สุจิตต์ วงษ์เทศ : พญามังรายถูกฟ้าผ่า กลางเมืองเชียงใหม่

บริเวณที่เชื่อว่าฟ้าผ่ากลางเวียงเชียงใหม่ มีศาลตั้งอยู่ (ซ้าย) ศาลพญามังราย (ศาลเก่า) ตั้งอยู่ในที่ดินเอกชนกลางเวียงเชียงใหม่ เปิดจันทร์ถึงศุกร์ ปิดเสาร์-อาทิตย์ (ขวา) ศาลพญามังราย (ศาลใหม่) บริเวณสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ เพราะศาลเก่าอยู่ในที่เอกชน ไม่สะดวกต่อการสักการะ (ภาพจาก “เชียงรายพันธุ์แท้” ใน http://www.chiangraifocus.com)

พญามังราย มีอำนาจเป็นใหญ่เหนือดินแดนโยนก บริเวณที่ราบลุ่มน้ำกก (เชียงราย) –อิง (พะเยา)
โยนก บางทีเรียก ยวน หรือโยนก็ได้ จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าน่าจะมาจากภาษาพม่าว่า ยูน แปลว่า ข้าทาส (เมื่อพม่าปกครองล้านนา แล้วเรียกคนพื้นเมืองเป็นข้าทาส ทำนองเดียวกับไทยปกครองลุ่มน้ำมูล แล้วเรียกคนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งว่า ส่วย หมายถึงข้าทาส มีหน้าที่ส่งส่วยให้เจ้านายกรุงเทพฯ)
บริเวณโยนก มีคนอยู่ปะปนกันหลายชาติพันธุ์ เช่น ตระกูลม้ง-เมี่ยน, ทิเบต-พม่า, มอญ-เขมร, ไทย-ลาว แต่ใช้ภาษาไทย (ลาว) เป็นภาษากลางทางการค้าและทางเผยแผ่ศาสนาพุทธเถรวาท

ราวเรือน พ.ศ. 1700 พญามังราย เป็นผู้นำยิ่งใหญ่ พร้อมเครือข่ายที่เป็นเครือญาติ ชาติพันธุ์ เช่น พญางำเมือง แห่งรัฐพะเยา กับพญาร่วง แห่งรัฐสุโขทัย ฯลฯ ยึดได้ดินแดนหริภุญชัย (ของพวกเมง ตระกูลมอญ-เขมร) บริเวณที่ราบลุ่มปิง (ลำพูน) –วัง (ลำปาง) แล้วสถาปนาเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839

พญามังรายถูกฟ้าผ่ากลางเมือง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (จากต้นฉบับใบลาน อักษรไทยวน) จดว่า พญามังราย เมื่ออายุ 80 ปี “ต๋ายฟ้าผ่า ที่กาด (ตลาด) เชียงใหม่ กลางเวียง”
เหตุการณ์สำคัญคราวนี้ มีในพงศาวดารโยนก จดไว้ว่า พ.ศ. 1860 พญามังราย มีพระชนมายุได้ 80 ปี อยู่มาวันหนึ่ง เสด็จไปประพาสตลาดกลางเมือง อสนีบาตตกต้องพญามังรายทิวงคตในท่ามกลางเมืองนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image