์ การพึ่งตนเอง อยู่อย่างพอเพียง รักษาครอบครัวให้เข้มแข็ง ไม่สยบต่อความเลวร้าย การต่อสู้ที่ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และศรัทธาในความดี

นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรม ประเภทสารคดี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมสัมพันธ์กับสังคมไปพร้อมๆกัน เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่าวรรณกรรมเล่มใดมีความโดดเด่น หนังสือเล่มไหนนำสังคมซึ่งให้ความรู้สึกที่ดีมาก

Advertisement

ทั้งนี้ วรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย ได้แก่ 1. เขาชื่อกานต์ โดย สุวรรณี สุคนธา 2. ทุ่งมหาราช โดย มาลัย ชูพินิจ 3. บางกะโพ้ง โดย วินทร์ เลียววารินทร์ 4. บุษบกใบไม้ โดย กฤษณา อโศกสิน 5. ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด โดย โบตั๋น 6. ผู้ใหญ่ลี กับนางมา โดย กาญจนา นาคนันทน์ 7. แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ โดย ศรีฟ้า ลดาวัลย์ 8. ไผ่แดง โดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช 9. ลูกอีสาน โดย คำพูน บุญทวี

จากนั้น นายอิทธิพล ประกาศรายชื่อวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทเรื่องสั้น ได้แก่ 1. ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง โดย อัศศิริ ธรรมโชติ 2. แจ่มรัศมีจันทร์และรวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ 3. แผ่นดินอื่น โดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 4. ฟ้าบ่กั้น โดย ลาว คำหอม 5. รวมเรื่องสั้นคึกฤทธิ์ ปราโมช โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 6. รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิตของศรีบูรพา โดย ศรีบูรพา 7. เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ 8.สวนสัตว์ โดย สุวรรณี สุคนธา 9. สิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่าคน โดย วินทร์ เลียววาริณ

สำหรับวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทกวีนิพนธ์ ได้แก่ 1. ขอบฟ้าขลิบทอง โดย อุชเชนี 2. บทกวีของฉัน โดยจ่าง แซ่ตั้ง 3. ปณิธานกวี โดย อังคาร กัลยาพงศ์ 4. พุทธทาสธรรมคำกลอน เส้นทางสู่ความสุขเย็น โดย พุทธทาสภิกขุ 5. เพียงความเคลื่อนไหว โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 6. ม้าก้านกล้วย โดย ไพวรินทร์ ขาวงาม 7. รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมือง โดย กวีการเมือง 8. เราชนะแล้ว,แม่จ๋า โดย นายผี 9. ศึกษาภาษิตและร้อยกรอง โดย ฐะปะนีย์ นาครทรรพ

จากนั้น นายอิทธิพล ประกาศรายชื่อวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทสารคดี ได่แก่ 1. กาเลหม่านไต โดย บรรจบ พันธุเมธา 2. ขบวนการแก้จน โดย ประยูร จรรยาวงษ์ 3. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม โดย จิตร ภูมิศักดิ์ 4. คู่มือมนุษย์ โดย พุทธทาสภิกขุ 5. ชีวิตที่เลือกไม่ได้ : อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่ง โดย กรุณา กุศลาสัย 6. น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย โดย สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา 7. พุทธธรรม โดย พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) 8. เพลงนอกศตวรรษ โดย เอนก นาวิกมูล 9. ฟื้นความหลัง โดย เสฐียรโกเศศ

ส่วนประเภทสุดท้าย คือวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งวรรณกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ 1. เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก โดย ลินดา โกมลารชุน 2. ขวัญสงฆ์ โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง 3. ต้นเอ๋ย ต้นไม้ โดย จารุพงษ์ จันทรเพชร 4. บึงหญ้าป่าใหญ่ โดย เทพศิริ สุขโสภา 5. ผีเสื้อและดอกไม้ โดย นิพพานฯ 6. ภาพประวัติศาสตร์ (กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) โดย เปลื้อง ณ นคร (แต่ง) และ เหม เวชกร (ภาพประกอบ) 7. เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (เล่ม 1-4) โดย ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (แต่ง) และ ปีนัง 8. แม่โพสพ โดย หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย (แต่ง) และ อุดมลักษณ์ ทรงสุวรรณ (ภาพประกอบ) 9. เรือใบใจกล้า ในหนังสือชุดสำหรับเยาวชน : หนังสือสื่อประสมเฉลิมพระเกียรติ โดย วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ และคณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image